xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยน่าห่วง!! สธ.สั่งทำแบบสำรวจต้นทุนชีวิตฉบับแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ทำแบบสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กวัยเรียนฉบับแรกของประเทศ เตรียมแจกจ่ายจังหวัดใช้เป็นเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยง ให้เด็กเติบโตอย่างมั่นคง ลดปัญหาสังคม หลังผลสำรวจล่าสุดปี 2550 พบเด็กอนุบาลมีไอคิว 110.67 จุด แต่พอโตขึ้นถึงวัยประถมไอคิวกลับลดลงเหลือ 97.31 จุด และพบปัญหาเด็กและเยาวชนก่อคดีความรุนแรงมากขึ้น

เช้าวันนี้ (4 มิ.ย.) ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กทม. นายมานิต นพอมรบดี เปิดการประชุมวิชาการ การพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ประจำปี 2552 เรื่อง “พลังพ่อแม่ พลิกวิกฤต สู่โอกาส” ซึ่งกรมสุขภาพจิตจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ระหว่างวันที่ 4–5 มิถุนายน 2552 เพื่อให้บุคลากรด้านสาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครองและเครือข่าย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความฉลาดทางปัญญาและอารมณ์ของเด็กไทย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายมานิต กล่าวว่า ผลสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยปี 2550 แม้โดยรวมจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2545 พบว่ามีแนวโน้มลดลงเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น โดยเด็กอนุบาลอายุ 3-5 ปี มีไอคิวเฉลี่ย 110.67 จุด แต่พอโตขึ้นในวัยประถมศึกษา อายุ 6-11 ปี กลับลดลงเหลือ 97.31 จุด และผลสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยล่าสุดในปี 2551 พบว่า เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมด้านร้ายสะสมมากขึ้น เช่น ตั้งครรภ์ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูลูก ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา มีเด็กกระทำผิดถูกส่งเข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กมากขึ้น จากประมาณ 40,000 รายในปี 2550 เป็น 42,102 รายในปี 2551 จากคดีลักทรัพย์ ยาเสพติด การทำร้ายร่างกาย เป็นส่วนใหญ่ และยังมีปัญหาเสพติดสื่อ เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต รวมทั้งมีความเครียดสูงและหนีเรียน ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ถูกกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจและสังคม อาจซ้ำเติมให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ได้ให้กรมสุขภาพจิตจัดทำแบบสำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กวัยเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยว่ามีมากน้อยเพียงใด มีส่วนใดที่ยังบกพร่องและต้องแก้ไข เครื่องมือดังกล่าวเป็นการทำงานเชิงรุก คือเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กวัยเรียนมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหามักใช้ลักษณะวัวหายล้อมคอก ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อใช้แบบสำรวจนี้ และนำข้อมูลไปวางกลยุทธ์ในการสร้างเสริมต้นทุนชีวิตที่ดีให้แก่เด็ก มั่นใจว่าจะสามารถยุติปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับเด็กและความรุนแรงทางสังคมได้

ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย เป็นเครื่องมือที่สะท้อนการมองคุณค่า หรือการมองเชิงบวกของเด็กแต่ละคน มี 5 ด้าน ได้แก่ 1.ตัวเอง 2.สังคม 3.ความสัมพันธ์ในครอบครัว 4.โรงเรียน และ 5.บริบททางสังคมไทยในปัจจุบันที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ จะสะท้อนถึงปัจจัยแง่มุมต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเด็ก ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีใช้แล้ว ในส่วนของไทย เครื่องมือนี้จะเป็นชิ้นแรกของประเทศ ที่จะทำให้สามารถนำข้อมูลมาใช้วางแผนในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ให้มีทั้งความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิว และความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว ทำให้เด็กมองโลกในแง่ดี มีความคิดถูกต้อง สามารถแก้ปัญหาให้หลุดพ้นจากความกดดัน ความบีบคั้นต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า เครื่องมือสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กที่พัฒนาขึ้น ลักษณะเป็นแบบสอบถาม ให้เด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี ตอบเอง แบ่งเป็นแบบสำรวจของเด็ก ป.1-ป.3 ซึ่งจะใช้คู่กับแผ่นภาพ และแบบสำรวจของเด็กชั้น ป.4-ป.6 มี 40 ข้อคำถาม จากการทดลองเก็บข้อมูลในปี 2551 ในกลุ่มเด็ก จำนวน 420 คน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ราชบุรี ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร พบว่า ต้นทุนชีวิตที่เด็ก ป.1-ป.3 ประเมินตัวเองว่ามีมากที่สุดคือ ครูและเพื่อนที่ใส่ใจดูแล ร้อยละ 61 การสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 61 และผู้ใหญ่เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญร้อยละ 60 ส่วนต้นทุนชีวิตที่เด็กคิดว่ามีน้อยที่สุด ได้แก่ ครอบครัวมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีเหตุผลและการติดตามจากครอบครัว ร้อยละ 47 การใช้เวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน ร้อยละ 54 เท่ากัน

ส่วนเด็ก ป.4-ป.6 ต้นทุนชีวิตที่มีมากที่สุด ร้อยละ 99 คือ การสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือด้านการเรียน และความซื่อสัตย์ ต้นทุนชีวิตที่มีน้อยที่สุด ได้แก่ การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 43 มีกิจกรรมสันทนาการนอกหลักสูตรมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 47 และได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการทั้งที่บ้านและชุมชน ร้อยละ 49

ขณะนี้ กรมสุขภาพจิตร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำไปใช้ในศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาไอคิว อีคิวของลูกใน 15 จังหวัด เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนพัฒนาเด็กของ อบต. โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้สนับสนุนการทำงาน ซึ่งพบว่าได้ผลดี และหลาย อบต.นำไปขยายผลใช้ในหลายพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น