xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติด้วยบัตรเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปัญญาพลวัตร”
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างและเนื้อหาของระบบใดระบบหนึ่งอย่างเข้มข้น ลึกซึ้ง และรอบด้าน การปฏิวัติแสดงตัวออกมาให้เห็นโดยการเกิดขึ้นของคุณภาพใหม่ในระบบหรืออาณาบริเวณที่เราศึกษาสังเกต เราใช้ศัพท์คำว่าปฏิวัติในหลากหลายสาขาสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าว เช่นการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติทางการเมือง และการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ

การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เป็นการเปลี่ยนแปลงกระทัศน์ในการคิดเกี่ยวกับลักษณะและความสัมพันธ์ของความเป็นจริงทางธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับความเป็นจริง เกิดระเบียบวิธีการศึกษาใหม่เกี่ยวกับความเป็นจริง เกิดงานวิจัยและความรู้ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

กระแสการปฏิวัติวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เริ่มขึ้นโดย นิโคลัส โคเปอร์นิคัส ใน ค.ศ. 1542 ซึ่งได้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความเป็นจริงของจักรวาลแบบดั้งเดิมที่เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก มาเป็นดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่มีดาวเคราะห์รวมทั้งโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

ต่อมา กาลิเลโอได้ประดิษฐกล้องโทรทรรศน์เพื่อส่องดูดาราจักรต่างๆ และมีส่วนโน้มน้าวให้ชุมชนวิทยาศาสตร์ยอมรับทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส ขณะเดียวกันกาลิเลโอก็ได้วางรากฐานสำคัญให้กับฟิสิกส์กลศาสตร์ โดยนำเสนอการทดลองที่ลือเลื่องหักล้างทฤษฎีของอริสโตเติล ที่ว่าวัตถุหนักจะตกลงสู่พื้นโลกเร็วกว่าวัตถุเบา กาลิเลโอเสนอว่าวัตถุทั้งหลายที่ตกโดยอิสระ จะตกลงสู่พื้นโลกในอัตราความเร็วที่เท่ากัน

หลังจากนั้น การเสนอมุมมองความจริงเกี่ยวกับจักรวาลก็มีเพิ่มขึ้น เรอเนอ เดส์การ์ต เสนอปรัชญาแนวจักรวาลขึ้นมาซึ่งมีใจความสำคัญว่า โลกกายภาพประกอบด้วยอนุภาคเฉื่อยของสสารที่ทำปฏิกิริยาและเคลื่อนชนกัน และต่อมาในปี ค.ศ. 1687 การปฏิวัติวิทยาศาสตร์อย่างเข้มเข้นและรอบด้านก็เกิดขึ้นโดยการขับเคลื่อนของบุรุษที่ชื่อ ไอแซค นิวตัน

นิวตันใช้ ปรัชญาแนวจักรวาลของเดส์การ์ต เป็นฐานและปรับปรุงจนกลายเป็นทฤษฎีพลวัตและกลศาสตร์ โดยมีกฎแห่งการเคลื่อนที่และกฎแห่งแรงโน้มถ่วงสากลเป็นหัวใจ มีเนื้อหาหลักคือ เทหวัตถุใดๆในจักรวาลจะส่งแรงดึงดูดหรือโน้มถ่วงไปยังเทหวัตถุอื่นๆ กำลังของแรงดึงดูดระหว่างสองเทหวัตถุขึ้นอยู่กับผลผลิตของมวลสารของเทหวัตถุนั้นๆ และขึ้นอยู่กับระยะระหว่างเทหวัตถุยกกำลังสอง ยิ่งกว่านั้นนิวตันได้พัฒนาเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า “แคลคูลัส” ขึ้นมาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ อธิบายและทำนาย ปรากฎการณ์ตามหลักทฤษฎีได้อย่างแม่นยำ

การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์หาได้จบสิ้นลงเพียงแค่นั้น อีกสองร้อยปีถัดมา กระบวนทัศน์และระเบียบวิธีการศึกษาที่นิวตันวางรากฐานไว้ต้องสั่นสะเทือนด้วยบุรุษผู้หนึ่งนามอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้เสนอทฤษฎีสัมพันธภาพ ไอน์สไตน์ ชี้ว่า กลศาสตร์แบบนิวตันให้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องเมื่อใช้วิเคราะห์กับวัตถุที่มีขนาดใหญ่มาก หรือสิ่งที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก และในอีกด้านหนึ่งบรรดานักฟิสิกส์ที่ศึกษาระดับอนุภาค ก็ออกมาตอกย้ำว่า ทฤษฎีของนิวตันไม่สามารถใช้ในการอธิบายและการทำนายปรากฎการณ์ในระดับอะตอมได้ และนั่นคือการเกิดขึ้นของกระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า กลศาสตร์ควอนตัมขึ้นมา

