xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ทำความดีขนาดไหน จึงจะได้เป็น "บารมี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ว่าถึงการทำบุญนี้ แยกได้เป็นหลายระดับ คือในขั้นต้นๆนี้เราอาจจะทำพอเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป เช่นว่าในการบำเพ็ญทานเราก็อาจจะแบ่งปันบริจาค บำรุงต่างๆ พอเป็นพื้นฐานสำหรับความมั่นคงงอกงามของการรักษาศีลและสำหรับการบำเพ็ญภาวนา หรือในการรักษาศีลก็รักษาพอเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ในสังคมที่ดีงาม สูงขึ้นไปก็เป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญสมาธิอะไรต่างๆเหล่านี้ เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลทำความดีในขั้นพื้นฐาน สำหรับการก้าวไปสู่ธรรมะขั้นสูงขึ้นไป
อีกระดับหนึ่งบางทีเราอาจจะอยากปฏิบัติให้ยิ่งกว่านั้นจึงมีการทำดี ในขั้นเป็น “บารมี” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจขั้นหนึ่ง คือบางท่านไม่ได้คิดแต่เพียงว่า ทำบุญ หรือทำความดีเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น แต่อยากจะทำให้เป็นบารมี ซึ่งเป็นคำสำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ใดต้องการจะทำ ความดีให้ยวดยิ่งให้เป็นพิเศษก็ทำให้ถึงขั้นเป็นบารมี
ในขั้นบารมี ถามว่าบารมีเป็นอย่างไร คำว่า “บารมี” นั้นก็คล้ายๆ กับคำที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ เราเคยได้ยินคำ ที่พูดว่า “บรม” หรือ “ปรม” คำว่าบรมหรือปรมนี้เป็นคำชุดเดียวกับบารมี และคำว่าบารมีนั้น ก็มาจากคำว่าบรมหรือปรมนั่นเอง
บรมหรือปรมแปลว่าอย่างยิ่ง เช่นบรมสุข ก็แปลว่าความสุขอย่างยิ่ง หรือเราเรียกบุคคลที่สูงสุด อย่างที่นำมาใช้กับสมเด็จพระราชินี ก็เรียกพระบรมราชินี ใช้กับบุคคลก็ตาม ใช้กับอะไรก็ตาม ก็ใช้ในระดับสูงอย่างยิ่ง หรือสูงสุด
คำว่าบรม ก็มาเป็นบารมี “บารมี ก็คือธรรมะ หรือคุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อจะบรรลุจุดหมายที่สูงส่ง” จะเห็นว่าเป็นเรื่องสูงทั้งนั้น การปฏิบัติและคุณธรรมที่ปฏิบัตินั้น ก็บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด และบำเพ็ญไปก็มีจุดหมายที่จะบรรลุถึงสิ่งที่ดีงามสูงสุด เช่นเพื่อจะเป็น พระพุทธเจ้า
ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้ แต่ก่อนก็เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งได้บำเพ็ญธรรมะต่างๆ ธรรมะที่พระองค์บำเพ็ญนั้นมีจุดหมายสูงยิ่งว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เลยบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เหนือกว่าที่คนธรรมดาจะทำได้ จึงเรียกว่าเป็น “บารมี”

• บารมีทำได้หลายอย่าง และมีหลายขั้น
ธรรมะต่างๆที่สามารถจะบำเพ็ญให้เป็นบารมีได้ก็มีมาก อย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้ ต้องบำเพ็ญคุณธรรมสำคัญที่เป็นหลักถึง 10 ประการ ขอยกเอาแต่ชื่อธรรม นั้นๆ พอให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าของเราบำเพ็ญบารมีอะไร บ้าง ดังนี้
ทาน การให้ ในที่นี้เน้นการให้ด้วยน้ำใจเสียสละอย่างยิ่ง
ศีล การรักษากายวาจาให้อยู่ในวินัยและวัตรปฏิบัติที่สูงขึ้นไป
เนกขัมมะ การสลัดความสุขส่วนตัว การเสียสละ เรื่องทางโลกทั่วไป เช่นที่ปรากฏเป็นการออกบวช
ปัญญา ความรู้เข้าใจสังขาร หยั่งเห็นสัจธรรม
วิริยะ ความเพียร
ขันติ ความอดทน
สัจจะ ความจริง จริงใจ จริงวาจา จริงกาย (ทำจริง)
อธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว
เมตตา ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย
อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางได้ ความดำรงอยู่ในธรรม ไม่หวั่นไหวเอนเอียง
นี่คือคุณธรรมต่างๆที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด
แม้บารมีนี้เอง ก็ยังแบ่งเป็นขั้นๆ ที่จริงเป็นบารมีก็ยิ่งยวดอยู่แล้ว แต่ยิ่งยวดก็ยังแบ่งเป็นยิ่งยวดขั้นธรรมดายิ่งยวดขั้นสูงขึ้นไป และยิ่งยวดขั้นสูงสุด
ยิ่งยวดขั้นธรรมดา เรียกว่า “บารมี” เฉยๆ ถ้ายิ่งยวด สูงขึ้นไปอีก ขั้นจวนสูงสุด เรียกว่า “อุปบารมี” และบำเพ็ญ ยิ่งยวดขั้นสูงสุดทีเดียว เรียกว่า “ปรมัตถบารมี”
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นจะบำเพ็ญทาน พระพุทธเจ้าเมื่อ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็บำเพ็ญเอาจริงเอาจังมาก ทำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำในขั้นต้น เป็นบารมีธรรมดา ก็คือสละทรัพย์สินสิ่งของมากมายช่วยเหลือมนุษย์ทั้งหลาย เห็นคนยากจนคนตกยากลำบากมีความทุกข์อะไรต่างๆ ก็พยายามช่วยเหลือ ขั้นนี้เรียกว่าทานบารมี
ถ้าเสียสละขั้นสูงขึ้นไป บางคราวมีเหตุจำเป็นต้องถึงกับเสียสละอวัยวะของตน ก็สละให้ได้ การเสียสละขั้นนี้ เรียกว่าอุปบารมี
ในบางครั้ง เช่นว่าจะรักษาธรรมะ รักษาความถูกต้องดีงาม รักษาสัจธรรมไว้ ต้องเสียสละอย่างสูงสุด ถึงกับเสียสละชีวิตก็ต้องทำ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเคยเสีย สละชีวิต ในตอนที่เป็นพระโพธิสัตว์ ทานที่บำเพ็ญถึงขั้นนี้ เรียกว่าปรมัตถบารมี เป็นบารมีขั้นสูงสุดในด้านทาน
คุณธรรมอื่นๆ ก็เหมือนกัน ก็แบ่งเช่นนี้ คือ ชั้นยิ่งยวด ธรรมดาเป็นบารมี ขั้นสูงเป็นอุปบารมี และขั้นสูงสุด เป็นปรมัตถบารมี

