xs
xsm
sm
md
lg

กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : กรรมที่ทำให้อดอยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฎแห่งกรรมเป็นสิ่งที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน ใครทำกรรมใดไว้ ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์ผู้บรรลุอรหันต์แล้ว กฎแห่งกรรมก็ยังตามให้ผลอยู่นั่นเอง ดังเรื่องราวครั้งอดีตต่อไปนี้
มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่าโลสกะ เป็นบุตรของชาวประมงที่อาศัยอยู่ในแคว้นโกศล อดีตท่านเป็นคนที่ทำให้ตระกูลมีแต่ความอดอยากยากจน ในวันที่ท่านเกิดนั้น ชาวประมงทั้งพันครอบครัวที่พากันออกหาปลาในแม่น้ำลำคลอง ต่างก็ไม่มีใครได้ปลาเลยสักคนเดียว แม้แต่ปลาเล็กๆ สักตัวก็ไม่ได้ และนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็ไม่เคยหาปลาได้เลย
นอกจากนั้น ช่วงที่ท่านอยู่ในท้องของมารดา บ้านของ ชาวประมงเหล่านั้นก็ถูกไฟไหม้ถึง ๗ ครั้ง และถูกพระราชา ปรับสินไหม ๗ ครั้ง เหตุนี้เองพวกชาวประมงจึงได้รับความลำบากเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจึงสงสัยกันว่าในหมู่บ้านคงต้องมีตัวกาลกิณี คิดกันดังนั้นแล้ว ต่างก็แยกหมู่บ้านออกเป็นสองหมู่ หมู่ละ ๕๐๐ ครอบครัว เมื่อมารดาของพระโลสกะ ไปอยู่ในหมู่บ้านใด หมู่บ้านนั้นก็จะเจอแต่เรื่องเดือดร้อนไม่รู้จักจบจักสิ้น ชาวบ้านจึงแยก หมู่บ้านออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือครอบครัวของเขาอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ชาวบ้านจึงรู้ว่า พวกเขาเป็นกาลกิณี พากันรุมโบยตี ทำให้มารดาของพระโลสกะต้องอุ้มท้องท่านไว้ด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งคลอดออกมา และเลี้ยงดูจนท่านโตพอที่จะวิ่งไปไหนมาไหนได้แล้ว มารดาจึงเอาภาชนะดินเผาใบหนึ่งใส่มือให้และไล่ออกจากบ้านไป เด็กน้อยก็จำต้องหากินตามลำพังด้วยความอดๆ อยากๆ เก็บเมล็ดข้าวกินทีละเมล็ด นอนไม่เป็นที่เป็นทาง น้ำไม่ได้อาบ จนร่างกายคล้ายปีศาจ และมีความเป็นอยู่เช่นนี้จนอายุครบ ๗ ขวบ
วันหนึ่งขณะที่พระธรรมเสนาบดีกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ในเมืองสาวัตถี ได้มองเห็นเขาก็รู้สึกสงสาร จึงเรียกมาสอบถามว่าบ้านอยู่ที่ไหน พ่อแม่เป็นใคร เด็กบอกว่าตนไม่มีที่พึ่ง พ่อแม่บอกว่าตนทำให้พวกเขาลำบาก จึงทิ้ง ไป พระเถระจึงถามเด็กน้อยว่า อยากบวชไหม จะบวชให้ เด็กชายตอบตกลงด้วยความดีใจเป็นอย่างมาก
พระเถระได้แบ่งอาหารให้เขากินแล้วพาไปที่วัด จัด แจงบวชให้เป็นที่เรียบร้อย เด็กน้อยครองเพศบรรพชิตจนกระทั่งอายุพรรษามาก ท่านได้ชื่อว่า โลสกติสสเถระ แต่ก็เป็นพระที่ไม่มีลาภ แม้ในคราวที่คนมาทำบุญที่วัดมากๆ ท่านก็ได้ฉันเพียงนิดหน่อยเท่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อเท่านั้น ไม่เคยได้ฉันอาหารเต็มอิ่มเลย หากมีใครใส่บาตรท่านเพียง ข้าวต้มทัพพีเดียว ก็เหมือนกับมีข้าวเต็มบาตร คนที่มาทำ บุญจึงคิดว่า บาตรของท่านเต็มแล้ว เลยถวายองค์ถัดไป