แม้การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เป็นการต่อสู้ทางความคิดและความรู้เป็นหลัก แต่ก็หาได้รอดพ้นรัศมีของอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด ยิ่งในระยะแรกของการปฏิวัติเพราะในยุคนั้นมีความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นจริงทางธรรมชาติกับความเป็นจริงและอำนาจทางสังคมเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อเดียว กล่าวคือผู้ที่สามารถผูกขาดความเป็นจริงทางธรรมชาติ ก็จะทำให้มีอำนาจทางสังคมและการเมืองด้วย ดังที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปยุคกลางหลายประเทศซึ่งบาทหลวงเป็นผู้ผูกขาดความจริง วิธีการอธิบายความจริง และการเข้าถึงความจริง จึงทำให้ศริสต์ศาสนจักรมีอำนาจทางการเมืองสูงและควบคุมบงการชีวิตของผู้คนในสังคม

เมื่อเกิดกระแสของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในยุคแรกๆ ศาสนจักรพยายามหยุดยั้ง บั่นทอน และทำลาย โดยใช้วิธีการในหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้อำนาจศาลศาสนาในการควบคุมกาลิเลโอ เป็นต้น แต่เมื่อกระแสของความคิดได้แพร่กระจาย ทำให้ผู้คนเห็นความจริงมากขึ้น และมีการนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย จนในที่สุดทำให้เกิดการแยกกันระหว่างความรู้ความจริงของธรรมชาติ กับอำนาจและความสัมพันธ์ทางสังคม

อย่างไรก็ตามการพยายามในการแยกทำได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะแม้แต่ในปัจจุบันก็มีหลักฐานมากมายในสังคมมนุษย์หลายสังคมที่ความรู้ความจริงของธรรมชาติยังคงเป็นพลังหลักในการสร้างและควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคม บางสังคมอาจกระทำอย่างชัดเจน ขณะที่บางสังคมอาจกระทำโดยอ้อม

ส่วนการปฏิวัติทางการเมืองมีความแหลมคมและรุนแรงมากกว่าการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เพราะมีความเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ความสัมพันธ์ทางสังคม และผลประโยชน์ของผู้คนในวงกว้าง การปฏิวัติทางการเมืองอาจวิเคราะห์ในกรอบของ 1) เป้าหมายที่ได้รับเลือกในการโจมตี อาทิ รัฐบาล หรือ ระบอบการเมือง 2) ธรรมชาติของการขับเคลื่อนการปฏิวัติซึ่งอาจมาจาก การขับเคลื่อนของชนชั้นนำ หรือ มาจากการขับเคลื่อนของประชาชน 3) เป้าประสงค์หรืออุดมการณ์ เช่น การสร้างชาติ ชาตินิยม ประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม เป็นต้น ชาลเมอร์ จอห์นสัน ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันได้เสนอแบบแผนของการปฏิวัติทางการเมือง 6 แบบแผน ซึ่งผมได้นำมาปรับปรุงและเพิ่มตัวอย่างในบางส่วนดังนี้

1.การปฏิวัติของมวลชนแบบเป็นไปเอง เพื่อต่อต้านและโค่นล้มชนชั้นนำที่ปกครองแบบขูดรีดและกดขี่ การลุกฮือของประชาชนกระทำในนามของประเพณีดั้งเดิมที่ดีงาม หรือ ศาสนา หรือ พระมหากษัตริย์ การปฏิวัติแบบนี้มุ่งขจัดชนชั้นนำแบบจำกัดวงคือเฉพาะชนชั้นนำบางส่วนที่ไร้จริยธรรม เช่น การปฏิวัติของประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการปฏิวัติของประชาชนอียิปต์ในปี พ.ศ. 2554 เป็นต้น

2.การปฏิวัติของมวลชนโดยมีผู้นำเข้มแข็ง มีเป้าหมายเพื่อขจัดโครงสร้างอำนาจและระบอบเดิม และมีการนำเสนอวิสัยทัศน์สำหรับสังคมในอนาคตอย่างชัดเจน การปฏิวัติในรูปแบบนี้มีความแพร่หลายมากกว่าในรูปแบบแรก เช่น การปฏิวัติอินเดียของมหาตมะคานธี หรือ การปฏิวัติของโคไมนี ในประเทศอิหร่าน เป็นต้น

3.การปฏิวัติแบบอนาธิปไตย เป็นแบบแผนที่สะท้อนการโหยหาอดีตที่เคยรุ่งเรือง เป็นปฏิกิริยาที่ตอบโต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น หรือมีอุดมการณ์เชิงฝันหวานนิยม อยากให้สังคมย้อนกลับไปสู่อดีต เช่น กรณีขบถนักมวยในประเทศจีน หรือ ขบถผีบุญในประเทศไทย

