xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอน:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตที่มีสัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นเป็นกลาง
จะเกิดปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
อันเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ไม่ใช่มีสติแบบไม่ขาดสาย
ด้วยการเพ่งจ้องจิต หรือเพ่งจ้องอารมณ์

ครั้งที่ 11
พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก

4.5.2 จิตที่ไม่กระเพื่อมเพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์จึงจะเป็นมรรค หากไม่กระเพื่อมเพราะได้รับอารมณ์ไม่ชัดเจน หรือไม่กระเพื่อมเพราะสาเหตุอื่น ไม่จัดว่าเป็นมรรค อนึ่ง คำว่า 'มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์'ท่านหมายถึงมีสติและสัมมาสมาธิ คือมีสติระลึกรู้รูปนามที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิคือมีความตั้งมั่นและเป็นกลาง จึงจะเกิดปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม อันเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่มีสติแบบไม่ขาดสายด้วยการเพ่งจ้องจิต หรือเพ่งจ้องอารมณ์

แม้การที่จิตส่งออกไปกระทบอารมณ์จะเป็นทางมาของกิเลส แต่ก็เป็นทางมาของปัญญาคือความรู้แจ้งในกองสังขารหรือ รูปนามด้วย จุดหักเหที่สำคัญว่าเมื่อกระทบอารมณ์แล้วจิตจะ (1) เกิดเป็นอกุศลจิต ปราศจากสติ (2) เกิดเป็นมหากุศลจิตที่มีสติแต่ไม่มีปัญญา หรือ (3) เกิดเป็นมหากุศลจิตที่มีทั้งสติและปัญญา อย่างใดนั้น ก็อยู่ตรงที่ว่าจิตมีสติและสัมมาสมาธิหรือไม่ กล่าวคือ

(1) หากจิตส่งออกรู้อารมณ์แล้ว ปราศจากสติ อกุศลจิตก็เกิดขึ้น

(2) หากจิตส่งออกรู้อารมณ์แล้วมีสติ จิตก็เป็นกุศลธรรมดาๆ

(3) หากจิตส่งออกรู้อารมณ์แล้วมีสติระลึกรู้ถึงรูปธรรมหรือนามธรรมที่ปรากฏ ด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิ คือตั้งมั่นเป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้าย และสักว่ารู้สักว่าเห็นสภาวธรรมนั้นๆ อยู่ จิตก็จะเกิดวิปัสสนาปัญญา คือเห็นถึงความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนามนั้นๆ อย่างที่สามนี้แหละเป็นทางดำเนินบุพพภาคมรรค จนวันใดเกิดสติปัญญาบริบูรณ์ ก็จะเกิดอริยมรรค อริยผล และประจักษ์นิพพาน อันเป็นสมุจเฉทนิโรธ ปฏิปัสสัทธินิโรธ และนิสสรณนิโรธ ในที่สุด สมดังคำที่หลวงปู่กล่าวว่า 'ผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ'

ขอย้ำว่าที่หลวงปู่พูดถึง 'การมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์' นั้น หมายถึงมีสติ สัมมาสมาธิ และปัญญา เพียงแต่ท่านกล่าวอย่างย่อๆ เท่านั้นเอง

4.6 พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม

พระอรหันต์หมดการกระทำกรรมทางใจ ด้วยเจตนาอันเป็นบุญหรือบาปทั้งปวง แม้จิตจะเกิดการทำงานทางใจ ก็สักว่ามีกิริยาเกิดขึ้นเท่านั้น และกิริยาที่เกิดขึ้นไม่กระเทือนเข้าถึงใจ ไม่มีการเสวยเวทนาทางใจ จึงปราศจากตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และทุกข์ และสักว่าทำงานไปตามหน้าที่ของขันธ์อันประกอบด้วยวาสนาคือความเคยกายเคยวาจา และประกอบด้วยความคุ้นชินกับอารมณ์ฝ่ายกุศล เช่นความเมตตากรุณา เป็นต้น แต่สภาพรู้อันเป็นอิสระก็ยังคงเป็นอิสระอยู่เช่นนั้น จิตไม่มีอาการเคลื่อนหลงไปสู่อารมณ์ทางทวารใดๆ เพราะไม่ติดในรสของอารมณ์ใดๆ ประกอบกับจิตใหญ่เต็มโลกเต็มจักรวาล (วิมริยาทิกัตจิต) จนไม่มีการมา หรือการไป มีความนิ่งและเงียบสนิท รู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สะอาด สว่าง ปราศจากความปรุงแต่งอันเป็นความกระเพื่อมไหวจากภายใน ปราศจากสิ่งเข้ามาปรุงแต่งจากภายนอก และปราศจากภายในและภายนอก เป็นจิตหนึ่ง

หลวงปู่เล่าว่าท่านอยู่กับสภาวะดังกล่าวนี้ มีสภาวะดังกล่าวนี้เป็นวิหารธรรม ท่านจึงกล่าวว่าพระอริยเจ้ามีจิตที่ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวเป็นวิหารธรรม แต่ก็เคยทราบว่าครูบาอาจารย์รูปอื่นท่านก็มีเครื่องอยู่ของท่านแตกต่างกัน เช่นบางรูปท่านก็อยู่กับเมตตาพรหมวิหาร (เมตตาแบบเจาะจง) บางรูปอยู่กับเมตตาอัปปมัญญา (เมตตากว้างขวางไม่มีประมาณ) บางรูปอยู่กับฌานสมาบัติ และบางรูปอยู่กับการอบรมสั่งสอน เป็นต้น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
จุดผิดพลาดในการดูจิต)
กำลังโหลดความคิดเห็น