xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อายตนะหก (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ละความยึดถือในสมมติบัญญัติ
ความยึดถือในสมมติบัญญัติอันนี้ว่าเป็นจริงเป็นจังอย่างแท้จริง เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราเป็นของเขา ซึ่งเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็เป็นสังโยชน์ แต่ถ้ามีความรู้จักว่าเป็นสมมติเป็นบัญญัติ และก็ไม่ยึดถือในสมมติในบัญญัตินั้น พูดตามสมมติ พูดตามบัญญัติ เข้าใจตาม สมมติเข้าใจตามบัญญัติ ปฏิบัติให้ชอบต่อสมมติ ปฏิบัติให้ชอบต่อบัญญัติที่ปฏิบัติกันอยู่ แต่ว่าไม่ยึดถือ ถ้าเป็นดั่งนี้แล้วก็จะบรรเทาสังโยชน์ละสังโยชน์ได้ เหมือนอย่าง ตัวอย่าง ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ยกมานั้น ถ้าไม่ได้ยึดถือเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ได้เป็นของเราเป็นของเขา ไฟที่มาไหม้บ้าน น้ำที่มาท่วม ลมที่พัดมาทำลายบ้านเรือนเหล่านี้เป็นต้น ก็ไม่โกรธดินน้ำไฟลมเหล่านี้ แม้ที่มาอุปการะก็ไม่ยินดีไม่ติดใจในดินน้ำไฟลมเหล่านี้ เพราะไม่ได้ยึดถือเป็นเราเป็นเขา แต่คงเรียกว่าน้ำ ว่าไฟ ว่าลม อันเป็นสมมติบัญญัตินั้น เพราะฉะนั้นก็ให้พิจารณาเทียบเคียงดั่งนี้ในสิ่งทั้งหลายที่มาประสบ ให้รู้จักสมมติ ให้รู้จักบัญญัติ ปฏิบัติให้ชอบต่อสมมติ ปฏิบัติให้ชอบต่อบัญญัติแต่ว่าไม่ยึดถือ เหมือนอย่างที่ไม่ยึดถือในดิน น้ำ ไฟ ลม พิจารณาให้เห็นว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม คือเป็นโลกธาตุทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเราเป็นเขาอย่างแท้จริง ดั่งนี้แล้วจะบรรเทาสังโยชน์ลงได้
ปัญญาในธรรมนั้นจะพึงมีได้ด้วยโยนิโสมนสิการ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือใช้ปัญญาพิจารณา เพราะปัญญานั้นก็มี ๒ อย่าง คือ ปัญญาที่เป็นส่วนเหตุและปัญญาที่เป็นส่วนผล
ปัญญาที่เป็นส่วนเหตุนั้นได้แก่ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
ที่ทุกๆคนมีอยู่เป็นพื้นด้วย อบรมสั่งสอนเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย ก็ใช้ปัญญาที่มีอยู่นี้พิจารณา นี้เป็นปัญญาส่วนเหตุ คือเป็นปัญญาที่เป็นเครื่องพิจารณา จึงได้ปัญญา ที่เป็นส่วนผล คือเป็นความรู้ทั่วถึงเพิ่มเติมขึ้นไปอีก
ปัญญาที่ใช้พิจารณานี้ คือพิจารณาจับเหตุจับผลให้พบเหตุพบผลตามความเป็นจริง จนถึงเหตุผลที่เป็นต้นเดิมเรียกว่า โยนิโสมนสิการ เพราะเหตุผลนั้นว่าถึงผลก็ย่อมมาจากเหตุ ผลเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นภายหลัง เหตุเป็นสิ่งที่มีขึ้นก่อน
