xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ทำงานอย่างไร จึงจะได้ความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะในสภาพการทำงานที่มีความหมายแบบตะวันตก ได้มีคำพูดสำคัญคำหนึ่งมาเข้าคู่กับการทำงาน ยิ่งถ้าไม่มีความบากบั่นสู้งาน ที่เป็น แรงจูงใจที่ถูกต้องในการทำงานแบบตะวันตกด้วยแล้ว ก็จะมีปัญหาอย่างมาก กล่าวคือ งานนั้นจะเป็นสิ่งที่คู่กับความเครียด
ความเครียดนี้ กำลังเป็นปัญหาสำคัญของอารยธรรม ของมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน ในสังคมตะวันตกปัจจุบันนี้คนยังมีนิสัยสู้งาน ที่ได้สะสมมาตั้งแต่อดีต ยังติดยังฝังอยู่ แต่มาในระยะหลังๆนี้ ความใฝ่ในการบริโภคก็มากขึ้น ส่วนในสังคมไทยของเรานี้มีผู้กล่าวว่ามีค่านิยมบริโภคมาก ไม่ค่อยมีค่านิยมผลิต จึงจะยิ่งมีปัญหาหนักกว่าเขาอีก เพราะค่านิยมบริโภคจะขัดแย้งกับกระบวน การทำงาน เนื่องจากการทำงานต้องการความอดทน ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก ยิ่งเมื่อไม่มีนิสัยสู้งานเป็นพื้นฐานรองรับอยู่ด้วย คนที่นิยมบริโภคจะไม่สามารถทนได้ จะจำใจทำ ทำด้วยความฝืนใจ จะรอคอยแต่เวลาที่จะได้บริโภค ความต้องการก็ขัดแย้งกัน และเมื่อความต้องการ ขัดแย้งกัน ก็เกิดภาวะที่เรียกว่า “เครียด” ทำงานด้วยความเครียด
คนที่มีค่านิยมบริโภคมาก เมื่อต้องทำงานมากก็ยิ่งเครียดมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องการผลตอบแทนทางวัตถุ ทำงานไปก็ทำด้วยความกระวนกระวาย เกิดความขัดแย้งในจิตใจ มีความกังวลว่าผลตอบแทนที่เราต้องการ จะได้หรือเปล่า จะได้น้อยกว่าที่ตั้งความหวังหรือเปล่า หรือว่าเราอาจจะถูกแย่งผลตอบแทนไป หรือถูกแย่งตำแหน่งฐานะไป ความห่วงกังวลต่างๆนี้ทำให้เกิดความ เครียด ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตใจที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อจุดหมายของคนกับจุดหมายของงานมีความลักลั่นขัดแย้งกัน เช่น งานเสร็จเงินยังไม่มา หรือว่าตำแหน่งยังไม่ได้ ล้วนแต่ทำให้เกิดปัญหาและทำให้เกิดความเครียดได้ทั้งสิ้น และปัญหาเหล่านี้รวมทั้งความเครียดนั้น ก็เกิดจากแรงจูงใจประเภทที่หนึ่งที่เรียกว่า “ตัณหามานะ” โดยเฉพาะค่านิยมบริโภค และค่านิยมโก้หรูหรา ซึ่งกำลังแพร่ หลายอยู่ในสังคมของเรา และบางทีก็ถึงกับมองกันว่าเป็น เรื่องที่ดี
ส่วนแรงจูงใจที่ถูกธรรม คือทำงานด้วยใจที่ใฝ่สร้าง สรรค์ มองงานเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตน ต้องการพัฒนาประเทศชาติ หรือทำประโยชน์แก่สังคม ต้องการผลสำเร็จของงาน หรือทำงานเพื่อจุดหมายของงานแท้ๆ แม้แต่คนที่ทำงานด้วยแรงจูงใจแบบนี้ก็สามารถมีความ เครียดได้ เพราะมีความเร่งรัดอยากจะรีบร้อนทำ และมีความห่วงกังวลเกรงงานจะไม่เสร็จ จิตใจก็ไม่สบาย จึงมีความเครียดได้เหมือนกัน ต่างแต่ว่าจะเป็นความเครียดที่เบากว่าและประณีตกว่า
