xs
xsm
sm
md
lg

อโรคยาสถาน : ความฉลาดทางอารมณ์บำบัดโรค พุทธธรรมบำบัด (ตอนที่ 18)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา มีผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหลาย จึงแนะนำว่าการปฏิบัติเพื่อให้มีสุขภาพดีต้องมี 5 อ. คือ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อุจจาระ คือ ขับถ่ายดีทุกวัน และอารมณ์ คือ รักษาอารมณ์ให้ดี ไม่ให้เครียด ไม่ให้โกรธง่าย ไม่ให้เศร้าหมอง ท้อแท้
การควบคุมอารมณ์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพดีไม่เป็นโรค อารมณ์เครียด อารมณ์โกรธทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น โรคหัวใจกำเริบ ทำให้เราไม่มีความสุข อารมณ์โกรธทำให้เราตัดสินใจไม่ถูกต้อง ถ้าเราควบคุมอารมณ์ของเราไม่ได้ ก็อาจจะเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตาย ฆ่าผู้อื่นตายได้ ดังที่มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ ดังนั้นเราควรจะฝึกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ โซโลเวย์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า เราจะมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เราจะต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) กล่าวคือ เราจะต้องรู้จักอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง รู้จักสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง รู้จักการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ท่านผู้นี้ได้ร่วมกับ จอห์น เมเจอร์ ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ ได้วางรากฐานในเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ไว้ โดยกล่าวว่า คนที่จะมีความฉลาดทางอารมณ์จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า การรู้จักตนเอง(Self-Awareness) ซึ่งเขากล่าวว่า หมายถึง การรู้จักอารมณ์ของตนเองและความคิดที่ทำให้เกิดอารมณ์ กล่าวคือเวลามีอารมณ์เกิดขึ้นก็รู้ตัว ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า การมีสตินั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ถ้าเราศึกษาให้ดีจะพบว่า นักวิชาการทางจิตวิทยาสมัยใหม่พากันหันมาศึกษาเรื่องการเจริญสติในทางพุทธศาสนา และเขาได้นำเอาหลักการเจริญสติ (Mindfuless meditation) มาใช้ควบคุมอารมณ์นั่นเอง
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ในโสฬสปัญหาว่า “กระแสทั้งหลายเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องห้ามกระแสทั้งหลายเหล่านั้น เรากล่าวบอกว่า กระแสทั้งหลายเท่านั้นจะปิด คือ ละเสียได้ด้วยปัญญา” พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า อารมณ์ต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีธรรมชาติตั้งอยู่แล้วต้องดับไป ถ้าเราฝึกสติให้มี กำลัง ก็จะเห็นการเกิดขึ้นและการดับไปของอารมณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้เราควบคุมอารมณ์ได้ เราจึงใช้สติเป็นเครื่องมือในการควบคุมอารมณ์
คำว่า “กระแส” ในที่นี้หมายถึง กระแสกิเลสหรือกระแสอารมณ์นั่นเอง พระพุทธองค์สอนให้เราใช้สติเข้าไปกำหนดรู้เวลามีอารมณ์เกิดขึ้น ทรงสอนวิธีการเจริญสติปัฏฐาน 4 คือ สอนให้เจริญสติในฐานทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ดังนั้น เราควรจะเรียนรู้เรื่องของการเจริญสติ เพื่อนำไปใช้ควบคุมอารมณ์ ในเวลาที่เราเกิดอารมณ์เครียด อารมณ์โกรธ ซึ่งจะทำให้เรามีสุขภาพดี ไม่เป็นโรค ซึ่งเป็นการบำบัดทางจิตวิญญาณ (Spiritual Healing) และกำลังได้รับความสนใจจากแพทย์และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วโลก ในที่นี้จะพูดถึงวิธีการปฏิบัติโดยย่อพอให้เข้าใจ และเห็นความแตกต่างจากการฝึก สมาธิ

• สติปัฏฐานคืออะไร
การเจริญสติปัฏฐาน 4 หมายถึง การมีสติระลึกรู้ อยู่ในอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางกายและจิตตามความเป็นจริง ทางกาย เช่น อิริยาบถต่างๆ การเคลื่อนไหวของร่างกาย การยืน เดิน นั่ง นอน หรือลมหายใจเข้า ออก ที่กระทบจมูกหรือหน้าท้องพองยุบเวลาหายใจ เป็นต้น ทางจิต เช่น ความรู้สึกต่างๆ เช่น สุข ทุกข์ ความรู้สึก เฉยๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นในจิต รวมถึงการรับรู้ทางตา การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัสทางกาย และการนึกคิดทางใจ
การเจริญสติปัฏฐาน แบ่งเป็น 4 อย่าง คือ
1) กายานุปัสสนา การมีสติตามรู้ในกาย ซึ่งมี 6 หมวด การตามรู้ลมหายใจ การตามรู้อิริยาบถใหญ่ เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน การตามรู้อิริยาบถย่อย เช่น การคู้ การเหยียด การรับประทานอาหาร เคี้ยว ดื่ม อุจจาระ ปัสสาวะ อาบน้ำ สวมเสื้อผ้า เป็นต้น การตามรู้อาการ 32 การตามรู้ร่างกายโดยความเป็นธาตุทั้ง 4 การพิจารณาซากศพ เป็นต้น
2) เวทนานุปัสสนา การมีสติตามรู้ความรู้สึก 3ประเภท คือ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึก วางเฉย
3) จิตตานุปัสสนา การมีสติตามรู้อาการในจิต 16 ประการ คือ จิตมีราคะ จิตหายราคะ จิตมีโทสะ จิตหายโทสะ จิตมีโมหะ จิตหายโมหะ จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นสมาธิ จิตไม่เป็นสมาธิ เป็นต้น
4) ธรรมานุปัสสนา การมีสติตามรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นทางกายและจิต มี 5 หมวด คือ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4

• หลักในการกำหนดรู้
ผู้ปฏิบัติจะต้องจำเอาไว้เสมอว่า ในการกำหนดรู้นั้นจะต้องอาศัยหลัก 2 ประการด้วยกัน คือ
1) การกำหนดรู้ให้ตรงกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เช่น เวลารู้สึกโกรธ ก็ให้กำหนดอาการโกรธที่เกิดขึ้น อาจจะใช้คำพูดว่า โกรธหนอ บางท่านก็กำหนดว่า ไม่โกรธหนอ เพื่อให้ความโกรธหายไป ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความเป็นจริง ต้องจำไว้เสมอว่าการกำหนดสภาวธรรมทางกายและจิต ต้องกำหนดไปตามความเป็นจริงเสมอ
2) กำหนดรู้ด้วยอาการวางเฉย (Bare attention)การกำหนดรู้อารมณ์ต่างๆ ทั้งอารมณ์ที่น่าพอใจ และอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ให้กำหนดรู้แล้ววางเฉย ไม่เข้าไปชื่นชมยินดี หรือผลักไสไม่พอใจ เปรียบเหมือนเรากำลังดูละครทางทีวี มีตัวดี ตัวร้าย เราก็ดูไปเฉยๆ ไม่เข้าไป ชอบนางเอก เกลียดนางร้าย จะต้องจำไว้เสมอว่า การเจริญสติ ต้องเป็นไปเพื่อตัดความยินดี ยินร้าย จึงจะเป็นหนทางที่ถูกต้อง
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากธรรมลีลา ฉบับ 104 กรกฎาคม 52 โดยนพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น