ในการใช้ชีวิตคู่ครองเรือน สามีภรรยาหรือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว นอกจากจะปฏิบัติตามหลักธรรมเพื่อการสร้างตนทางเศรษฐกิจ เช่น หลักการขยันหาทรัพย์ หลักการใช้จ่ายทรัพย์ เป็นต้นแล้ว เพื่อให้ครอบครัวหรือตระกูลมีหลักฐานมั่นคง ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีควรปฏิบัติตามหลักธรรมที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบตระกูลหรือครอบครัวของตน โดยปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับดำรงความมั่งคั่งของตระกูลให้ยั่งยืน หรือเหตุที่ทำให้ตระกูลตั้งอยู่ได้นาน ซึ่งเรียกว่า กุลจิรัฏฐิติธรรม ๔ อย่าง คือ
๑. นัฏฐคเวสนา ของหายหมดไป รู้จักหามาไว้
๒. ชิณณปฏิสังขรณา ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม
๓. ปริมิตปานโภชนา รู้จักประมาณในการกิน การใช้
๔. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา ตั้งหญิงหรือชายมีศีลธรรมเป็นแม่บ้านพ่อเรือน
ผู้ครองเรือนแม้ว่าจะสามารถตั้งตัวจนครอบครัวมีหลักฐานมั่นคง มีทรัพย์สมบัติมาก มีบริวารพวกพ้องมาก แต่ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่เป็นเหตุทำให้ตระกูลมั่งคั่งตั้งอยู่ได้นานทั้ง ๔ ประการข้างต้นนี้แล้ว ไม่ช้าไม่นาน ครอบครัวหรือตระกูลย่อมถึงความวิบัติล่มจม ชีวิตครองเรือนหรือชีวิตครอบครัวก็จะมีอุปสรรคทันที ซึ่งเหตุแห่งความวิบัติหรือล่มจมของครอบครัว ก็มีนัยตรงกันข้ามกับหลักกุลจิรฏฐิติธรรมทั้ง ๔ ประการนั้น ดังนี้
๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายไป
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔. ตั้งหญิงหรือชายทุศีลให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน
เหตุ ๔ ประการนี้ เป็นเหตุให้ตระกูลหรือครอบครัวที่มีทรัพย์สมบัติจะตั้งอยู่ดำรงความมั่งคั่งไม่ได้นาน คือจะล่มจมลงในไม่ช้า มีอธิบายดังนี้
๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายไป หมายถึง เมื่อมีสิ่งของพัสดุเครื่องใช้ต่างๆหายไป หมดไป ก็ไม่รู้จักหามาไว้คืน สิ่งของต่างๆที่สูญหายไป หรือเงินทองที่ใช้สอยไปทุกวันๆ หากไม่ตามคืนหรือไม่หาทางนำมาชดเชย เพราะมัวแต่คิดว่ามีมาก ไม่มีวันหมดหรือไม่เป็นไรแล้ว ทรัพย์สินหรือเงินทองสิ่งของก็จะร่อยหรอไปทุกๆวัน ผู้ครองเรือนจำต้องอุดรอยรั่วนี้
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า หมายถึง ไม่รู้จักบูรณะซ่อมแซมของเก่าหรือของที่ชำรุด ปล่อยให้เสียไปตามกาลเวลา พัสดุหรือวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ เสื้อผ้า หรืออะไรอื่น หากชำรุดไปหรือเสียหายไปตามกาลเวลา ก็อาจซ่อมแซมปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สภาพให้เหมือนเดิม หรือนำไปใช้ในกรณีอื่นได้ แต่ถ้าผู้ครองเรือนประมาท ทิ้งขว้างให้เสียหาย โดยซื้อใหม่เปลี่ยน ใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเรื่อยๆเช่นกัน นี่ก็เป็นรอยรั่วที่จำเป็นต้องอุดอีกรอยหนึ่ง