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่มีแรงจูงใจไม่ดีก็ตาม มีแรงจูงใจที่ดีก็ตาม ก็ยังมีความเครียดได้ มีปัญหาได้ทั้ง นั้น นี้ก็เป็นระดับหนึ่งของสภาพชีวิตจิตใจ ซึ่งเราสามารถแยกความแตกต่างได้ว่า ในฝ่ายหนึ่ง แรงจูงใจเพื่อจุดหมายของคน ซึ่งมุ่งเอาประโยชน์ส่วนตนด้วยตัณหามานะ มีโทษต่อสังคมและต่อชีวิตมาก ส่วนฝ่ายที่สองแรงจูงใจเพื่อจุดหมายของงาน มีคุณค่ามาก มีประโยชน์ ต่อสังคมมาก พัฒนาชีวิตคนได้ดี แต่ก็ยังมีปัญหาได้เหมือนกัน
ตกลงทั้งสองอย่างยังมีปัญหาอยู่ ยังต้องแก้ไขกันต่อไป ทำอย่างไรจะแก้ไขให้การทำงานมีส่วนที่เป็นคุณอย่างเดียว เป็นประโยชน์แก่ชีวิตโดยสมบูรณ์ อันนี้เป็นขั้นต่อไป
ต่อไปก็มาถึงขั้นที่ว่า ทั้งทำงานดีและมีความสุขด้วย ซึ่งจะต้องมีการตั้งท่าทีที่ถูกต้อง และตอนนี้จะเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาควบคู่ไปกับการทำงาน เมื่อกี้นี้เราเอางานมาพัฒนาชีวิตจิตใจของเรา แต่อีกด้านหนึ่งในการทำงานนั้น เราจะต้องพัฒนาชีวิตจิตใจของเราไปด้วย เพื่อเอาชีวิตจิตใจที่ดีไปพัฒนาการทำงาน การทำงานที่จะให้ได้ทั้งผลดีและมีความสุขด้วยนั้น มีอะไรหลายแง่ที่จะต้องพิจารณา
แง่ที่หนึ่งก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้คือ ในการที่จะให้เกิดผลดีต่อชีวิตและสังคม เราก็ต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ต้องการจุดหมายของงาน มีฉันทะ มีความใฝ่ดี มีความใฝ่สร้าง สรรค์ และพร้อมกับการมีฉันทะนั้น ก็ต้องมีความรู้เท่าทันความจริง อันนี้เป็นเรื่องของปัญญา รู้เท่าทันความจริง อย่างน้อยรู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยเพียงตั้งท่าทีของจิตใจแบบรู้เท่าทันขึ้นมาแค่นี้เท่านั้น เราก็จะเริ่มมีความสุขง่ายขึ้นทันที เราจะมองดูสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่มองเห็นถูกต้องมากขึ้น
แม้แต่ในการทำงานของเรา ในขณะที่เรากำลังเร่งงานเต็มที่ ขยันเอาใจใส่เต็มที่ เรากลับจะมีความกระวนกระวายน้อยลง หรือทำงานด้วยความไม่กระวนกระวาย คือ มีความรู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขณะนี้เรากำลังทำเหตุปัจจัย เราก็ทำเหตุปัจจัยของเราให้เต็มที่ ส่วนผลนั้นมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย พอวาง ใจอย่างนี้ก็สบายไม่ต้องห่วงกังวลกับผล เราทำเหตุของเราให้ดีก็แล้วกัน
อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง กล่าวคือ ควบคู่กับแรงจูงใจที่ถูกต้องหรือฉันทะนั้น ก็ให้มีการรู้เท่าทันความจริงด้วย อย่างน้อยให้ทำใจว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย มองตามเหตุปัจจัย ข้อนี้เป็นท่าทีพื้นฐานตามหลักธรรมที่ว่า ให้มองสิ่งทั้งหลายว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นการทำใจขั้นที่หนึ่ง
ต่อไปแง่ที่สองก็คือ เวลาทำงานเรามักมีความรู้สึกแบ่งแยกหรือแยกตัวออกไปว่า นี่ตัวเรา นี่ชีวิตของเรานั่นงาน เราจะต้องทำงาน ตลอดจนรู้สึกว่างานเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยต้องตรากตรำ ไม่มองว่างานนี้แหละเป็นเนื้อแท้ เป็นเนื้อเป็นตัวของชีวิต
ที่จริงนั้น งานไม่ใช่สิ่งต่างหากจากชีวิต งานที่เราบอกว่าเป็นกิจกรรมของชีวิตนั้น ที่จริงมันเป็นตัวการดำเนินชีวิตของเราเลยทีเดียว ในชีวิตของเราที่เป็นไปอยู่ นี้ งานนั่นเองคือความเป็นไปของชีวิต เพราะฉะนั้น การทำงานจึงเป็นเนื้อหาหรือเนื้อตัวของชีวิตของเราเอง
