xs
xsm
sm
md
lg

25 ศูนย์การแพทย์ชั้นนำในยุโรปและอเมริกา ร่วมพิสูจน์ ตายแล้วฟื้น จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม แต่เรื่องเกี่ยวกับความตายที่คนทุกชาติศาสนา พยายามค้นหาคำตอบมาทุกยุคทุกสมัยก็คือ ตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร รวมทั้งเรื่องตายแล้วฟื้นเป็นจริงหรือไม่

• งานวิจัยประสบการณ์เฉียดตาย ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก

ล่าสุด ได้มีการแถลงเปิดตัวการวิจัยเรื่อง “การตระหนักรู้ในระหว่างฟื้นคืนชีพ” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก ในการประชุมสัมมนานานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่ องค์การสหประชาชาติ (U.N.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2008

ดร.แซม พาร์เนีย แพทย์ประจำห้องไอ ซี ยู แห่งศูนย์การแพทย์วีลล์ คอร์เนลล์ ในนครนิวยอร์ก ผู้เชี่ยว ชาญชั้นนำระดับโลกที่ศึกษาภาวะจิตมนุษย์และการมีสติในห้วงเวลาแห่งความตาย รู้สึกว่า จากประสบการณ์ทำงานในแต่ละวัน หลักการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ถูกนำมาใช้วิเคราะห์ประเด็นประสบการณ์เฉียดตาย หรือตายแล้วฟื้น อย่างเหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้ร่วมกับดร.ปีเตอร์ เฟนวิค, ศาสตราจารย์สตีเฟน โฮลเกต และโรเบิร์ต เพเวเลอร์ จากโครงการวิจัยการมีสติรู้ตัวของมนุษย์ มหาวิทยาลัยเซาท์แธมตัน ทำโครงการวิจัยที่มีชื่อว่า “AWARE” ย่อมาจาก AWAreness during REsuscitation หรือ “การตระหนักรู้ในระหว่างฟื้นคืนชีพ” ซึ่งเป็นการวิจัยครั้ง สำคัญครั้งแรก ที่มีการศึกษาด้านชีววิทยาของประสบการณ์ “วิญญาณออกจากร่าง” โดยจะใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี

ดร.พาร์เนียเล่าว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีโครงการนำร่องที่ศึกษาในโรงพยาบาลหลายแห่งในอังกฤษที่ถูกคัดเลือกเข้าร่วมการวิจัยเป็นเวลา 18 เดือน และได้รับความสำเร็จ จึงเริ่มขยายผล โดยการวิจัยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากศูนย์การแพทย์ชั้นนำ 25 แห่ง ทั้งในยุโรป แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเรื่องสมองของมนุษย์ การมีสติรู้ตัว และการตายตามความหมายแพทย์ โดยจะศึกษาผู้รอดชีวิตราว 1,500 คนจากอาการหัวใจวาย

• เกิดอะไรขึ้น เมื่อเราตายลง


“มันตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วๆไป” ดร.พาร์เนีย อธิบาย “ความตายไม่ใช่เรื่องชั่วขณะ มันเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อหัวใจหยุดเต้น ปอดหยุดทำงาน และสมองหยุดสั่งการ ภาวะเช่นนี้ ทางแพทย์เรียกว่า หัวใจวาย ซึ่งถ้ามองในแง่ชีววิทยา ก็มีความหมายตรงกับการตายในทางการแพทย์”

“เมื่อหัวใจวาย อาการทั้ง 3 อย่างจะปรากฏขึ้น และเมื่อคนไข้ได้รับการช่วยเหลือปั๊มห้วใจให้กลับมาเต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลานั้นอาจกินเวลาไม่กี่วินาทีหรืออาจถึงชั่วโมงหรือมากกว่า ประสบการณ์ที่คนไข้ได้พบเจอในขณะหัวใจวาย ทำให้เราเข้าใจภาพที่เด่นชัดของสภาวะเฉียดตายได้มากขึ้น”

