xs
xsm
sm
md
lg

กลศาสตร์กับความรัก ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฟิสิกส์ กลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) อาจฟังดูเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับบางคน

แต่สำหรับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งทุ่มเททั้งชีวิตเพื่องานด้านการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการแล้ว มันเป็นงานการแห่งความรัก

ความรักที่ว่า…ไม่ใช่ความหมายในเชิงโรแมนติก แต่เป็นความหลงใหลในงานวิชาการและความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเชื่อหรือไม่ว่า ในทางกลับกัน-เขายืนยันว่า…กลศาสตร์ควอนตัมนั้น สามารถใช้อธิบายสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าความรักได้ด้วย

สมการ (กับ) ชีวิต

การเมืองเป็นเรื่องสำหรับปัจจุบัน แต่สมการจะคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์…

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวถึง ‘สมการ’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตไว้เช่นนั้น

สำหรับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผู้นี้ งานทางด้านการเมืองของเขาได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ปัจจุบันขณะต่างหากเล่า…ที่ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม กำลังขับเคี่ยวกับสมการและทฤษฎีตัวเลขจนได้ผลลัพธ์เป็นตำราวิชาการเล่มเขื่องถึง 3 เล่มในเวลาเพียงแค่ 2 ปี

ด้านหนึ่ง เขาดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือทางวิชาการ ตำราเล่มหนึ่งที่เขาเขียนอย่าง ‘อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำสำหรับวงจรรวมยุคใหม่’ เป็นหนังสือขายดี ขณะที่อีกเล่มอย่าง ‘วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์’ ได้รับรางวัล TTF AWARD สาขาวิทยาศาสตร์ โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหนังสือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพระดับนานาชาติที่เขียนเป็นภาษาไทย

ล่าสุด ผลงานที่เกิดจากความทุ่มเทตลอดหนึ่งปีเต็มของศ.ดร.สิทธิชัย ได้สำเร็จออกมาเป็นรูปเล่มสมบูรณ์แล้ว ‘กลศาสตร์ควอนตัมพื้นฐาน’ (BASIC QUANTUM MECHANICS) เป็นหนังสือเล่มที่ 3 ที่เขาตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ชีวิต…


“เหตุผลที่ผมมาสนใจเขียนตำรา เพราะผมเห็นว่าปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยคือ เด็กไทยขาดตำราที่มีคุณภาพ ตำราภาษาไทยที่เขียนกันส่วนใหญ่ก็เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเอามาใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ ก็มักจะเขียนกันลวกๆ บ้างไม่สมบูรณ์บ้าง แปลมาเยอะเกินไปแล้วไม่ได้มีคำอธิบายอะไร มีคณิตศาสตร์เยอะไปซึ่งมันทำให้ไร้ประโยชน์ ในขณะที่เมืองนอกมีตำราที่ดีๆ เยอะแยะไปหมดเลย

แล้วการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยถ้าจะให้เป็นบัณฑิตที่ดี อาจารย์ผมยังคิดว่ามีความสำคัญรองกว่าตำรา เพราะว่าคนที่จะมีความรู้ดีจำเป็นต้องขยัน จำเป็นต้องขยันหาอ่านจากตำราเพราะว่าลำพังแต่คำบรรยายของอาจารย์นี่เวลามันน้อยไป มันไม่สามารถที่จะทำให้มีความรู้ครบถ้วนเท่าที่ต้องการได้ เพราะฉะนั้น อาจารย์ที่ดีในการบรรยายก็ควรจะทำหน้าที่เหมือนกับเป็นคนแนะนำเฉยๆ ว่ามีเรื่องอะไรสำคัญ เป็นไกด์ไลน์ไป เด็กจะต้องอ่านเองมันถึงจะสำเร็จ” ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม กล่าวถึงที่มาในการเขียนตำราวิชาการเป็นภาษาไทย

นอกจากตำราที่มีคุณภาพในภาษาไทยจะมีน้อยแล้ว ด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษาทำให้เด็กไทยเข้าถึงแหล่งความรู้ในตำราภาษาอังกฤษยากยิ่งขึ้นไปอีก

