xs
xsm
sm
md
lg

อโรคยาสถาน : ความฉลาดทางอารมณ์บำบัดโรค พุทธธรรมบำบัด (ตอนที่ 20)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

• การกำหนดอิริยาบถย่อย
นอกจากการยืน เดิน นั่ง ที่เราปฏิบัติข้างต้นแล้ว ในอิริยาบถอื่นๆ เราก็จะต้องเจริญสติไปด้วยในชีวิตประจำวัน การเหลียวซ้าย แลขวา การคู้ การเหยียด การรับประทานอาหาร การเคี้ยว ดื่ม การใส่เสื้อผ้า การอุจจาระ ปัสสาวะ การอาบน้ำ ในเวลาปฏิบัติอย่างเข้มข้น เราต้องทำสติระลึกรู้ไว้ตลอดเวลา
การเจริญสติในอิริยาบถย่อยเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าของการปฏิบัติ ผู้ที่เจริญสติในอิริยาบถย่อยได้ดี ทำได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน จึงจะสามารถทำสติให้มีกำลัง สมาธิลึกซึ้ง และจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม ยกตัวอย่าง เช่น ในขณะรับประทานอาหาร เราก็ฝึกการเจริญสติ ดังนี้
เมื่อยื่นมือไปจับช้อน ก็กำหนดว่า ยื่นหนอๆ (Stretching)
เมื่อมือไปถูกช้อน ก็กำหนดว่า ถูกหนอๆ (Touching)
เมื่อยื่นมือไปตักอาหาร ก็กำหนดว่า ยื่นหนอๆ (Stretching)
เมื่อตักอาหาร ก็กำหนดว่า ตักหนอๆ (Arranging)
เมื่อยกมือขึ้น ก็กำหนดว่า ยกหนอๆ (Lifting)
เมื่อคู้มือกลับ ก็กำหนดว่า คู้หนอๆ (Bringing)
เมื่อยกมาที่ปาก ก็กำหนดว่ายกหนอๆ (Bringing)
เมื่ออ้าปาก ก็กำหนดว่า อ้าหนอๆ (Opening)
เมื่อยกอาหารเข้าปาก ก็กำหนดว่า ใส่หนอๆ (Placing)
เมื่อปิดปาก ก็กำหนดว่า ปิดหนอๆ (Closing)
เมื่อดึงช้อนออกจากปาก ก็กำหนดว่า ดึงหนอๆ (Withdrawing)
เมื่อวางมือลง ก็กำหนดว่า วางหนอๆ (Dropping)
เมื่อมือสัมผัสกับโต๊ะ ก็กำหนดว่า ถูกหนอๆ (Touching)
เมื่อเคี้ยวอาหาร ก็กำหนดว่า เคี้ยวหนอๆ (Chewing)
เมื่อกลืนอาหาร ก็กำหนดว่า กลืนหนอๆ (Swallowing)
เมื่อรู้รสอาหาร ก็กำหนดว่า รู้รสหนอๆ (Tasting)

ในการรับประทานอาหารแต่ละคำ เราก็เจริญสติไปตลอดเวลาดังที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นแบบให้เราฝึกหัด กำหนดไปทีละคำจนอาหารหมด ในเบื้องต้นเราอาจจะกำหนดด้วยความยากลำบาก แต่อาศัยความอดทน พาก เพียรกำหนดติดต่อกันไป ในที่สุดเราก็จะทำได้โดยไม่ยาก
การกำหนดในระหว่างการรับประทานอาหารนี้ ถ้าเราทำจนเคยชิน ก็จะทำให้เรามีสติในการบริโภคอาหาร บริโภคแต่พอดี ละความติดในใจในรสอาหารได้ ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคอ้วน โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
“มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า อายุก็ยั่งยืน” (โทณปากสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)

• การกำหนดรู้เวทนา

เมื่อมีความรู้สึกสุข ทุกข์ รู้สึกเฉยๆ ก็ให้กำหนดสภาวธรรมเหล่านั้นไปตามเป็นจริง เพื่อให้เห็นธรรมชาติของเวทนา เช่น เวลาเรานั่งกรรมฐานนานๆ เราจะเริ่มรู้สึกปวดที่ขาหรือเข่า ยิ่งนานอาการปวดก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่เนื่องจากสมาธิของเรามากขึ้น จึงจดจ่ออยู่กับอาการนั้น จึงเห็นอาการปวดชัดเจนยิ่งขึ้น อาการปวดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนบางครั้งเราทนไม่ไหว
พระอาจารย์อู บัณฑิตาภิวงศ์ แห่งวัดบัณฑิตาราม เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้กล่าวถึงหลักปฏิบัติไว้ 3 ประการ ดังนี้คือ
1) เมื่ออาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้เราดูไปที่ศูนย์กลาง ของความเจ็บปวด ให้ดูตรงๆไปที่อาการปวด แล้วกำหนด ว่า ปวดหนอ ปวดหนอ ในที่สุดเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเวทนา อันเป็นสามัญลักษณะของมัน
2) เมื่อมีอาการปวดเกิดขึ้นมาก เราก็เข้าไปดูมัน แบบเล่นกับมัน แล้วผ่อนคลายเล็กน้อย เราเฝ้าดูมันด้วยสติและสมาธิแบบผิวเผิน ไม่จดจ่อ ไม่ต้องใช้คำพูดกำหนด ช่วย เข้าไปดูมัน พอทนไม่ไหวก็ถอยออกมา เข้าและออกสักสองหรือสามครั้ง ถ้ายังทนไม่ไหวก็ให้ใช้วิธีอื่นต่อไป
3) เมื่อเราปฏิบัติตามแบบที่สองแล้ว ยังทนปวดไม่ไหว ก็ให้เราเปลี่ยนมากำหนดที่หน้าท้อง ดูอาการพองและยุบที่หน้าท้อง ทำสมาธิให้มีกำลังขึ้น สมาธิเมื่อมีกำลังก็จะข่มเวทนาไว้ได้ เราก็จะหายจากอาการปวด โดยการพากเพียรกำหนดเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของมัน คือเวทนามีความไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้และบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการไม่ได้