โดยมีรายงานการวิจัยหลายฉบับ ซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิจัยอิสระระบุว่า ราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ของคนที่หัวใจวายและถือว่าเสียชีวิตแล้วในทางการแพทย์ แต่ถูกช่วยให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ บอกว่าพวกเขาเห็นแสงสว่างจ้าสีขาวที่ปลายอุโมงค์ คิดได้ตามขั้นตอน มีเหตุผล ความจำ และบางครั้งสามารถบอกรายละเอียดเหตุการณ์ที่พวกเขาเผชิญในภาวะเฉียดตายได้ด้วย

• ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์


ดังนั้น เพื่อเป็นการทดสอบในเรื่องนี้ นักวิจัยได้จัดทำชั้นวางของพิเศษขึ้นในบริเวณที่คนไข้ฟื้นคืนชีพ โดยวางรูปภาพต่างๆบนชั้น ซึ่งจะต้องมองลงมาจากเพดานห้องเท่านั้นถึงจะเห็นรูปภาพ

ดร.พาร์เนีย ผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า “ถ้าคุณสามารถสาธิตให้เห็นว่า การมีสติรู้ตัวยังคงดำเนินต่อไปหลังจากสมองหยุดสั่งการ แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่การมีสติรู้ตัวเป็นคนละส่วนกับสมอง

เราจะไม่ค่อยพบกรณีดังกล่าว แต่เราก็ต้องเปิดใจยอมรับความเป็นไปได้ และถ้าไม่มีคนไข้รายใดรายงานว่าเห็นรูปภาพบนชั้น นั่นแสดงว่า ประสบการณ์วิญญาณออกจากร่างเป็นเพียงภาพลวงตาหรือความทรงจำผิดๆ และนี่ก็คือปริศนาที่ตอนนี้เราสามารถใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้”

• ศึกษาสมองและการรู้สึกตัว เพื่อหาคำตอบ

ทั้งนี้ ในการวิจัย AWARE แพทย์จะใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยศึกษาสมองและการรู้สึกตัวของคนไข้ที่อยู่ในอาการหัวใจวาย และขณะเดียวกันก็จะทดสอบความถูกต้องของประสบการณ์ “วิญญาณออกจากร่าง” และข้ออ้าง ที่ว่าสามารถ“เห็น” และ “ได้ยิน” ในช่วงเวลานั้นด้วย

โดยทีมนักวิจัยต้องการค้นหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับสมอง เมื่อร่างกายเริ่มหยุดทำงาน และเป็นไปได้แค่ไหนที่คนจะเห็นและได้ยินในภาวะใกล้ตาย และเกิดอะไรขึ้น ในช่วงที่วิญญาณออกจากร่าง

การศึกษา AWARE จะใช้วิธีการของ BRAIN-1( Brain Resuscitation Advancement International Network -1) ร่วมด้วย โดยทีมนักวิจัยจะให้คนไข้ที่มีอาการหัวใจวาย ทำชุดแบบทดสอบทางจิตวิทยาหลายๆชุด ขณะเดียวกัน ก็เฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของสมองไปด้วย เพื่อค้นหาวิธีการในการปรับปรุงการรักษาคนไข้ทั้งด้านยาและจิตใจ

Time Magazine นิตยสารชื่อดังของอเมริกา ได้สัมภาษณ์ ดร.แซม พาร์เนีย เกี่ยวกับที่มาของโครงการวิจัยนี้ ข้อสงสัย และความแตกต่างระหว่างจิตและสมอง ดังนี้

• โครงการจะใช้วิธีการอะไรพิสูจน์คำกล่าวอ้างของคนที่มีประสบการณ์เฉียดตาย หรือตายแล้วฟื้น ว่าเป็นจริง

