xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ศึกษาเปิดงบ 2 หมื่นล้านรุกนโยบายแก้ปัญหาการศึกษาชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมกับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กว่า 1,000 คน เพื่อเปิดตัวและมอบนโยบายการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

วันนี้ (9 พ.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้บริหารกระทรวง ร่วมประชุมกับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กว่า 1,000 คน เพื่อเปิดตัวและมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และออกอากาศผ่านสถานีวิทยุทุกแห่งในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเดินทางร่วมประชุมในวันนี้ เพื่อชี้แจงและมอบนโยบาย การทำงานแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแผนงานของกระทรวงศึกษาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และจะนับเริ่มปฏิบัติงานในวันนี้ตามช่วงปีงบประมาณ 2553

แผนงานดังกล่าวจะเป็นการรวมศูนย์หน่วยงานของกระทรวงศึกษาทั้งหมด ที่ทำงานเกี่ยวข้องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษฯ รวมเป็นองค์กรเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ ขณะเดียวกัน ก็จะสะดวกในการติดต่อประสานงานจากส่วนกลาง เพราะตนในฐานะ รมว.ศึกษาฯ จะประสานติดตามการทำงาน

ทั้งนี้ ตรงกับผู้รับผิดชอบในพื้นที่เพื่อสามารถรับทราบ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดจากพื้นที่โดยตรง ซึ่งในวันนี้ได้เปิดตัวผู้บริหารอย่างเป็นทางการ คือ คณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี นายนิวัฒน์ นาคะเวช รองปลัด ก.ศึกษาฯ เป็นประธาน มีนายกมล รอดคล้าย ผู้ตรวจราชการก.ศึกษาเป็นรองประธาน ซึ่งจะนั่งอยู่ประจำในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานในพื้นที่โดยตรงทั้งการบริหารบุคลากร งบประมาณ และวิชาการ ตามนโยบายฯ ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะเวลา 3 ปี (2553-2555) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ครม.จำนวน กว่า 2 หมื่นล้านบาท

ในการดำเนินกิจกรรมโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เช่น มีการวางเป้าว่า ในปีงบ 53 นี้ คะแนนสอบโอเน็ตเอเน็ตของนักเรียนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2%, วางเป้าหมายในปีหน้าให้นักเรียนในระดับประถม 3 ในพื้นที่จะต้องอ่านและเขียนภาษาไทยได้เพิ่มขึ้น 30% จากฐานปีปัจจุบัน, จัดหาครูมาสอนในวิชาที่ตรงกับวุฒิให้ได้อย่างน้อย 500 อัตรา, เป้าหมายระยะยาว 3 ปี กำหนดให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ต้องเรียนจนการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย 70%

กำลังโหลดความคิดเห็น