“พอตำราเป็นภาษาอังกฤษแล้วประเทศไทยเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครมาก่อนอย่างที่ว่า จะให้เด็กไทยมีภาษาอังกฤษดีพอที่จะอ่านตำราได้ลึกซึ้ง มันก็เกือบจะเป็นไปไม่ได้ ก็จะมีเด็กที่โชคดีบางคนเท่านั้นเองที่จะมีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษจนกระทั่งมีความสามารถที่จะอ่านตำราได้ลึกซึ้งได้ มันไม่มีทางพัฒนาประเทศได้ถ้าตำราเราไม่ดี คุณดูประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศสที่มีตำราภาษาของเขาเต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นความใฝ่ฝันของผมมาตลอด 30 ปีว่าเราน่าจะมีโครงการแปลตำราที่มีคุณภาพ”

สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ศ.ดร.สิทธิชัย เคยเสนอของบประมาณหลักร้อยล้านเพื่อนำมาทำโครงการแปลตำรา แม้จะได้เพียง 1 ใน 5 จากจำนวนทั้งหมดที่ขอไป แต่อย่างน้อยเขาก็คิดว่านั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเด็กไทยที่จะได้อ่านตำรามีคุณภาพ

“ตำราถ้าจะให้มีคุณภาพเราจะต้องให้ค่าตอบแทนคนแปลหรือเรียบเรียงมากพอสมควร เขาจะได้ไม่ไปสนใจเรื่องอื่น ถ้าสมมติว่าจะผลิตตำราที่ดีเล่มหนึ่ง น่าจะใช้เวลาสักปีหนึ่งก็ให้ค่าตอบแทนเขาสักล้านหนึ่ง เขาก็ไม่ต้องไปเสียเวลาคิดเรื่องอื่นแล้ว คนที่มีความรู้ดีและภาษาดีก็สามารถจะมาสนใจทำตำราได้ สมมติว่าให้รัฐบาลของบประมาณสักสองพันล้าน เป็นเวลาสัก 30 ปี สองพันล้านก็น่าจะได้ตำราปีหนึ่งสัก 1,800 เล่ม ที่เหลือก็จ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์สำหรับเรื่องที่แปล ซึ่งตำราวิชาการค่าลิขสิทธิ์ถูกมาก เรื่องที่เรียบเรียงก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์ ค่าพิมพ์ต้นทุนนิดเดียว

ตอนสมัยผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะไม่ค่อยมีใครสนใจ ผมเลยให้กระทรวงกระทรวงไอซีทีของบประมาณ 500 ล้านเป็นจุดเริ่มต้น ก็ได้มา 100 ล้านก็ยังดี แต่พอผมพ้นไปจากตำแหน่งปั๊บ 100 ล้านนี่ถูกเปลี่ยนแปลงงบไปเป็นงบอย่างอื่นหมดเลย ผมก็หดหู่ใจ ตัวผมเองก็ทำเท่าที่จะทำได้ ผมก็พยายามเขียนตำราที่ดีสำหรับความรู้ที่ผมมีคือสองเล่มที่ออกไป และเล่มที่สามก็เขียนเกี่ยวกับ Quantum Mechanics พื้นฐาน เพราะผมไม่สามารถเขียน Quantum Mechanics ที่สูงกว่านี้ได้ เพราะว่าผมเป็นวิศวกรไม่ใช่นักฟิสิกส์”

หากเปรียบการเขียนตำรา Quantum Mechanics เป็นโจทย์คณิตศาสตร์ ก็คงเป็นสมการข้อใหญ่ในชีวิตที่ ศ.ดร.สิทธิชัย ต้องแก้จนสำเร็จ

“ผมใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้ปีหนึ่งเต็มๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ผมนั่งเขียนทุกวันจนกระทั่งมันได้เสร็จเป็นเล่มนี้ออกมา ผมคิดว่าเป็นตำราที่ดีพอสมควร 1,200 หน้า จะปูพื้นฐานไว้หมดรวมทั้งประวัติศาสตร์และทฤษฎีเบื้องต้นที่จำเป็น ผมแน่ใจว่าคนที่อ่านตำราเล่มนี้โดยความตั้งใจ สามารถที่จะไปค้นคว้าหรือศึกษาต่อทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ขั้นสูง, เคมีขั้นสูง, ชีววิทยาขั้นสูง ชีววิทยาสมัยใหม่ เราไม่ได้ผ่ากบดูอีกแล้ว ชีววิทยาสมัยใหม่เป็น Molecular biology ก็คือกลศาสตร์ควอนตัมโดยตรงนี่เอง และเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ไว้ด้วย ตำราทุกเล่มที่ผมเขียน ผมจะขายต่ำกว่าทุนทั้งหมด” ศ.ดร.สิทธิชัย ยืนยัน

ตัวอย่างตำราเล่มล่าสุดที่เขาเขียน คือ กลศาสตร์ควอนตัมพื้นฐานนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 1,200 หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดี ปกแข็งเข้าเล่มด้วยวิธีเย็บกี่ ราคาขายปลีกเพียง 400 บาทเท่านั้น!!

“ผมไม่ต้องการทำกำไรจากการเขียนตำรา ผมต้องการทำเป็นวิทยาทานมากกว่า ทำในแง่เท่าที่ผมจะทำได้ ตอนนี้ผมจะเขียนต่ออีกเล่มหนึ่งซึ่งจะกลับมาเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ตามวิธีการของผม เพราะการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ผมถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เหมือนการวาดรูปศิลปินแต่ละคนจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง การออกแบบวงจรแต่ละคนก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงจรซึ่งมีขนาดใหญ่ ในการออกแบบวงจรเราดูรู้เลยว่าใครเป็นคนออกแบบ ถ้าหากผมตายไปแล้ววิธีการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ศิลปะในการออกแบบวงจรของผมก็คงจะตายตามไป ผมเชื่อว่าศิลปะของผมยังมีประโยชน์ ก็ไม่อยากให้มันสูญหายไปเร็วนัก”

หลักแห่งความไม่แน่นอน

“ในชีวิตผม ผมจะเขียนหนังสือสี่เล่มด้วยกัน อีกเล่มหนึ่งปีหน้าก็คงเสร็จแล้ว พอครบสี่เล่มแล้วผมก็คงหมดพุงเป็นคนแก่ที่รอวันตายเท่านั้นเอง” ห้วงหนึ่งในการสนทนา ศ.ดร.สิทธิชัยประกาศไว้เช่นนั้น

ก่อนหน้านี้ในเมืองไทย มีคนไทยเคยเขียนหนังสือวิชาการเกี่ยวกับควอนตัมฟิสิกส์น้อยมาก เมื่อนานกว่า 30 ปีที่แล้วมีผู้เขียนไว้เล่มหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องแปลอ่านเล่นมากกว่า ไม่ใช่ตำราเรียนเฉพาะด้าน

“หนังสือเหล่านั้นอ่านไปแล้วจะรู้แต่เพียงว่า Quantum Mechanics เป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าทึ่ง ยิ่งกว่าไสยศาสตร์ซะอีก ถ้าเราอยากจะมีความเข้าใจด้านนี้จริงๆ ก็ไม่มีทางเลือก ต้องลงลึก ผมอยากจะเน้นว่า หนังสือที่ผมเขียนเล่มนี้เป็นตำราไม่ใช่นิยาย จะมานั่งอ่านเฉยๆ แล้วหวังจะให้รู้เรื่องไม่ได้ อ่านหนังสือเล่มนี้ต้องมีกระดาษเป็นปึก ปากกาดินสอ อ่านทุกบรรทัดต้องคิดตาม แล้วอันไหนที่มันยังขาดตกบกพร่องก็ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคณิตศาสตร์”