เมื่อทำงานเราอย่าไปมีความรู้สึกแยกว่า นั่นเป็นงานเป็นกิจกรรมต่างหากจากชีวิตของเรา การที่มีความรู้สึกว่า เราจะต้องไปเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ หรือว่ามันเป็นเรื่องหนัก เรื่องทนที่เราจะต้องทำงานต่อไป รอหน่อยเถอะ เราทำงานเสร็จแล้วจะได้ไปหาเวลาพักผ่อน ความนึกคิดอย่างนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก และเกิดความรู้สึกที่ครุ่นคิดเหมือนถูกกดถูกทับอยู่ อยากจะพ้นไปเสีย เกิดความเครียด เกิดความกังวล เกิดความห่วง เกิดความหวัง
ในเบื้องต้น คนเราต้องอยู่ด้วยความหวัง แต่พอถึงขั้นหนึ่งแล้วไม่ต้องหวัง เพราะความหวังสำเร็จจบสิ้นอยู่ในตัว ตอนนี้จะมีความสุขยิ่งกว่าตอนแรกที่มีความหวัง
คนที่ไม่มีความหวังเลย จะมีความทุกข์มาก ในขั้นต่อมาเขาจึงมีความสุขด้วยการที่จะมีความหวัง เขามีความหวังว่า หลังจากนี้แล้ว เขาจะได้จะพบสิ่งที่ปรารถนา แล้วเขาก็จะหาความสุขได้ จะสบาย เขามีความหวังอย่างนี้ และเขาก็มีความสุข แต่ความหวังนั้น เป็นคู่กันกับความห่วงและความกังวล ดังนั้น พร้อมกับการมีความสุขด้วยความหวังนั้น เขาก็มีความกังวล และเป็นความทุกข์อย่างหนึ่งที่ต้องรอความหวัง
ส่วนคนอีกชนิดหนึ่งนั้นอยู่เหนือความหวัง หรือลอยพ้นเลยความหวังไปแล้ว คือไม่ต้องอยู่ด้วยความหวัง ไม่ต้องอาศัยความสุขจากความหวัง หรือว่าความสุขของเขาไม่ต้องขึ้นต่อความหวัง เพราะชีวิตเป็นความสุขตลอดเวลา โดยไม่ต้องหวังเลย และไม่ต้องห่วงกังวล
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำงานให้ได้ผลดีโดยที่ว่าชีวิตก็มีความสุข และงานก็ได้ผลดีด้วย ก็ควรจะมาให้ถึงขั้นนี้คือขั้นที่ว่า มองงานกับชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มองว่างานเป็นกิจกรรมที่เป็นเนื้อเป็นตัวของชีวิตแท้ๆ แล้วเราก็ทำงานไปอย่างที่รู้สึกว่ามันเป็นการดำเนินชีวิตของเราเอง และดำเนินชีวิตนั้นให้ดีที่สุด
ต่อไปอีกด้านหนึ่งก็คือ เมื่อเราทำงานไป ไม่ว่าจะมองในความหมายว่าเป็นการพัฒนาตนเองก็ตาม เป็น การทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนหรือของสังคมก็ตาม ในเวลาที่ทำอยู่นั้น สภาพจิตใจอย่างหนึ่งที่ควรเกิดขึ้น ก็คือความร่าเริงบันเทิงใจ ความเบิกบานใจ การทำงานในความหมายบางอย่างก็เอื้อต่อการเกิดสภาพจิตอย่างนี้อยู่แล้ว เช่น ถ้าเราศรัทธาในความหมายของงาน ในคุณค่าของงาน เราทำงานไปก็ทำจิตใจของเราให้ร่าเริงได้ง่าย แต่การที่จะให้ร่าเริงนั้น บางทีก็ต้องทำตัวทำใจเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นมาเฉยๆ เราต้องตั้งท่าทีของจิตใจให้ถูกต้อง บอกตัวเอง เร้าใจตัวเองให้ร่าเริงทำใจให้ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ สภาพจิตอย่างนี้ทางพระเรียกว่า มีปราโมทย์
ทางพระบอกว่า สภาพจิตที่ดีของคนนั้น ก็คือ
หนึ่ง มีปราโมทย์ มีความร่าเริงเบิกบานใจ สอง มีปีติ ความอิ่มใจ สาม มีปัสสิทธิ ความผ่อนคลายหรือสงบเย็น เมื่อผ่อนคลายก็ไม่เครียด ข้อที่สามนี้มีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน เป็นข้อที่จะช่วยแก้ปัญหาสภาพจิต ตามแบบวัฒนธรรมสมัยใหม่ของยุคอุตสาหกรรม พอมีปัสสัทธิแล้ว สี่ ก็มีความสุข จิตใจก็คล่องสบาย แล้วก็ ห้า มี สมาธิ อยู่ตัว แน่วแน่ แนบสนิท และมั่นคงไม่วอกแวกไม่ ฟุ้งซ่าน ไม่หวั่นไหว เรียบ สม่ำเสมออยู่กับกิจ อยู่กับงาน เหมือนดังกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน ซึ่งหมายถึงว่า สมาธิในการทำงานก็เกิดขึ้นด้วย
องค์ประกอบห้าตัวนี้เป็นสภาพจิตของคนที่ปฏิบัติธรรม ดังนั้น ในการเป็นอยู่และในการทำกิจกรรมทุกอย่าง เราจึงปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น เมื่อเราดำเนินชีวิตถูก ต้อง ทำสิ่งนั้นๆ ได้ถูกต้อง เรามีสภาพจิตทั้งห้าอย่างนี้ก็เรียกว่า เรากำลังปฏิบัติธรรมตลอดเวลา
หลายคนไปมองการปฏิบัติธรรมแยกจากชีวิตออกไป ต้องรอไปเข้าป่า ไปอยู่วัด ซึ่งไม่จำเป็น การปฏิบัติธรรมอย่างนั้นอาจเป็น course แบบ intensive แต่ในปัจจุบันคือทุกขณะนี้ เราต้องปฏิบัติธรรมตลอดเวลา ถ้าท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ตลอดเวลาแล้ว การปฏิบัติอย่างที่เรียกว่า intensive course ก็ไม่จำเป็น สำหรับบางคนจำเป็น เพราะเขาไม่เคยฝึกตนเลย
ทีนี้ ถ้าเราฝึกตัวเองตลอดเวลาด้วยการทำงานแบบนี้ เราก็ปฏิบัติธรรมตลอดเวลาอยู่แล้ว เราทำงานไป โดยมีสภาพจิตใจดี สภาพจิตแบบนี้จะไม่มีปัญหาสุขภาพจิตเลย เพราะมันเป็นสุขภาพจิตเองอยู่แล้วในตัว เป็นสุขภาพจิตที่ดีโดยสมบูรณ์
ขอให้มีปราโมทย์ ให้มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสุข มีสมาธิเถิด ถ้าทำอย่างนี้แล้วสบาย งานก็ได้ผลด้วย จิตใจก็ดีด้วย ถ้าทำงานอย่างนี้ก็กลายเป็นทำงานเพื่อธรรมแล้ว และคนอย่างนี้จะไม่ค่อยคำนึงถึงผลตอบแทน ไม่ต้องรอความสุขจากผลตอบแทน คนที่มุ่งผลตอบแทนก็ต้องรอว่า เมื่อไรเขาได้ผลตอบแทนเป็นเงินเป็นทองแล้วจึงจะมีความสุขได้ ระหว่างนั้นก็ทุกข์แทบตาย ทำงานด้วยความทุกข์และรอความสุขอยู่เรื่อยไป จะได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ แต่การปฏิบัติอย่างนี้ได้ทั้งงานได้ทั้งความสุขเสร็จไปในตัว
ทีนี้ พอถึงขั้นทำงานอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหวังไม่ต้องห่วงผลตอบแทนแล้ว เราทำงานไป ชีวิตแต่ละขณะก็จะเป็นความเต็มสมบูรณ์ของชีวิตในทุกขณะนั้นๆ ตอนนี้แหละจะถึงจุดรวมที่ทุกอย่างมาอยู่ด้วยกัน ทั้งงาน ทั้งชีวิต และความสุข จะสำเร็จในแต่ละขณะ
ตรงนี้แหละเป็นหัวใจสำคัญ ในตอนแรกนั้นเป็นเหมือนว่าเราแยกงาน แยกชีวิต แยกความสุขเป็นส่วนๆ แต่พอถึงตอนนี้ ทำไปทำมาทุกอย่างมารวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด ในขณะเดียว
ตราบใดเรายังแยกเป็นส่วนๆ และแยกตามเวลา ตราบนั้นชีวิตจะต้องดิ้นรนคอยหาและหลบหนีสิ่งเหล่านั้นทีละอย่างๆ อยู่ตลอดเวลา คือ เป็นชีวิตที่ตามหาวัน พรุ่งนี้ ซึ่งไม่มาถึงสักที แต่ถ้าทำให้เป็นปัจจุบันเสีย ทุกเวลาก็ครบถ้วนอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างก็สมบูรณ์

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม’)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)
กำลังโหลดความคิดเห็น