ฉะนั้น เมื่อได้รับผลก็พิจารณาเพื่อให้พบเหตุของผลนั้น ดังนี้ก็ชื่อว่า พบต้นเดิมได้ คือเหตุเป็นต้นเดิมของผล และนอกจากนี้ยังมีเหตุผลที่บังเกิดซับซ้อนต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่อีกเป็นอันมาก ดังเช่นที่ตรัสแสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลซับซ้อนต่อกันไปเป็นลูกโซ่ ดังจะพึงกล่าวได้ว่า อันลูกโซ่นั้นก็มีห่วงแห่งลูกโซ่หลายห่วงโยงกันไปเป็นสาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ลูกโซ่ห่วงที่หนึ่งก็เป็นเหตุของลูกโซ่ห่วงที่สอง และลูกโซ่ห่วงที่สองนั้นเป็นผลของลูกโซ่ห่วงที่หนึ่ง และก็เป็นเหตุของลูกโซ่ห่วงที่สามต่อไปอีกดังนี้
การใช้ปัญญาจับเหตุจับผลในเรื่องทั้งหลายที่ซับซ้อนต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่นั้นให้พบตามความเป็นจริง ก็เป็นปัญญาที่เป็นส่วนผลที่พิจารณาให้พบถึงต้นเดิมเข้าไปโดยลำดับ ดังนี้คือโยนิโสมนสิการ ซึ่งจะต้องใช้ในการปฏิบัติธรรมควบคู่กันไปกับสมาธิและศีล และในอายตนะปัพพะข้อว่าด้วยอายตนะนี้ก็กล่าวได้ว่า เป็นข้อสำคัญในการปฏิบัติ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้เป็นเอกเทศเกี่ยวกับการปฏิบัติทางอายตนะก็มีเป็นอันมาก ที่ตรัสแสดงรวมไว้กับธรรมหมวดอื่นก็มีเป็นอันมาก เช่นในมหาสติปัฏฐานสูตรที่แสดงมาโดยลำดับนี้จัดไว้ต่อจากขันธ์ห้า ในทางปฏิบัตินั้น ผู้ปฏิบัติทำสติในข้อนี้ไม่ต้องคำนึงถึงข้ออื่นในพระสูตรนี้ก็ได้ หยิกยกขึ้นมาทำสติปฏิบัติทางอายตนะโดยตรงก็เป็นการสะดวก ดังที่ได้แสดงมาในครั้งก่อน คือตั้งสติกำหนดให้รู้จักอายตนะภายในภายนอกแต่ละคู่ที่ประจวบกันตามที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันของตน และทำสติกำหนดให้รู้จักสังโยชน์ คือความผูกที่บังเกิดขึ้น เมื่อมีความยินดีหรือมีความยินร้ายในสิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้ทราบ ลิ้นได้ทราบ กายได้ทราบ และมโนคือใจได้รู้ ก็แสดงว่ามีสังโยชน์ สังโยชน์คือความผูก เพราะความผูกนั้นเองจึงแสดงออกเป็นความยินดี เป็นความยินร้าย ก็ให้มีสติกำหนดดูให้รู้จัก และก็ดูให้รู้จักเหตุเกิดสังโยชน์ เหตุดับสังโยชน์ ตลอดจนถึงที่จะดับสังโยชน์มิให้บังเกิดขึ้นอีกต่อไป

ทางลัดไปสู่ความสิ้นทุกข์
อันเหตุเกิดสังโยชน์เมื่อสรุปแล้วก็กล่าวได้ว่า เพราะขาดสติที่กำหนดให้รู้จักสภาพที่เป็นกระบวนการเกิด และสภาพที่เป็นสามัญลักษณะดังที่ได้กล่าวแสดงในครั้งก่อนแล้วก็คือขาดโยนิโสมนสิการ สังโยชน์จะไม่เกิดหรือดับได้ก็เพราะมีโยนิโสมนสิการ โดยตั้งสติกำหนดให้รู้จักสภาพดังกล่าว แต่เมื่อจะแสดงอีกโดยปริยายคือนัยยะอันหนึ่ง สังโยชน์บังเกิดขึ้นก็เพราะมีความหลงยึดถืออยู่ในสมมติบัญญัติแห่งอายตนะนั้น สังโยชน์จะไม่เกิดหรือดับไปได้ก็เพราะมีสติกำหนดให้รู้จักสมมติบัญญัติแห่งอายตนะนั้นและไม่ยึดถือ