เมื่อหัวใจของคุณหยุดเต้น ไม่มีเลือดเข้าไปเลี้ยงสมอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในราว 10 วินาที สมองจะหยุดสั่งการ คุณพอจะนึกภาพ ออกนะ แต่สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ ราว 10% หรือ 20% ของคนที่ถูกช่วยให้ฟื้นจากห้วงเวลานั้น ซึ่งอาจจะกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือมากกว่าชั่วโมง มักบอกว่า พวกเขารู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น สิ่งสำคัญก็คือ มันเป็นความจริง หรือว่าเป็นเพียงภาพมายา และหนทางเดียวที่จะบอกได้ก็คือ ต้องมอง มาจากเพดานห้องที่เดียว จะเป็นที่อื่นไปไม่ได้ เนื่องจากพวกเขาอ้างว่า มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างจากบนเพดานห้อง ดังนั้น ถ้าเราดูจากกลุ่มคน 200-300 คน ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ฟื้นคืนชีพในเวลาต่อมา และสามารถบอกได้ว่า เห็นพวกเรากำลังทำอะไรได้อย่างถูกต้อง นั่นแสดงว่า พวกเขายังมีสติรู้ตัว แม้ว่าสมองจะหยุด ทำงานแล้วก็ตาม

• โครงการนี้สอดคล้องกับนิยามความตายของสังคมอย่างไร

โดยทั่วไป คนมักเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องชั่วครู่ กล่าวคือ คุณไม่ตายก็ยังมีชีวิต ถือเป็นนิยามของสังคม แต่ในทางการแพทย์ เมื่อหัวใจหยุดเต้น ปอดหยุดทำงาน สิ่งที่ตามมาคือ สมองหยุดทำงาน เมื่อแพทย์ส่องไฟฉายที่รูม่านตาของคนไข้ เพื่อตรวจดูว่ามีปฏิกิริยาโต้ตอบหรือไม่ เนื่องจากมันถูกควบคุมโดยก้านสมอง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เรามีชีวิต ถ้าไม่มีการตอบสนอง แสดงว่า สมองไม่ทำงาน ณ ตรงนั้น ผมจะรับรองว่า คนไข้เสียชีวิตแล้ว ถ้าเป็นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนไข้จะไม่รอดหลังจากนั้น

• เทคโนโลยีอันทันสมัยท้าทายแนวคิดที่ว่า ความตายเป็นเรื่องชั่วครู่ ได้อย่างไร

ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยให้คนไข้ ฟื้นกลับมาใหม่ได้ จริงๆ แล้ว ขณะนี้มีการพัฒนายาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ ซึ่งถ้าทำได้ มันอาจช่วยชะลอขบวนการที่เซลล์สมองเสื่อมสลาย และตายได้ ลองนึกดู ถ้าใน 10 ปีข้างหน้า คุณให้คนไข้ ที่หัวใจเพิ่งหยุดเต้น รับยามหัศจรรย์นี้เข้าไปในร่างกาย ซึ่งมันจะไปทำให้ทุกอย่างช้าลง ขบวนการที่เคยเกิดหลังจากหัวใจหยุดเต้นเกิน 1 ชม. ตอนนี้ก็จะกลายเป็นเกิน 2 วัน แต่ขณะที่การแพทย์เจริญก้าวหน้า ท้ายที่สุด ก็จะมีคำถามทางศีลธรรมจำนวนมากตามมา ซึ่งเราต้องคำนึงด้วย

ว่าแต่อะไรจะเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งในห้วงเวลานั้น สงสัยใช่มั้ยว่าจะเป็นยังไง? เมื่อโลหิตหยุดไหลเวียนเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย ก็พยายามหาทางรอด และภายในราวๆ 5 นาที มันก็จะเริ่มเสื่อมสลาย อีก 1 ชม.ต่อมาเซลล์จะหมดสภาพ แม้ว่าจะพยายามปั๊มหัวใจและโลหิต คนคนนั้นก็ไม่สามารถมีชีวิตต่อไปได้ เนื่องจากเซลล์ต่างๆในร่างกายเสื่อมสลายลงมาก และยังสลายลงเรื่อยๆ จนภายใน 2 วัน ร่างกายก็เริ่มเน่าเปื่อย

ดังนั้น มันไม่ใช่เพียงชั่วครู่ แต่มันเป็นขบวนการที่เริ่มต้นจริงๆ เมื่อหัวใจหยุดเต้น ดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่เซลล์ทุกส่วนเน่าเปื่อยจนไม่เหลือร่าง