• ทำความดีขนาดไหน จึงจะได้เป็นบารมี
เราชาวพุทธหรือผู้ศึกษาธรรมทั้งหลายนี้ ถ้าต้องการปฏิบัติธรรมให้เป็นบารมี ก็ต้องตั้งใจจริงจัง โดยมีจุดหมาย สูงสุด
มีจุดหมายสูงสุดคืออะไร ก็เช่นตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพระมหา สาวก จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส คือมีเป้าหมาย ไม่ใช่บำเพ็ญอย่างเลื่อนลอย นี่เป็นประการที่หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของบารมี คือมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่ ทำอย่างเลื่อนลอย ประการที่ 2 ทำอย่างจริงจังสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำๆหยุดๆ ต้องเอาจริงเอาจัง อย่างพระโพธิสัตว์ ในชาติหนึ่งๆก็จะมีบารมีที่เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งว่าจะบำเพ็ญคุณความดีข้อนี้
แล้วก็ทำอย่างจริงจัง เช่น ในพระชาติใดถือสัจจะ คือ ความจริง ก็ตั้งมั่นอยู่ในความจริงมั่นคง ซื่อสัตย์สม่ำเสมอตลอดไป ไม่ยอมทำให้คลาดเคลื่อนจากความจริง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็อยู่ในระดับบารมี
ประการต่อไป ลักษณะของบารมี คือมีการสะสมเพิ่มพูนมากขึ้นๆเรื่อยๆ จนกระทั่งมีลักษณะหนึ่งคือ เกิดความเคยชิน คนที่บำเพ็ญคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็น ประจำสม่ำเสมอและสั่งสมมามาก จะมีความเคยชินในการประพฤติปฏิบัติสิ่งนั้น จนกระทั่งกลายเป็นการแสดง ออกอย่างอัตโนมัติเป็นไปเอง
เหมือนคนที่บำเพ็ญเมตตา มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ ตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนทั้งหลาย ก็จะมีอาการ แสดงออกเป็นความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลพร้อมที่จะช่วยเหลือด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อทำเป็นประจำสม่ำเสมอเอาจริงเอาจัง ต่อมาก็จะเป็นนิสัยประจำตัว มีการแสดงออกเป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องตั้งใจ

• คนอ่อนแอ ไปไม่ถึงบารมี
แม้แต่คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติกันโดยทั่วไปนี้ ก็ต้องระลึกไว้ว่า ไม่ใช่ทำนิดๆ หน่อยๆ ก็จะเห็นผล บางคน พอปฏิบัติธรรมสักอย่างไปนิดหน่อย ก็นึกแต่จะเอาผล ชอบเรียกร้องว่าทำไมจึงยังไม่ให้ผล บางทีก็เกิดความท้อใจ แต่ที่แท้ตัวเองมิได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง
ยกตัวอย่างเช่นคนบางคนตั้งร้านค้าขึ้นมาร้านหนึ่ง ทำการค้าขายโดยสุจริต แต่ไม่ค่อยได้กำไร เกิดความรู้สึก ว่า เมื่อค้าขายตรงไปตรงมาไม่ค่อยได้ผล ก็ชักจะท้อใจ แต่ถ้าเขามีความมั่นคงในงานซื่อสัตย์สุจริตนั้น ทำไปทำมาจนกระทั่งในที่สุดคนรู้แพร่หลายกระจายกว้างขวางถึงระดับหนึ่ง คนทั่วไปก็เกิดมีความเชื่อถือ พอนึกถึงหรือพูดถึงคนนี้หรือร้านนี้แล้ว เขาก็รู้กันทั่วไปเข้าใจทันทีว่า เจ้านี้ละตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต จนกระทั่งว่าถ้าเข้าร้านนี้แล้วไม่ต้องต่อราคาเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าพอจะอยู่ในระดับเป็นบารมีได้ คือทำอย่างจริงจังและเป็นประจำสม่ำเสมอ มีความคงเส้นคงวา จนทำให้เกิดความเชื่อถือ
พูดง่ายๆว่า บุคคลบางคนบำเพ็ญคุณธรรมบางอย่างเป็นประจำ จนกระทั่งคุณธรรมนั้นปรากฏออกมาในกิริยา อาการลักษณะทั่วไป คนไหนเห็นแล้วก็รู้จักคนนั้นในลักษณะของคุณธรรมข้อนั้นไปเลย นี่เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญในระดับที่เรียกว่าเป็นบารมี...

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่องบารมียิ่งยวดหรือยิ่งใหญ่)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดย พระพรหมคุณาภรณ์์(ป.อ.ปยุตฺโต)วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)
กำลังโหลดความคิดเห็น