xs
xsm
sm
md
lg

กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เหตุที่เกิดเป็น‘เล็น’เฝ้าจีวร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฎแห่งกรรมไม่ได้เว้นว่าคนนั้นจะเป็นใคร มียศฐาบรรดาศักดิ์มากน้อยขนาดไหนก็ตาม กฎแห่งกรรมจะทำหน้าที่ของมันเท่าเทียมกันหมด รวมถึงพระสงฆ์ต่างๆ ด้วย หากใครคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ก็ย่อมได้รับผลของกรรมเช่นเดียวกันทั้งนั้น ดังเรื่องราวต่อไปนี้อันเป็นกรรมของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งปกติเป็นพระดี แต่ก่อนที่จะมรณภาพ จิตของท่านมีความยึดติดยึดมั่น จึงทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ในอดีตนานมาแล้ว มีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้บวชเป็นพระ ชื่อว่า พระติสสเถระ จำพรรษา ณ วิหารในชนบท มีโยมที่ศรัทธานำผ้าเนื้อหยาบยาวประมาณ ๘ ศอก มาถวายท่าน หลังจากที่ท่านได้อยู่จำพรรษาตลอดสามเดือนและได้ปวารณาออกพรรษาแล้ว ก็นำผ้านั้นไปหาพี่สาว พี่สาวเห็นผ้าแล้วก็คิดว่า “ผ้าผืนนี้ ไม่สมควรแก่พระน้องชายเราเลย” แล้วก็ได้ใช้มีดตัดจีวร เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ โขลกในครก แล้วสาง ดีด กรอ ปั่นให้เป็นด้ายละเอียด จากนั้นก็ทอเป็นผ้าหมือนเดิม
วันหนึ่งพระเถระก็ได้เตรียมด้ายและเข็มมาเพื่อจะใช้ผ้านั้นตัดเย็บจีวร ได้นิมนต์ภิกษุและสามเณรผู้ทำจีวรเป็นให้มารวมกัน แล้วพาไปบ้านพี่สาว ฝ่ายพี่สาวได้นำผ้ายาวประมาณ ๙ ศอกที่ทอขึ้นใหม่ ออกมาถวาย พระผู้เป็นน้องชายรับมาพิจารณาแล้วกล่าวว่า “ผ้าของเดิมเนื้อหยาบ ยาว ประมาณ ๘ ศอก แต่ผืนนี้เนื้อละเอียด และยาวประมาณ ๙ ศอก ผ้านี้มิใช่ผ้าของอาตมา นี่เป็นผ้าของพี่ อาตมาไม่ต้องการผ้าผืนนี้”
พี่สาวกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ นี่เป็นผ้าผืนเดิมของท่านเอง ขอท่านจงรับผ้านี้เถิด” แล้วจึงได้บอกเล่าถึงสิ่งที่ตนทำทั้งหมด พระเถระจึงยอมรับผ้าผืนนั้นกลับไป เพื่อจะเริ่มตัดเย็บทำเป็นจีวร
พี่สาวของท่านได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานทั้งหลาย ไปถวายพระภิกษุสามเณรที่ช่วยทำจีวรของพระน้องชายเป็นประจำ จนกระทั่งในวันที่ตัดเย็บจีวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว พี่สาวได้ถวายสักการะมากมายแก่พระภิกษุสามเณร ฝ่ายพระน้องชายที่ชื่อติสสะ เมื่อมองดูจีวรแล้วก็เกิด ความเยื่อใยในจีวรนั้น จึงคิดว่า
“ในวันพรุ่งนี้ เราจะห่มจีวรผืนนี้” แล้วพับจีวรพาดไว้
ตกกลางคืนพระติสสะเกิดอาหารไม่ย่อยอย่างไม่คาดคิด จนเป็นเหตุให้ท่านมรณภาพในคืนนั้น เมื่อท่าน ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวร เพราะความที่ท่าน ยึดติดในจีวรผืนนั้นก่อนตายนั่นเอง!!
