xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : วันที่จมูกไม่สบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคยไหมครับที่อยู่ๆ จมูกของเราก็มีอาการผิดปกติ ไม่สบายขึ้นมา เช่น มีอาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล มีเสมหะไหลลงคอ เลือดกำเดาไหล ไม่ได้กลิ่น ซึ่งสาเหตุของอาการผิดปกตินี้ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. โรคหวัด หรือจมูกอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ซึ่งมักจะมีสาเหตุที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายน้อยลงนำมาก่อน ทำให้จมูกรู้สึกไม่สบาย มีอาการดังกล่าวข้างต้นได้ และอาจมีไข้ร่วมด้วย ส่วนใหญ่ถ้าปฏิบัติตนถูกต้อง มักจะหายได้เอง การรับประทานยาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ

2. โรคแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคนี้มักจะมีสิ่งกระตุ้นนำมาก่อน ได้แก่ ไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ของฉุน ฝุ่น ควัน หรืออากาศที่เย็น แล้วทำให้จมูกมีอาการไม่สบาย ส่วนใหญ่ถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวได้ หรือรับประทานยาแก้ แพ้ อาการต่างๆ มักจะดีขึ้นเอง

3. โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดตามหลังโรคหวัด ปกติเมื่อเป็นโรคหวัด อาการต่างๆ มักจะดีขึ้นเองภายใน 7-10 วัน ถ้าปฏิบัติตนถูกต้องและเหมาะสม แต่ถ้าอาการไม่สบายของจมูกเป็นมากขึ้นกว่าเดิมหลังจาก 5 วันไปแล้ว หรือเป็นหวัดนานกว่า 7-10 วัน อาจเป็นโรคไซนัสอักเสบ โดยอาจมีไข้ น้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีข้นเหลือง หรือเขียว มีอาการปวดบริเวณใบหน้า เสมหะไหลลงคอ และไอ ได้   

การรักษาประกอบด้วยการรับประทานยาต้านจุลชีพ ในกรณีสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย และทำให้การไหลเวียนของสารคัดหลั่ง และอากาศภายใน ไซนัสดีขึ้น โดยรับประทานยาหดหลอดเลือด ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และสูดดมไอน้ำร้อน

4. โรคริดสีดวงจมูก มักพบร่วมกับโรคแพ้อากาศ ได้บ่อย เกิดจากเยื่อบุจมูกบวมออกมาเป็นก้อน ทำให้จมูกไม่สบายเหมือนโรคแพ้อากาศ และถ้าก้อนไปอุดรูเปิดของไซนัส อาจทำให้มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังร่วมด้วยได้ การรักษาประกอบด้วยการให้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานและชนิดพ่นจมูก

9 วิธีรักษาสุขอนามัยในโพรงจมูก
เป็นการปฏิบัติตนเพื่อให้ห่างไกลจากโรคจมูก หรือเมื่อจมูกไม่สบาย จะทำให้อาการของจมูกดีขึ้นเร็ว ประกอบด้วย

1. พยายามหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายและจมูกต่ำ ซึ่งจะทำให้เป็นโรคหวัดได้ง่าย ได้แก่ เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น เปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ ขณะนอนหลับ ดื่มหรืออาบน้ำเย็นจัด ตากฝน อยู่ใกล้คนรอบข้างที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

2. ควรกำจัด หรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะห้องนอน ในบ้าน และที่ทำงาน ให้เหลือน้อยที่สุด

3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัด มีฝุ่นละออง ควัน สารเคมี มลพิษ กลิ่นฉุนหรือแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า ซึ่งปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ อาจทำให้มีอาการอักเสบในโพรงจมูกได้ง่าย

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้

5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนด้วย หลีกเลี่ยงการอดนอน รักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใสเสมอ

6. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (คือ การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น ต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ได้แก่ วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานฝืด เล่นฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล) ให้สม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทาน

7. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ หรือดำน้ำ ขณะจมูกมีอาการผิดปกติ

8. เมื่อมีอาการผิดปกติในจมูก เช่น
• มีน้ำมูกในโพรงจมูก หรือน้ำมูกไหลลงคอ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะช่วยล้างเอาน้ำมูก เชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคือง สิ่งสกปรกในจมูกออก ลดการอักเสบและอาการระคายเคืองในจมูกได้
• มีอาการคัดจมูก การสูดดมไอน้ำร้อน จะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ดี ทำให้อาการของจมูกดีขึ้นเร็ว

9. เมื่อจมูกไม่สบาย และให้การรักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดย ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
กำลังโหลดความคิดเห็น