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ หมายถึง ไม่รู้จักประมาณในการกินในการใช้ทรัพย์สมบัติ กินใช้อย่างฟุ่มเฟือย ในการใช้สิ่งของก็ดี ใช้เงินทองก็ดี จำต้องใช้อย่างทะนุถนอม ใช้อย่างประหยัด ใช้ให้สมคุณค่า ผู้ครองเรือนที่ดีจำต้องมีความมัธยัสถ์ในการใช้สอย ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ให้เข้าทำนอง “ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน” หากไม่รู้จักกินใช้ ก็จะถึงความวิบัติในไม่ช้า นี่ก็เป็นรอยรั่วที่ควรอุดเช่นกัน
๔. ตั้งหญิงหรือชายทุศีล ให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน หมายถึง ไม่ตั้งคนดีมีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน แต่กลับไปตั้งคนไม่มีศีลธรรมหรือคนประพฤติชั่วมัวเมาในอบายมุขมาเป็นใหญ่ คือเป็นพ่อบ้านหรือเป็นแม่เรือนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในครอบครัว ไม่ช้าไม่นานก็จะเป็นเหตุนำ พาให้ตระกูลที่มั่งคั่งมาแต่เดิม ต้องล่มจมไปในที่สุด
ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงหลักความจริงที่ว่า ผู้เป็นแม่บ้าน พ่อเรือนหรือเป็นพ่อบ้านแม่บ้านจะต้องเป็นคนมีศีลธรรม เป็นคนดี เช่น เป็นคนซื่อสัตย์ มัธยัสถ์ เป็นคนมีหลักเบญจศีลเบญจธรรม งดเว้นอบายมุขได้ บุคคลประเภทนี้สมควรยกย่องหรือตั้งให้เป็นผู้บริหารครอบครัว บริหารกิจการของครอบครัว คือ ให้เป็นพ่อบ้านหรือแม่เรือนในการครองเรือนนั้น หากพ่อบ้านหรือแม่บ้านคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนเป็นคนทุศีล ไม่มีคุณธรรมต่างๆ ดังยกตัวอย่างข้างต้นนั้น ครอบครัวและการครองเรือนก็จะพบกับความวิบัติและล่มจมในที่สุด รอยรั่วที่ ๔ นี้เป็นรอยรั่วใหญ่ที่อุดได้ยาก และเป็นเหตุให้เกิดรอยร้าวข้างต้น ได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ผู้ครองเรือนที่ปรารถนาจะให้การครองเรือนของตนมีสวัสดิภาพ ปลอดภัย และมั่งมีศรีสุขตลอดไป พึงระวังเหตุแห่งความวิบัติทั้ง ๔ ประการนี้มิให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัวของตนได้
(จากส่วหนึ่งของหนังสือพุทธธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยแก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา)
๑. นัฏฐคเวสนา ของหายหมดไป รู้จักหามาไว้
๒. ชิณณปฏิสังขรณา ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม
๓. ปริมิตปานโภชนา รู้จักประมาณในการกิน การใช้
๔. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา ตั้งหญิงหรือชายมีศีลธรรมเป็นแม่บ้านพ่อเรือน
ผู้ครองเรือนแม้ว่าจะสามารถตั้งตัวจนครอบครัวมีหลักฐานมั่นคง มีทรัพย์สมบัติมาก มีบริวารพวกพ้องมาก แต่ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่เป็นเหตุทำให้ตระกูลมั่งคั่งตั้งอยู่ได้นานทั้ง ๔ ประการข้างต้นนี้แล้ว ไม่ช้าไม่นาน ครอบครัวหรือตระกูลย่อมถึงความวิบัติล่มจม ชีวิตครองเรือนหรือชีวิตครอบครัวก็จะมีอุปสรรคทันที ซึ่งเหตุแห่งความวิบัติหรือล่มจมของครอบครัว ก็มีนัยตรงกันข้ามกับหลักกุลจิรฏฐิติธรรมทั้ง ๔ ประการนั้น ดังนี้
๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายไป
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔. ตั้งหญิงหรือชายทุศีลให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน
เหตุ ๔ ประการนี้ เป็นเหตุให้ตระกูลหรือครอบครัวที่มีทรัพย์สมบัติจะตั้งอยู่ดำรงความมั่งคั่งไม่ได้นาน คือจะล่มจมลงในไม่ช้า มีอธิบายดังนี้
๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายไป หมายถึง เมื่อมีสิ่งของพัสดุเครื่องใช้ต่างๆหายไป หมดไป ก็ไม่รู้จักหามาไว้คืน สิ่งของต่างๆที่สูญหายไป หรือเงินทองที่ใช้สอยไปทุกวันๆ หากไม่ตามคืนหรือไม่หาทางนำมาชดเชย เพราะมัวแต่คิดว่ามีมาก ไม่มีวันหมดหรือไม่เป็นไรแล้ว ทรัพย์สินหรือเงินทองสิ่งของก็จะร่อยหรอไปทุกๆวัน ผู้ครองเรือนจำต้องอุดรอยรั่วนี้
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า หมายถึง ไม่รู้จักบูรณะซ่อมแซมของเก่าหรือของที่ชำรุด ปล่อยให้เสียไปตามกาลเวลา พัสดุหรือวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ เสื้อผ้า หรืออะไรอื่น หากชำรุดไปหรือเสียหายไปตามกาลเวลา ก็อาจซ่อมแซมปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สภาพให้เหมือนเดิม หรือนำไปใช้ในกรณีอื่นได้ แต่ถ้าผู้ครองเรือนประมาท ทิ้งขว้างให้เสียหาย โดยซื้อใหม่เปลี่ยน ใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเรื่อยๆเช่นกัน นี่ก็เป็นรอยรั่วที่จำเป็นต้องอุดอีกรอยหนึ่ง
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ หมายถึง ไม่รู้จักประมาณในการกินในการใช้ทรัพย์สมบัติ กินใช้อย่างฟุ่มเฟือย ในการใช้สิ่งของก็ดี ใช้เงินทองก็ดี จำต้องใช้อย่างทะนุถนอม ใช้อย่างประหยัด ใช้ให้สมคุณค่า ผู้ครองเรือนที่ดีจำต้องมีความมัธยัสถ์ในการใช้สอย ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ให้เข้าทำนอง “ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน” หากไม่รู้จักกินใช้ ก็จะถึงความวิบัติในไม่ช้า นี่ก็เป็นรอยรั่วที่ควรอุดเช่นกัน
๔. ตั้งหญิงหรือชายทุศีล ให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน หมายถึง ไม่ตั้งคนดีมีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน แต่กลับไปตั้งคนไม่มีศีลธรรมหรือคนประพฤติชั่วมัวเมาในอบายมุขมาเป็นใหญ่ คือเป็นพ่อบ้านหรือเป็นแม่เรือนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในครอบครัว ไม่ช้าไม่นานก็จะเป็นเหตุนำ พาให้ตระกูลที่มั่งคั่งมาแต่เดิม ต้องล่มจมไปในที่สุด
ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงหลักความจริงที่ว่า ผู้เป็นแม่บ้าน พ่อเรือนหรือเป็นพ่อบ้านแม่บ้านจะต้องเป็นคนมีศีลธรรม เป็นคนดี เช่น เป็นคนซื่อสัตย์ มัธยัสถ์ เป็นคนมีหลักเบญจศีลเบญจธรรม งดเว้นอบายมุขได้ บุคคลประเภทนี้สมควรยกย่องหรือตั้งให้เป็นผู้บริหารครอบครัว บริหารกิจการของครอบครัว คือ ให้เป็นพ่อบ้านหรือแม่เรือนในการครองเรือนนั้น หากพ่อบ้านหรือแม่บ้านคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนเป็นคนทุศีล ไม่มีคุณธรรมต่างๆ ดังยกตัวอย่างข้างต้นนั้น ครอบครัวและการครองเรือนก็จะพบกับความวิบัติและล่มจมในที่สุด รอยรั่วที่ ๔ นี้เป็นรอยรั่วใหญ่ที่อุดได้ยาก และเป็นเหตุให้เกิดรอยร้าวข้างต้น ได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ผู้ครองเรือนที่ปรารถนาจะให้การครองเรือนของตนมีสวัสดิภาพ ปลอดภัย และมั่งมีศรีสุขตลอดไป พึงระวังเหตุแห่งความวิบัติทั้ง ๔ ประการนี้มิให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัวของตนได้
(จากส่วหนึ่งของหนังสือพุทธธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยแก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา)