xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : 4 วิธีง่ายๆ ที่ทำให้อายุยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การที่จะมีพลังอายุเข้มแข็ง ทำได้อย่างไร ก็ต้องมีวิธีปฏิบัติ และวิธีทำก็มี...หลายอย่าง หลักอย่างหนึ่งทางพระบอกไว้ว่า จะทำให้ มีอายุยืน การที่จะมีอายุยืนก็เพราะมีพลังชีวิตเข้มแข็ง เริ่มด้วย
๑. มีความใฝ่ปรารถนา หมายถึงความใฝ่ปรารถนาที่จะทำอะไรที่ดีงาม คนเรานั้น ชีวิตจะมีพลังที่เข้มแข็งได้ ต้องมีความใฝ่ปรารถนาที่จะทำอะไรบางอย่าง
ถ้าเรามีความปรารถนาที่จะทำอะไรที่ดีงาม หรือคิดว่าสิ่งนี้ดีงามเราจะต้องทำ ฉันจะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ ความใฝ่ปรารถนานี้จะทำให้ชีวิตเข้มแข็งขึ้นมาทันที พลังชีวิตจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ในสมัยโบราณ เขาจึงมีวิธีการคล้ายๆ เป็นอุบายให้คนแก่หรือท่านผู้เฒ่าชรา มีอะไรสักอย่างที่มุ่งหมายไว้ในใจว่า ฉันอยากจะทำนั่นทำนี่ และมักจะไปเอาที่บุญกุศล อย่างเช่น ในสมัยก่อนยังไม่มีพระพุทธรูปมากเหมือนในสมัยนี้ ท่านมักจะบอกว่าต้องสร้าง พระ แล้วใจก็ไปคิดอยู่กับความปรถนาที่จะสร้างพระนั้น
หรือว่าญาติโยมคิดจะทำอะไรที่ดีๆงามๆ แม้แต่เกี่ยวกับลูกหลานว่า จะทำให้เขามีความเจริญก้าวหน้า จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้ได้
ใจที่ใฝ่ปรารถนาจะทำสิ่งที่ดีงามนั้น จะทำให้ชีวิตมีพลังขึ้นมาทันที นี้เป็นตัวที่หนึ่ง เรียกว่า “ฉันทะ” คือความใฝ่ปรารถนาที่จะทำอะไรสักอย่างที่ดีงาม ซึ่งควรจะให้เข้มแข็งหนักแน่นจนกระทั่งว่า ถ้านึกว่าสิ่งนั้นดีงามควรจะทำแท้ๆ อาจจะบอกกับใจของตัวเองว่า ถ้างานนี้ยังไม่เสร็จ ฉันตายไม่ได้ ต้องให้แรงอย่างนั้น
ถ้ามีใจใฝ่ปรารถนาจะทำอะไรที่ดีงามแรงกล้า แล้วมันจะเป็นพลังที่ใหญ่เป็นที่หนึ่ง เป็นตัวปรุงแต่งชีวิต เรียกว่าอายุสังขาร
เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า แม้จะทรงพระชรา เมื่อยังทรงมีอะไรที่จะกระทำ เช่นว่าทรงมีพระประสงค์จะบำเพ็ญพุทธกิจ ก็จะดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป ตอนที่ปลงอายุสังขาร ก็คือทรงวางแล้ว ไม่ปรุงแต่งอายุต่อแล้ว
“อายุสังขาร” แปลว่า เครื่องปรุงแต่งอายุ คือ หาเครื่องช่วยมาทำให้อายุมีพลังเข้มแข็งต่อไป ว่าฉันจะต้องทำโน่นต้องทำนี่อยู่อย่างนี้ละก็อยู่ได้ต่อไป
ข้อที่ ๑ นี้สำคัญไฉน ขอให้ดูเถิด พระ- พุทธเจ้าพอตกลงว่าพระพุทธศาสนามั่นคงพอแล้ว พุทธบริษัท ๔ เข้มแข็งพอแล้ว เขารับมอบภาระได้แล้ว พระองค์ก็ทรงปลงอายุสังขาร บอกว่าพอแล้ว พระองค์ก็เลยประกาศว่า จะปรินิพพานเมื่อนั้นเมื่อนี้
หลักข้อนี้ใช้ได้กับทุกคน ข้อที่ ๑ คือ ต้องมีใจใฝ่ปรารถนาที่จะทำอะไรที่ดีงาม แล้วตั้งมั่นไว้ แต่มองให้ชัดว่า อันนี้ดีแน่ และคิดจะทำจริงๆ
๒. พอมีใจใฝ่ปรารถนาจะทำสิ่งที่ดีงามนั้นแล้ว ก็มุ่งหน้าไป คือ มุ่งที่จุดเดียวนั้น เดินหน้าต่อไปในการเพียรพยายามทำสิ่งนั้น ก็ยิ่งมีพลังแรงมากขึ้น ความเพียรพยายามมุ่งหน้าก้าวไปนี้เป็นพลังที่สำคัญ ซึ่งจะไปประสานสอดรับกับข้อที่ ๓
๓. ใจแน่วอยู่กับสิ่งที่อยากทำนั้น เมื่อแน่วแล้วก็จดจ่อ จนอาจจะถึงขั้นที่เรียกว่าอุทิศตัวอุทิศใจให้
คนแก่หรือคนที่มีอายุมากนั้น ถ้าไม่มีอะไรจะทำ
๑) มักจะนั่งคิดถึงความหลังหรือเรื่องเก่า
๒) รับกระทบอารมณ์ต่างๆ ลูกหลานทำโน่นทำนี่ ถูกหูถูกตาบ้าง ขัดหูขัดตาบ้าง ก็มักเก็บมาเป็นอารมณ์ ทีนี้ก็บ่นเรื่อยไป ใจคอก็อาจจะเศร้าหมอง
แต่ถ้ามีอะไรจะทำชัดเจน ใจก็จะไปอยู่ที่นั่น คราวนี้ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเข้ามา หรือมีอารมณ์ มากระทบ ก็ไม่รับ หรือเข้ามาเดี๋ยวเดียวก็ผ่านหมด ทีนี้ก็สบาย เพราะใจไปอยู่กับบุญกุศล หรือความดีที่จะทำนี้ คือได้ข้อ ๓ แล้ว ใจจะแน่ว ตัดอารมณ์กระทบออกไปหมดเลย
คนที่มีอายุสูง มักจะมีปัญหานี้ คือ รับอารมณ์กระทบที่เข้ามาทางตา ทางหู จากลูกหลานหรือคนใกล้เคียงนั่นแหละ แต่ถ้าทำได้อย่างที่ว่ามานี้ ก็สบาย ตัดทุกข์ ตัดกังวล ตัดเรื่องหงุดหงิดไปหมด
๔. ใช้ปัญญา เมื่อมีอะไรที่จะต้องทำแล้ว และใจก็อยู่ที่นั่น คราวนี้ก็คิดว่าจะต้องทำอย่างไร มันบกพร่องตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร ก็วางแผน คิดด้วยปัญญา ตอนนี้คิดเชิงปัญญา ไม่คิดเชิงอารมณ์แล้ว เรียกว่า ไม่คิดแบบปรุงแต่ง แต่คิดด้วยปัญญา คิดหาเหตุหาผล คิดวางแผน คิดแก้ไข คิดปรับปรุงโดยใช้ปัญญาพิจารณา สมองก็ไม่ฝ่อ เพราะความคิดเดินอยู่เรื่อย
สี่ข้อนี้แหละ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว บางทีเราก็ไม่ได้คิดว่า ธรรม ๔ ข้อนี้จะทำให้อายุยืน เพราะไม่รู้จักว่ามันเป็นเครื่องปรุงแต่งชีวิต หรือปรุงแต่งอายุ ที่เรียกว่า อายุสังขาร
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ถ้ามีธรรม ๔ ประการนี้แล้ว อยู่ไปได้จนอายุขัยเลย หมาย ความว่า อายุขัยของคนเราในช่วงแต่ละยุคๆนั้นสั้นยาวไม่เท่ากัน ยุคนี้ถือว่าอายุขัย ๑๐๐ ปีเราก็อยู่ไปให้ได้ ๑๐๐ ปี ถ้าวางใจจัดการชีวิต ได้ถูกต้องแล้วและวางไว้ให้ดี ก็อยู่ได้
ธรรม ๔ ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อิทธิบาท ๔ ทีนี้ก็บอกภาษาพระให้ คือ
๑. ฉันทะ ความใฝ่ปรารถนาที่จะทำ คือ ความอยากจะทำนั่นเอง เป็นจุดเริ่มว่าต้องมีอะไรที่อยากจะทำ ที่ดีงามและชัดเจน
๒. วิริยะ ความมีใจเข้มแข็งแกร่งกล้า มุ่งหน้าพยายามทำไป
๓. จิตตะ ความมีใจแน่ว จดจ่อ อุทิศตัว ต่อสิ่งนั้น
๔. วิมังสา การไตร่ตรองพิจารณา ใช้ปัญญา ใคร่ครวญในการที่จะปรับปรุงแก้ไข ทำให้ดียิ่งขึ้นไป จนกว่าจะสมบูรณ์
สี่ข้อนี้เป็นหลักความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ ถ้าญาติโยมที่สูงอายุนำไปใช้ก็จะ เป็นประโยชน์อย่างมากและรับรองผลได้มาก วันนี้จึงยกหลักธรรมนี้ขึ้นมา
แม้แต่ลูกหลาน หรือท่านที่อายุยังไม่สูง ก็ใช้ประโยชน์ได้ และควรเอาไปช่วยท่านผู้ใหญ่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายด้วย

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือเพิ่มพลังแห่งชีวิต)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดยพระพรหมคุณาภรณ์ วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)
กำลังโหลดความคิดเห็น