ในพระสูตรหนึ่งได้มีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้บวชเมื่อแก่ ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าถึงข้อปฏิบัติดังจะเรียกว่าทางลัด คือขอให้ตรัสแสดงบอกโดยย่อ พระพุทธองค์ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำความรู้เกี่ยวกับอายตนะนี้
เก็บความมาแสดงได้ว่าทีแรกได้ตรัสถามให้ระลึกดูก่อนว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งที่ถูกต้อง และเรื่องราวที่มิได้เคยประสบมาก่อน คือมิได้ประสบแล้วมาก่อน และที่มิได้ประสบอยู่ในปัจจุบัน และที่มิได้คิดว่าเราจะพึงประสบ จะมีความพอใจ ติดใจ ความรักในสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ ภิกษุนั้นก็กราบทูลว่าไม่มี จึงได้ตรัสสอนต่อไปว่า แม้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งที่ถูกต้อง และเรื่องราวทั้งหลายที่ได้ประสบทั้งปวง ก็ให้เป็นสักแต่ว่าเห็นในการเห็นหรือในรูปที่เห็น ให้เป็นสักแต่ว่าได้ยินในเสียงที่ได้ยินหรือในการได้ยิน ให้เป็นสักแต่ว่าทราบในการทราบกลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือในกลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบ ให้เป็นสักแต่ว่ารู้ในการรู้หรือในเรื่องราวที่รู้ทางมโนคือใจ เพราะเหตุที่ว่าถ้าจักมีสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้ทราบ สักแต่ว่าได้รู้ดังนี้แก่ท่าน ท่านก็จะไม่มีด้วยการเห็นหรือสิ่งที่เห็น การได้ยินหรือสิ่งที่ได้ยิน การทราบหรือสิ่งที่ได้ทราบ การรู้หรือสิ่งที่ได้รู้นั้น เพราะเหตุที่ท่านจักไม่มีด้วยสิ่งเหล่านั้น ท่านก็จักไม่มีในสิ่งเหล่านั้น เมื่อท่านจักไม่มีในสิ่งเหล่านั้น ท่านก็จักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกหน้า ไม่มีโลกในโลกทั้งสองนั้น นี้คือที่สุดแห่งทุกข์ดังนี้
นี้เป็นพระพุทธโอวาทที่ตรัสโดยสังเขป เรียกว่าเป็นทางปฏิบัติทางลัดอันนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ แต่ว่าการที่จะปฏิบัติเดินทางลัดไม่ใช่ของง่ายสำหรับการไม่ใช้โยนิโสมนสิการ และโดยปกตินั้นคนเป็นอันมากก็ไม่ใช้โยนิโส-มนสิการ ฉะนั้น แม้จะมีทางลัดก็ไม่เดินทางลัด แต่เดินทางวัฏฏะ เหมือนดั่งเดินวนโบสถ์หรือเวียนโบสถ์ แต่ว่าไม่เข้าโบสถ์ ดังนั้นแม้จะเวียนโบสถ์อยู่กี่รอบนานเท่าใดก็คงไม่เข้าโบสถ์อยู่นั่นเอง ต่อเมื่อเลิกเวียนเข้าโบสถ์จึงเป็นอันว่าบรรลุถึง คนเป็นอันมากนั้นชอบเดินวนอันเป็นวัฏฏะดังกล่าว ก็คือเดินวนอยู่ในสมมติบัญญัติของการเห็นหรือสิ่งที่เห็น การได้ยินหรือสิ่งที่ได้ยินนั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 105 สิงหาคม 2552 ในพระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น