อาจฟังดูเหมือนคำขู่ แต่ในโลกวิชาการ…ไม่มีความสำเร็จใดได้มาโดยที่ไม่ต้องทุ่มเท

“บางเซคชั่นผมใช้เวลานานมากในการเขียน เพราะอ่านจากที่คนอื่นเขียนมาในโลกนี้แล้วก็ยังไม่พอใจ และความรู้สึกผมเองก็ยังไม่สามารถอธิบายได้แจ่มชัด มีบางเซคชั่นผมเกือบจะเป็นบ้า ใช้เวลาหลายอาทิตย์หมกมุ่นอยู่กับมันจนกระทั่งตอนกลางคืนมานอนฝันว่าจะต้องเป็นแบบนี้ ตื่นขึ้นมาแล้วก็มานั่งคิดตามความฝัน เออ..มันถูกต้องนะ คือถ้ามันหมกมุ่นมากจริงๆ หัวสมองมันยุ่งเหยิงแล้ว บางทีต้องไปนั่งกินไวน์สูบซิการ์แทน ไม่งั้นหัวสมองแตก พอมึนๆ นอนหลับไปก็ฝันแจ่มชัดเลย นี่เป็นเรื่องจริงมีอยู่สอง-สามเซคชั่นที่ผมเป็นแบบนั้น”

ศ.ดร.สิทธิชัยอธิบายว่า นักออกแบบวงจรที่ดีจะต้องมีความเข้าใจ มากกว่าใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ แต่สำหรับ Quantum Mechanics นั้นคณิตศาสตร์สำคัญมาก นี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนไม่ค่อยเข้าใจ Quantum Mechanics เพราะต้องใช้คณิตศาสตร์ลึกซึ้ง และการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในเมืองไทยนั้นมีน้อยเกินไป

พูดกันมาก็มากแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า Quantum Mechanics นี้ คืออะไรกันแน่?

“ตามหลักกลศาสตร์ควอนตัมแล้ว ทุกอย่างในโลกเป็น Quantum Mechanics ทั้งหมด ทุกอย่างในโลกนี้พอสุดท้ายมันจะประกอบด้วยอนุภาคและพลังงานซึ่งถูกควบคุมโดย Quantum Mechanics เพราะฉะนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ แม้กระทั่งชีวิต…ทำไม DNA ถึงเป็นรูปร่างแบบนี้ จาก Quantum Mechanics เราเห็นได้ชัดเลยว่าทำไม DNA ถึงเป็นแบบนี้ ทำไมอารมณ์ถึงถูกควบคุมโดยโปรตีน โปรตีนทำงานยังไง โปรตีนก็ทำงานโดย Quantum Mechanics ทำไมผู้หญิงผู้ชายถึงรักกัน ก็เพราะถูกฮอร์โมน ฮอร์โมนก็คือโปรตีน ควบคุมให้รักกันเพราะเราต้องการสืบพันธุ์ คือถ้าไม่บังคับให้ผู้หญิงผู้ชายหรือสัตว์โลกรักกัน มนุษย์ก็ตายไปแน่นอน”

แม้ฟังดูไม่โรแมนติกชวนฝัน แต่นั่นคือความจริงที่พิสูจน์ได้…ในทฤษฎีนี้

“กลศาสตร์ควอนตัมตอนนี้เราเชื่อว่าไม่มีทางผิด เพราะเป็นศาสตร์ที่ได้รับการทดลองมาเยอะที่สุด ไม่ว่าศาสตร์ไหน ยิ่งทดลองเยอะเท่าไหร่จะยิ่งเห็นว่า Quantum Mechanics ถูกต้องขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้ทฤษฎี Quantum Mechanics ถูกต้องแน่นอน แต่มันจะสมบูรณ์หรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง”

ตำรากลศาสตร์ควอนตัมที่เขียนขึ้นโดย ศ.ดร.สิทธิชัย จะแตกต่างจากตำรา Quantum Mechanics ของฝรั่งทั่วไป ตรงที่ตำรายุคเก่าของต่างประเทศนั้นมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของทฤษฎีนี้ แต่ตำราฝรั่งในยุคหลังกับเน้นที่ตัวทฤษฎีเพียวๆ เลย ศ.ดร.สิทธิชัยจึงพยายามรวมเนื้อหาทั้งสองส่วนไว้ด้วยกัน