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด สิ่งที่เราอยากรู้ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นกับจิตของคนคนนั้น? อะไรจะเกิดขึ้นกับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ในห้วงเวลาแห่งความตาย? มันจะหยุดทันทีเมื่อหัวใจหยุดเต้นหรือไม่? มันจะหยุดภายใน 2 วินาทีแรก หรือ 2 นาทีแรก? เป็นเพราะเรารู้ว่า เซลล์จะเสื่อมสลายลงเรื่อยๆ ดังนั้น ความรู้สึกนึกคิดจะหยุดหลังจาก 10 นาทีให้หลัง 30 นาที หรือ 1 ชม.ต่อมา หรือเปล่า? ณ จุดนั้น เราไม่ทราบจริงๆ

• ครั้งแรกที่ได้คุยกับคนที่มีประสบการณ์ ‘วิญญาณออกจากร่าง’ คุณรู้สึกอย่างไร


รู้สึกทึ่ง เพราะสิ่งที่คุณเห็นก็คือ พวกเขาเป็นเพียงปุถุชนธรรมดาที่ไม่ต้องการชื่อเสียงหรืออยากดัง มีหลายคนที่ไม่เคยเล่าเรื่องดังกล่าวให้ใครฟัง เพราะเกรงว่าจะถูกมองไปในทางไม่ดี ผมเริ่มศึกษาด้านนี้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ได้สัมภาษณ์คนที่มีประสบการณ์ ‘วิญญาณออกจากร่าง’ ราว 500 คน สิ่งที่พวกเขาบรรยาย ช่างมีความสอดคล้อง คงเส้นคงวา ผมมีโอกาสได้คุยกับบรรดาแพทย์และพยาบาลที่อยู่กับคนไข้ในช่วงเวลานั้น ทุกคนพากันบอกว่า คนไข้เหล่านี้ได้เล่าเรื่องตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น ซึ่งก็อธิบายไม่ได้ว่า คนไข้รู้ได้อย่างไร

ผมยังเคยนำเรื่องของคนไข้บางคน เขียนลงในงานเขียนหนังสือของผมที่ชื่อ “What Happens When We Die” เพราะต้องการให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองทั้ง 2 ด้าน ไม่ ใช่จากคนไข้ด้านเดียว แต่มีมุมมองของแพทย์ด้วย เพื่อจะได้รู้ว่า แพทย์รู้สึกเช่นไร เมื่อคนไข้ฟื้นขึ้นมาและเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ถูกต้อง

มีแพทย์ทางด้านหัวใจและหลอดเลือดคนหนึ่งที่ผมคุยด้วยบอกว่า ไม่เคยเล่าเรื่องดังกล่าวให้ใครฟัง เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่า คนไข้บอกรายละเอียดถึงสิ่งที่เขาพูดและทำได้อย่างไร จนเขารู้สึกหวาดกลัว กระทั่งไม่อยากคิดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป

• ทำไมคิดว่ามีคนต่อต้านการวิจัยเรื่องทำนองนี้

เป็นเพราะเรากำลังออกนอกกรอบทางวิทยาศาสตร์ และขัดแย้งกับสมมติฐานและแนวคิดที่ถูกกำหนดไว้ มีคนจำนวนมากที่ยึดติดความเชื่อที่ว่า เมื่อตายแล้ว ก็คือตาย จบเพียงแค่นั้น ความตายเป็นเรื่องชั่วขณะ ถ้าไม่ตาย ก็ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งเหล่านี้ ถือว่าไร้เหตุผลตามหลักทางวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นแนวคิดของสังคม

ถ้าคุณมองย้อนกลับไปในปลายศตวรรษที่ 19 บรรดานักฟิสิกส์ในเวลานั้น ต่างใช้กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ตอบคำถามทุกเรื่องในจักรวาล กฎฟิสิกส์ของนิวตันสามารถอธิบายได้เกือบจะทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องและอยู่รอบๆตัวเรา แต่เมื่อมีการค้นพบว่า ถ้าเรามองดูการเคลื่อนที่ในระดับที่เล็กมาก เล็กกว่าระดับอะตอมแล้วละก็ กฎของนิวตันใช้ไม่ได้ จึงเป็นที่มาของฟิสิกส์แขนงใหม่ที่เรียกว่า กลศาสตร์ควอนตัม ทำให้เกิดการถกเถียงกันมากในเรื่องนี้