รุ่งเช้าเมื่อพี่สาวทราบข่าวการมรณภาพของพระน้อง ชาย ก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง นอนกลิ้งเกลือกต่อ หน้าพระภิกษุสามเณร บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดก็ช่วยกันจัดแจงศพของท่านเป็นอย่างดี หลังจากเผาแล้วก็ปรึกษากันว่า จีวรของท่านติสสะเถระ ควรจะตกเป็นของสงฆ์ เพราะไม่มีใครเป็นผู้อุปัฏฐากท่านโดยตรง ว่าแล้วก็นำจีวรผืนนั้นออกมา เพื่อเตรียมแบ่งกัน
ทันทีที่จีวรถูกคลี่ออก เล็นตัวหนึ่งซึ่งเกาะอยู่ที่จีวรก็เที่ยววิ่งร้องไปข้างโน้นข้างนี้ ด้วยคิดว่าพวกภิกษุเหล่านี้จะแย่งจีวรของเรา
พระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฏี ได้ยินเสียงเล็นด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ (หูทิพย์) จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้ไปบอกพวกภิกษุว่า อย่าเพิ่งแบ่งจีวรของติสสะในตอนนี้ เก็บรอไว้ให้ครบ ๗ วันก่อนค่อยแจกจ่าย พระอานนท์จึงไปดำเนินการตามคำสั่ง ซึ่งพระทุกรูปก็ได้ทำ ตามที่พระอานนท์บอก
เมื่อถึงวันที่ ๗ เล็นก็ได้ตายลง และไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เพราะคุณความดีที่เคยทำไว้นั่นเอง ในวันที่ ๘ พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้แจกจีวรของพระติสสเถระ
อย่างไรก็ตามพวกภิกษุทั้งหลายก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องให้เก็บจีวรของพระติสสะไว้ถึง ๗ วัน จึงได้สนทนากันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในธรรมสภา
พระพุทธองค์ทรงได้ยินเรื่องที่พวกภิกษุสนทนากัน จึงเสด็จมาและตรัสบอกเรื่องที่กำลังสงสัยกันว่า
“ท่านทั้งหลาย พระติสสเถระ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรของตน ตอนที่พวกท่านจะแบ่งจีวรกันนั้น เล็นได้วิ่งร้องไปข้างโน้นและข้างนี้ว่า “ภิกษุพวก นี้แย่งจีวรของเรา” ถ้าหากว่าพวกท่านแบ่งจีวรกันในวัน นั้น เล็นจะเกิดความขัดใจ เกิดความโกรธต่อพวกท่าน หลังจากเล็นตายแล้วจะไปเกิดในนรก เหตุนี้เองเราจึง ให้เก็บจีวรไว้ก่อน ๗ วัน ในวันสุดท้ายเล็นได้ตายจากไป และขณะนี้เขาก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงอนุญาตให้พวกท่านถือเอาจีวรของพระ ติสสเถระในวันที่ ๘”
บรรดาภิกษุได้ฟังเช่นนั้นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ใจในพระปัญญาญาณของพระพุทธองค์เป็นยิ่งนัก พวกภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า “ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้หยาบหนอ”
พระองค์จึงตรัสว่า “อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหาของสัตว์เหล่านี้หยาบ สนิมตั้งขึ้นแต่เหล็ก ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง สนิมนั้นแหละย่อมทำให้เหล็กพินาศไป ทำให้เป็นของใช้สอยไม่ได้ ฉันใด ตัณหานี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นภายในใจของสัตว์เหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น ทำให้สัตว์เหล่านี้ถึงความพินาศ”
และได้ตรัสอธิบายว่า “สนิมเกิดขึ้นแต่เหล็ก ตั้งขึ้นแต่เหล็ก ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด กรรมทั้งหลายของ ตน คือกรรมเหล่านั้นชื่อว่าเป็นของตนนั่นแหละ เพราะตั้งขึ้นในตนย่อมนำบุคคลผู้ไม่พิจารณาปัจจัย ๔ แล้ว บริโภค ชื่อว่าผู้ประพฤติก้าวล่วงปัญญา ชื่อว่าโธนา ไปสู่ทุคติฉันนั้นเหมือนกัน” หลังจากที่พระองค์เทศนาจบแล้ว ผู้ฟังจำนวนมากก็ได้บรรลุอริยผล มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
ในการให้ผลของกรรมนั้น กรรมหนักหรือกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด จะให้ผลก่อนกรรมอื่น เช่น การฆ่า มารดา การฆ่าบิดา การฆ่าพระอรหันต์ การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป และการทำสงฆ์ให้แตกกัน กรรมประเภทนี้จะให้ผลก่อนกรรมอื่นทั้งหมด กรรมที่ให้ผลรองลงมาคือ กรรมที่ทำมากหรือกรรมที่ทำจนเป็นความเคยชิน จะให้ผลเป็นลำดับมา อย่างที่สามกรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มีกรรมสองข้อแรกแล้ว กรรมนี้ก็จะให้ผลก่อน สุดท้ายคือกรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาในการกระทำกรรมนั้นอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น กรรมประเภทนี้จะให้ผลก็ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล ในกรณีของพระติสสเถระที่มีความห่วงใยในจีวรนั้น ท่านไม่ได้กระทำกรรมหนักและกรรมที่ทำจนชิน แต่กรรมใกล้จะตายของท่านมีอยู่ คือห่วงใยในจีวรใหม่ ดังนั้น หลังจากที่ตายแล้วท่านจึงต้องไปรับกรรมนี้ก่อน ต้องไปเกิดเป็นเล็นอยู่ในจีวร หลังจากหมดกรรมนั้นแล้ว จึงค่อยไปเกิดบนสวรรค์ตามกรรมดีที่ท่านเคยสั่งสมไว้นั่นเอง

(จาก ธรรมลีลา ฉบับที่ 104 กรกฎาคม 2552 โดยมาลาวชิโร)
กำลังโหลดความคิดเห็น