“ผมเชื่อว่าผมได้ค้นคว้าจากตำราเกี่ยวกับ Quantum Mechanics เกือบทุกเล่มที่มีในโลกที่เป็นภาษาอังกฤษ ผมใช้หนังสืออ้างอิงค่อนข้างเยอะ เรื่องไอเดียบล็อกในตอนเขียนไม่มี มีแต่ความขี้เกียจ ต้องต่อสู้กับตัวเองมากกว่า งานเขียนหนังสือเรื่องนี้จึงเป็นงานที่โดดเดี่ยว ถ้าผมอยู่เมืองนอกชีวิตจะมีความสุขมากกว่านี้อีกเยอะ เพราะงานที่ผมคิดได้ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ ผมก็จะมีโอกาสไปคุยกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ไอเดีย แต่ว่าตอนอยู่เมืองไทยไม่รู้จะไปคุยกับใคร อาจจะมีนักฟิสิกส์ที่รู้เรื่อง Quantum Mechanics ในเมืองไทยไม่กี่คนซึ่งผมไม่รู้จักใครเพราะผมเป็นวิศวกร ไปบอกใครที่ไม่สนใจเขาก็ยักไหล่เฉยๆ บางทีก็คุยกับหมา ผมมีหมาตัวหนึ่งชื่อเดซี่ บางทีก็คุยกับมัน” ศ.ดร.สิทธิชัยเล่าถึงเบื้องหลังการเขียนตำราให้ฟัง

มันเป็นงานที่หนัก เหนื่อย และต้องทุ่มเทสูง แวบหนึ่ง เราอดนึกเปรียบเทียบกับคำพูดทื่อๆ แต่แฝงด้วยอารมณ์ขันที่ทำให้เห็นภาพการทำงานของไอน์สไตน์ไม่ได้…

“ถ้ารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำคืออะไร คงไม่เรียกว่างานวิจัย”

แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่คนโรแมนติก แต่ศ.ดร.สิทธิชัยมักยืนยันเสมอว่า ความภูมิใจที่สุดของเขาคือการมีภรรยาและลูกที่ดี...

เบื้องหลังนักคิด นักประดิษฐ์หลายคนระดับโลก ล้วนมีกำลังใจสำคัญอยู่เบื้องหลัง และสำหรับตัววิศวกรและอาจารย์ผู้นี้ คือ ครอบครัวที่เข้าใจการทำงานวิชาการของเขา แม้ในบางช่วงที่ศ.ดร.สิทธิชัยทุ่มเทอุทิศทั้งเวลาและมันสมองให้กับการเขียนหนังสือเสียจนกระทั่งหลงลืมคนใกล้ตัวไป

“ต้องมีใจตั้งมั่น กัดไม่ปล่อย” คือประโยคหนึ่งของศ.ดร.สิทธิชัยที่เรายังจดจำได้แม่น เมื่อพูดคุยถึงการทำงานวิจัยในการให้สัมภาษณ์ที่ห้องทำงานของเขา ณ มหาวิทยาลัยเมื่อครั้งก่อน หนึ่งปีต่อมา นักวิชาการผู้นี้พิสูจน์แล้วว่า เขาทำได้ตามอย่างที่พูด

เมื่อถามถึงความพอใจต่อผลงานหนังสือเล่มนี้ ศ.ดร.สิทธิชัยกล่าวว่าเขาพอใจกับมันพอสมควร ถ้าจะแก้ไขใหม่ก็คงแก้เพียงไม่กี่คำ “ผมว่าผมเขียนสนุกเท่าที่ตำราวิชาการจะสนุกได้ พยายามเขียนให้เข้าใจง่ายที่สุด แต่ผมยอมรับว่าก็คงจะยากอยู่ดี เพราะมันเป็นเรื่องยาก ไม่มีทางทำให้มันง่ายกว่านี้”

ส่วนราคาขายที่นับว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับตำราหรือเท็กซ์บุ๊คของต่างประเทศนั้น นอกจากผู้พิมพ์จะไม่ได้กำไรแล้ว นักเขียนอย่างศ.ดร.สิทธิชัย เองก็ไม่หวังกำไรหรือแม้แต่ต้นทุนตั้งแต่แรก

“ราคาเล่มละสี่ร้อยซึ่งผมคิดว่าถูกมาก หลายคนอยากจะให้ผมขายให้แพงกว่านี้ แต่ผมไม่อยากทำ ถ้าใครจะคิดว่าราคาถูกแล้วไม่มีคุณค่าก็ช่วยไม่ได้ ผมไม่ต้องการที่จะเอากำไรเลย ขาดทุนไปก็ดีแล้ว ราคาสี่ร้อยบาทนี่น่าจะได้ประโยชน์แก่นักศึกษาและสังคมมาก สมมติว่ามีเด็กสักร้อยคนอ่านแล้วเข้าใจดี ร้อยคนนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มหาศาล”

“ผมทำในสิ่งที่ผมอยากทำ เพราะว่าในบั้นปลายชีวิตผมคิดว่าน่าจะทำอะไรที่ดีให้กับเยาวชนไทย ถ้าคิดจะเอากำไรจากการเขียนตำรามันไม่สำเร็จหรอก เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทางจริยธรรมของผมเคลียร์เต็มที่ ผมไม่ได้มาโฆษณาขายเพื่อให้ได้กำไร ผมต้องการเผยแพร่ไปเพื่อให้เยาวชนรู้ว่ามีตำราแบบนี้อยู่ ใครที่ต้องการก็มาซื้อได้ โดยที่การซื้อแต่ละเล่มยิ่งซื้อเยอะผมยิ่งขาดทุนเยอะ” ศ.ดร.สิทธิชัยกล่าวอย่างเปิดใจ

ทั้งนี้ สำหรับตำราเล่มสองเกี่ยวกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ขายดีเหลือเพียงไม่ถึงร้อยเล่มนั้น ศ.ดร.สิทธิชัยบอกว่าอาจจะปรับปรุงแล้วนำมาพิมพ์ใหม่ในอนาคต “แต่ก่อนจะถึงตอนนั้นผมขอเขียนเล่มสุดท้ายก่อน เพราะว่าผมตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ผมอายุ 61 แล้ว จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผมจะต้องเขียนในสิ่งที่ผมต้องการจะเขียนให้มันเสร็จสิ้นไปก่อน ถ้าผมเขียนมากกว่าสี่เล่มนี้มันจะไม่มีสาระแล้ว เพราะผมมีความรู้แค่นี้เอง (หัวเราะ) ผมต้องการถ่ายทอดสิ่งที่ผมรู้และคิดว่ามันมีประโยชน์ ถ้าหลังจากสี่เล่มนี้แล้วผมอาจเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ อาจจะขายไม่ออกแจกเป็นหนังสืองานศพก็ได้”

“ชีวิตคนเราสั้นจะตาย ตอนนี้คุณยังคิดว่าชีวิตจะยืนยาว คุณคิดว่าโลกทั้งโลกอยู่ในกำมือคุณ จะบีบก็ตายคลายก็อยู่ แต่เดี๋ยวเดียวจะสี่สิบ เดี๋ยวเดียวจะห้าสิบ แล้วคุณจะเห็นความตายเข้ามาใกล้ แล้วคุณจะจะรู้สึกว่าชีวิตคนนี้แสนสั้น และชีวิตของคนนี่ไม่ค่อยมีความหมาย มนุษย์ที่มีความหมายต่อโลกนี่มีเพียงไม่กี่คน อาจจะมีอย่างเช่นศาสดาของศาสนาทั้งหลาย นักวิทยาศาสตร์ที่ได้สร้างเรื่องสำคัญๆ ไว้ นอกนั้นคุณจะอยู่หรือคุณจะตายโลกมันก็หมุนไปได้เรื่อยๆ”

…………….

ในความไร้ความหมายของสรรพสิ่ง ผู้ชายคนหนึ่งที่เคยเป็นทั้งอดีตรัฐมนตรี อธิการบดี วิศวกรและนักวิชาการที่เขียนหนังสือผู้นี้ กำลังพยายามทำบางสิ่งที่มีความหมายทิ้งไว้เบื้องหลัง…
 
*****************
เรื่อง-รัชตวดี จิตดี
พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร ถ่ายภาพ












กำลังโหลดความคิดเห็น