ลองมาดูด้านจิต การมีสติ และสมองของมนุษย์กันบ้าง สมมติฐานที่ว่า จิตและสมองเป็นเรื่องเดียวกันนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องเกือบทุกกรณี เพราะราว 99% ของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถแยกจิตและสมองออกจากกันได้ เพราะมันทำงานไปพร้อมๆกัน แต่ก็มีหลายกรณีตัวอย่างที่ไม่ธรรมดา เช่น เมื่อสมองหยุดทำงาน เราจะเห็นได้ว่า สมมติฐานข้างต้น ดูจะไม่เป็นจริงเสมอไป ดังนั้น เราจำเป็นต้องค้นหาวิทยาศาสตร์แขนงใหม่เพื่อสนอง ตอบเฉกเช่นเดียวกับการเกิดกลศาสตร์ควอนตัมนั่นเอง

ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้ของเราซึ่งนับเป็นครั้งแรก เรามีเทคโนโลยีและวิธีการมากมายที่จะช่วยตรวจสอบหาความจริงในเรื่องประสบการณ์ “วิญญาณออกจากร่าง” เพื่อดูว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อเราตายลง มีบางอย่างยังคงดำเนินต่อไปหรือเปล่า นั่นเป็นเรื่องที่น่าค้นหา มิใช่หรือ

ดาราดัง กับประสบการณ์ตายแล้วฟื้น

เอลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์
ดาวค้างฟ้าแห่งโลกมายาฮอลลีวู้ด วัย 78 ปี ได้เคยพูดถึงประสบการณ์ตายแล้วฟื้นของเธอในรายการ Larry King Live ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา โดยลิซเล่าว่า

ขณะนั้นได้เข้ารับการผ่าตัดและอยู่ในภาวะตายแล้วในทางการแพทย์เป็นเวลา 5 นาที เธอได้เดินไปตามอุโมงค์ ที่มีแสงสีขาวสว่างจ้าอยู่ข้างหน้า และได้พบวิญญาณของอดีตสามีซึ่งเธอรักมาก ‘ไมเคิล ทอดด์’ ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี 1958

ดาราดังเล่าต่อไปว่า เธอต้องการที่จะอยู่กับเขา แต่ไมเคิลบอกว่า เธอยังมีงานและชีวิตที่ดีรออยู่ข้างหน้า และเขาก็ผลักเธอเข้าร่าง ทีมแพทย์ทั้ง 11 คน ซึ่งมีทั้งหมอและพยาบาล ฯลฯ ได้ช่วยกู้ชีพให้เธอฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง พวกเขาต่างเป็นพยานในเรื่องนี้

“จริงๆแล้ว ฉันไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้เลย เพราะเป็นเรื่องเดิมๆ เรื่องนี้เกิดเมื่อปลายยุคปี 50 และฉันได้เจอไมค์ด้วย ตอนนั้นมีคนอยู่ในห้อง 11 คน ฉันตายไปราว 5 นาที พวกทีมแพทย์ระบุว่าฉันเสียชีวิตแล้ว และแขวนป้าย “เสียชีวิต” ไว้บนผนังห้อง ฉันเล่าเรื่องนี้ให้คนที่อยู่ห้องข้างๆและกลุ่มเพื่อนๆฟัง และแล้วฉันก็คิดได้ว่า มันดูเป็นเรื่องประหลาด ฉันไม่ควรเล่าให้ใครฟังอีก

นานแล้วที่ฉันไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ และทุกครั้งที่ต้องพูด จะรู้สึกลำบากใจ แต่ฉันก็เล่าประสบการณ์นี้ให้คนที่ติดเชื้อเอดส์ฟัง ฉันไม่ได้กลัวตายหรอก เพราะฉันเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว”