4.การปฏิวัติแบบคอมมิวนิสต์ เป็นแบบแผนที่เกิดขึ้นน้อย และเป็นการปฏิวัติที่เปลี่ยนแปลงรากฐานในองค์การทางการเมือง โครงสร้างสังคม การควบคุมทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ และการสร้างมายาคติเกี่ยวกับการจัดลำดับชั้นทางสังคม การปฏิวัติแบบนี้มักเกิดขึ้นในรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ มีระบบการสื่อสารที่ดีและในเมืองใหญ่ เป้าหมายของการปฏิวัติที่มุ่งขจัดคือรัฐบาลหรือระบอบการเมือง เช่น การฏิวัติของกลุ่มจาโคบินในประเทศฝรั่งเศส ช่วง ค.ศ. 1789 และ การปฏิวัติในประเทศรัฐเซียเมื่อปี ค.ศ. 1917 เป็นต้น

5.การปฏิวัติโดยชนชั้นนำส่วนน้อย เป็นการใช้กำลังทหารของชนชั้นนำกลุ่มน้อย เพื่อเปลี่ยนแปลงบุคคลและคณะบุคคลที่ทำการบริหารประเทศในขณะนั้น จากนั้นผู้บริหารกลุ่มใหม่ที่มาจากการปฏิวัติก็ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน เช่น การปฏิวัติของนัสเซอร์ ในประเทศอียิปต์ หรือ การปฏิวัติประเทศไทยเมื่อปี 2475

6.การปฏิวัติโดยสงครามจรยุทธ์ เป็นการปฏิวัติที่ใช้มวลชนเป็นฐานภายใต้การชี้นำของชนชั้นนำ ผลลัพธ์ของการปฏิวัติแบบนี้ถูกกำหนดโดยทัศนคติทางการเมือง ยุทธศาสตร์ทางทหาร และทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนจากมวลชนในวงกว้าง เช่น การปฏิวัติในประเทศเวียตนาม ประเทศจีน เป็นต้น

แบบแผนการปฏิวัติทางการเมืองเหล่านี้เป็นแบบแผนที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทั้งระยะใกล้และไกล อันที่จริงอาจมีแบบแผนของการปฏิวัติอีกประการคือ

7.การปฏิวัติดอกคาร์เนชั่น ซึ่งเป็นการอธิบายการปฏิวัติของประเทศโปรตุเกส ในค.ศ. 1974 เป็นกลุ่มที่นำโดยของนายทหารระดับกลาง ระดับล่างและพลเรือน และมีประชาชนให้การสนับสนุนและร่วมการปฏิวัติอย่างมากมาย เป้าหมายของการปฏิวัติคือการขจัดระบบเผด็จการอำนาจนิยม และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา

การปฏิวัติทางการเมืองในประเทศต่างๆทั้งอดีตและปัจจุบัน มีความคล้ายคลึงกับการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในบางด้าน กล่าวคือการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เกิดจากการที่กระบวนทัศน์ทางความคิดเดิมไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาในการอธิบายและทำนายปราการณ์ทางธรรมชาติได้อีกต่อไป การนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่จึงเกิดขึ้นมา สำหรับการปฏิวัติทางการเมืองก็เช่นเดียวกันเกิดจากการที่ระบอบการเมืองเดิมไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาของประเทศได้ เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้นานวันเข้า ปัญหาเหล่านั้นก็สะสม หมักหมม เรื้อรัง และนำพาประเทศไปสู่ความหายนะ ดังนั้นการปฏิบัติจึงเกิดขึ้นมา

สังคมไทยในขณะนี้มีสภาพดังกล่าวอย่างชัดเจนซึ่งดำรงสืบทอดมาอย่างยาวนาน นั่นคือมีระบอบการเมืองเป็นระบอบสัมปทานธิปไตย อันเป็นระบอบที่ผูกขาดอำนาจโดยนายทุนและเครือญาติ บริหารประเทศเพื่อตอบสนองประโยชน์ของกลุ่มทุน และใช้การปลุกระดมมวลชน ก่อการร้ายเพื่อประโยชน์ของนายทุน ระบอบดังกล่าวนอกจากจะไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของประเทศไทยได้แล้ว ยังกระหน่ำซ้ำเติมสร้างปัญหาใหม่ๆสะสมมากขึ้น หากระบอบนี้ยังคงดำรงอยู่ ภายในไม่ช้าไม่นานความวิบัติหายนะก็จักปรากฏขึ้นในสังคมไทย

ดังนั้นสังคมไทยในปัจจุบันจึงต้องการการปฏิวัติทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงและสร้างความเป็นประธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมา แต่จะเป็นการปฏิวัติภายใต้แบบแผนใดยังคงเป็นคำถามใหญ่ให้ต้องขบคิดกัน หรืออาจจะมีความเป็นไปได้ที่สังคมไทยในยุคนี้ จะสร้างแบบแผนการปฏิวัติแบบใหม่ขึ้นมา นั่นคือ “การปฏิวัติด้วยบัติเลือกตั้ง”

การปฏิวัติด้วยบัตรเลือกตั้งเริ่มจากการแสดงเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการเมืองผ่านบัตรเลือกตั้งโดยการกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร จากนั้นประชาชนก็รวมกลุ่มกันกดดันและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างขนานใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนของนายทหารระดับกลาง บุคลากรในระบบยุติธรรม และชนชั้นกลาง ส่วนรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิด นำเสนอและถกเถียงกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น