• การกำหนดสภาวธรรมทางจิต
เมื่อมีอารมณ์อันใดเกิดขึ้นในจิต ผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนดรู้อารมณ์นั้น เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่าน ความเบื่อหน่าย ความขุ่นเคืองใจ ให้เรากำหนดรู้ไปตามจริง โดยไม่ต้องทำอะไรกับมัน เช่น เวลาฟุ้งซ่าน เราก็กำหนดว่า “ฟุ้งหนอ” เราจะไม่กำหนด ว่า “ไม่ฟุ้งหนอ” เพื่อให้ความฟุ้งซ่านหายไป ซึ่งเป็นการกำหนดที่ไม่ถูกต้อง เราเพียงแต่กำหนดให้ตรงกับความจริง ความฟุ้งซ่านจะหายไปเอง เมื่อเราปฏิบัติจนชำนาญ กำลังสติดีขึ้น
ท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี แห่งสำนักวิปัสสนา กรรมฐานวัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสอนว่า “ให้ดูแค่ดู รู้แค่รู้เท่านั้นพอ ไม่ต้องทำอะไร กิเลสจะเกิดการชำระกันเอง กิเลสจะลดลงทันที”
การกำหนดรู้สภาวธรรมทางจิตเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกิเลสเกิดขึ้นที่ใจและจะดับลงที่ใจเช่นกัน ในการกำหนดรู้แต่ละครั้ง จะเป็นการประหารกิเลสเป็นขณะๆ ที่เรียกว่า “ตทังคประหาร” ซึ่งจะทำให้กิเลสอ่อนกำลังลง ถึงแม้ว่าจะยังประหารกิเลสไม่ได้สิ้นเชิง เราก็สามารถนำมาใช้ปรับผ่อนจิตใจ ในเวลาที่เราเครียด โกรธ เราก็ใช้สติกำหนดรู้ ความเครียดความโกรธก็จะหายไป ทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ของเราได้ คือมีอีคิวดี หรือมีความฉลาดทางอารมณ์นั่นเอง

• การกำหนดรู้ทางทวารทั้งหก
ทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นช่องทางให้กิเลสหรืออารมณ์เกิดขึ้นในใจ เช่น เห็นรูปสวยก็เกิดความพอใจ เห็นรูปไม่สวยก็เกิดความไม่พอใจ ดังนั้นในเวลาที่เห็นรูป ท่านสอนให้เรามีสติกำหนดรู้สภาพการเห็น โดยกำหนดว่า “เห็นหนอ” ไม่เข้าไปรับรู้ว่าเป็นรูปคนหรือสัตว์ รูปสวยหรือไม่สวย ที่ท่านเรียกว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น เพื่อทำลายความยินดี พอใจและความไม่พอใจ ทางหูก็เช่นเดียวกัน เวลาได้ยินเสียงก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอ” ไม่เข้าไปรับรู้ว่าเสียงเพลงไพเราะหรือไม่ไพเราะ ทางจมูกทางลิ้น ทางกายและใจ ก็กำหนดเช่นเดียวกัน โดยกำหนดว่า ได้กลิ่นหนอ รู้รสหนอ ถูกหนอ และคิดหนอตามลำดับ
สำหรับความคิดให้กำหนดสภาพคิด ไม่เข้าไปในเรื่องราวหรือตัวบุคคล ผู้อ่านอาจจะยังไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติ จริง บางท่านอาจจะสงสัยว่า เวลาเห็นทีไรก็เป็นรูปสัตว์ บุคคลเสมอไป นึกไม่ออกว่ากำหนดสภาพเห็นเป็นอย่างไร เรื่องนี้จะต้องมีการฝึกฝนไปสักระยะหนึ่ง โดยฝึกให้ติดต่อกันในสถานที่ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไปหลายวันติดต่อกัน กำลังสติมากขึ้น สมาธิก็ลึกซึ้งขึ้น ก็จะสามารถกำหนดสภาพธรรม หรือที่เรียกว่า “สภาวะปรมัตถ์” ได้ ในระยะแรกก็อาศัยคำพูดช่วยไปก่อน หรือที่เรียกว่า “อาศัยบัญญัตินำ” เราจะต้องอุทิศเวลาปฏิบัติให้นานพอ อาศัยการดูแลของครูบาอาจารย์ ก็จะเข้าใจไปเอง เราไม่สามารถจะเข้าใจได้โดยการอ่านหนังสือหรืออาศัยทฤษฎีอย่างเดียว ต้องเข้าสนามรบคือ การปฏิบัติด้วยจึงจะเข้าใจดีขึ้น
ผู้เขียนได้กล่าวถึงหลักการปฏิบัติในการฝึกการเจริญสติ พอเป็นแนวทาง เมื่อเข้าใจดีแล้วก็สามารถนำไปใช้ ในการควบคุมอารมณ์ ทำให้เราสามารถนำมาบำบัดโรคต่างๆได้ โรคที่เกิดจากสาเหตุทางจิตใจ ต้องแก้ที่ใจ
นอกจากนั้นนักจิตวิทยายังได้นำหลักการเรื่องความฉลาดทางอารมณ์มาใช้ในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งในวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน คนจำนวนมากมีความเครียด เกิดความทุกข์ทางใจ ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของการฆ่าตัวตาย ฆ่าผู้อื่นตาย มีปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สำคัญเหมือนกันทั่วโลก

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น