โดยคำให้สัมภาษณ์ของลิซในแมกกาซีน America’s AIDS เธอได้บรรยายถึงประสบการณ์เฉียดตายว่า “ฉันเดินไปตามอุโมงค์ เห็นแสงสีขาวและไมค์ ฉันพูดขึ้นว่า โอ..ไมค์ ฉันอยากไปอยู่กับคุณด้วย และเขาก็พูดว่า ... ไม่ได้ที่รัก คุณต้องหันหลังกลับไปที่เดิม เพราะมีเรื่องสำคัญมากรอคุณอยู่ คุณต้องสู้นะ อย่ายอมแพ้ ...ด้วยพลังความเข็มแข็งและความรักของไมค์ที่มีต่อฉัน ทำให้ฉันฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง”

“พวกทีมแพทย์ระบุว่า ฉันเสียชีวิตแล้ว”

เจน ซีมัวร์ วัย 59 ปี ดาราหญิงฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์คลาสสิคเรื่อง ‘Somewhere in Time’ ซึ่งแสดงคู่กับคริสโตเฟอร์ รีฟส์ (อดีตพระเอกซูเปอร์แมนผู้ล่วงลับ) ได้เล่าถึงประสบการณ์ตายแล้วฟื้นว่า

ตอนอายุ 36 ปี เธอป่วยหนัก เป็นไข้หวัดใหญ่ และหมอได้ฉีดยาเพนนิซิลินให้ 1 เข็ม เธอมีอาการแพ้ยา ซึ่งนำไปสู่ภาวะเฉียดตาย

“ฉันได้ออกจากร่างมาจริงๆ และรู้สึกว่าเห็นตัวเองนอนอยู่บนเตียง โดยมีกลุ่มคนรายล้อมอยู่รอบๆ ฉันจำได้ว่า พวกเขากำลังพยายามทำให้ฉันฟื้นคืนชีพ ขณะนั้นตัวฉันลอยอยู่ตรงมุมห้อง และมองลงมา ฉันเห็นพวกเขาแทงเข็มเข้าไปในร่างกายของฉัน พยายามกดตัวฉันลง ทำโน่นนี่

ฉันจำได้ว่าเห็นภาพเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตผุดเข้ามา เป็นระยะๆ แต่ไม่ใช่ตอนได้รับรางวัลเอ็มมี่หรืออะไรทำนองนั้น สิ่งที่ฉันกลัวมากที่สุดในตอนนั้นก็คือ ฉันยังไม่อยากตาย เพราะเป็นห่วงลูกๆ ไม่ต้องการให้คนอื่นมาเลี้ยงดูพวกเขาแทนตัวฉัน


ในขณะที่ตัวยังลอยอยู่ ฉันคิดว่า “ไม่ ฉันยังไม่อยากตาย ฉันยังไม่พร้อมที่จะทิ้งลูกๆไป” ฉันจึงพูดกับพระผู้เป็นเจ้าว่า “ถ้าพระองค์อยู่ตรงนี้ พระเจ้า..ถ้าพระองค์มีตัวตนจริง และฉันรอดตาย ฉันสัญญาว่าจะเชื่อมั่นในพระองค์”

และแม้ว่าฉันจะเชื่อว่าตัวเองได้ตายไปราว 30 วินาทีก็ตาม แต่ฉันก็ยังจำได้ว่า ได้ร้องให้หมอช่วยชีวิต เพราะฉันตั้งใจแน่วแน่ว่า จะต้องมีชีวิตอยู่”

ที่สุดดาราสาวก็ได้กลับเข้าร่าง และฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง

“ฉันได้ออกจากร่างมาจริงๆ และรู้สึกว่า เห็นตัวเองนอนอยู่บนเตียง”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย บุญสิตา)




เอลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์ : ดาวค้างฟ้าแห่งโลกมายาฮอลลีวู้ด วัย 78 ปี
เจน ซีมัวร์ : ดาราหญิงฮอลลีวู้ดที่มีชื่อเสียง วัย 59 ปี
ดร.แซม พาร์เนีย : หัวหน้าโครงการวิจัย AWARE
กำลังโหลดความคิดเห็น