ต่อมาท่านได้เจริญวิปัสสนาจนกระทั่งบรรลุอรหันต์ แต่ท่านก็ยังมีลาภน้อยอยู่นั่นเอง จนกระทั่งถึงวันที่ท่านจะปรินิพพาน พระธรรมเสนาบดีอยากจะให้ท่านได้ฉันอาหาร เต็มอิ่มสักมื้อ จึงพาท่านไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี แต่ไม่มีใครใส่บาตรเลยแม้แต่คนเดียว
พระเถระจึงบอกให้พระโลสกติสสไปนั่งรอที่วัด แล้วตนเองไปบิณฑบาตคนเดียว ชาวบ้านก็พากันออกมาใส่บาตรจำนวนมากและนิมนต์ให้ฉันด้วย พระเถระจึงใช้ให้คนเอาอาหารไปถวายพระโลสกติสสที่วัด แต่ไม่ว่าใครเอาอาหารไป ก็ลืมท่านทุกที พากันกินเสียเองจนหมด
ครั้นพระเถระกลับถึงวัด จึงถามพระโลสกติสสว่าได้ฉันหรือยัง ก็ได้รับคำตอบว่ายัง พระเถระจึงเกิดความสลดใจ บอกให้พระโลสกติสนั่งอยู่ที่เดิม ส่วนตัวท่านเข้าไปที่พระราชวังของพระเจ้าโกศล พระราชาได้ถวายของหวานจนเต็มบาตร เมื่อพระเถระกลับมาที่วัด จึงเรียกพระโลสก-ติสสมาฉัน โดยท่านถือบาตรไว้ให้พระโลสกติสสนั่งฉัน เพราะถ้าปล่อยบาตรจากมือ บาตรก็จะว่างเปล่า คราวนี้ท่านฉันได้ เพราะด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระเถระ หลังจากที่ฉันจนเต็มอิ่มแล้วท่านก็ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้กระทำการปลงสรีระ เก็บเอาธาตุ ทั้งหลายก่อพระเจดีย์บรรจุไว้
ในเวลานั้น พวกภิกษุทั้งหลายก็สนทนากันว่า น่าอัศจรรย์จริงๆ พระโลสกติสสเถระมีบุญน้อย มีลาภน้อย ทำไมจึงบรรลุอริยธรรมได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าให้ฟังว่า
เหตุที่โลสกติสสะเถระมีลาภน้อย แต่ได้บรรลุธรรมขั้นสูง ก็เพราะว่า ในอดีตท่านกระทำอันตรายลาภของผู้อื่นจึงเป็นผู้มีลาภน้อย แต่บรรลุอริยธรรมได้ก็เพราะผลที่ท่านได้บำเพ็ญวิปัสสนา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง หลังจากนั้นพระองค์จึงทรงเล่าอดีตกรรมของพระโลสกติสสะให้ฟังว่า
ครั้งที่พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา ท่านมีเศรษฐีที่อยู่ใกล้วัดคนหนึ่งคอยอุปถัมภ์บำรุง ครั้งนั้นมีพระขีณา- สพรูปหนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้เดินทางมาที่บ้านของเศรษฐี พอเศรษฐีเห็นท่านก็เลื่อมใส จึงนิมนต์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน และนิมนต์ให้พักที่วัดซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้าน
พระอาคันตุกะเข้าไปที่วัดและไปกราบเจ้าอาวาส ซึ่งถามท่านว่า ฉันอาหารมาหรือยัง ท่านก็บอกว่าฉันมาแล้ว ที่บ้านของเศรษฐีที่อยู่ข้างวัด หลังจากนั้นต่างก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรม
ตกเย็นเศรษฐีก็แวะเข้ามาเยี่ยมท่านที่วัด เขาถามเจ้าอาวาสว่าพระอาคันตุกะพักอยู่ที่ไหน เมื่อเจ้าอาวาสชี้ทางให้แล้ว เศรษฐีจึงเข้าไปหาท่าน นั่งฟังธรรมและนิมนต์ไปฉันที่บ้านในวันรุ่งขึ้น
เจ้าอาวาสคิดว่า “สงสัยเศรษฐีจะถูกพระอาคันตุกะยุยงให้แตกแยกกับเรา ถ้าพระรูปนี้ยังอยู่ในวัดนี้ต่อไป เศรษฐีคงจะไม่นับถือเราเป็นแน่”
คิดแล้วเจ้าอาวาสจึงหาวิธีกำจัดไม่ให้พระอาคันตุกะพักในวัดอีกต่อไป โดยไม่พูดกับท่าน ตอนเช้าเวลาจะไปฉันข้าว เจ้าอาวาสก็ตีระฆังด้วยหลังเล็บ เคาะประตูด้วย เล็บ แล้วตนเองก็เข้าไปบ้านของเศรษฐีเพียงลำพัง เศรษฐีเห็นเจ้าอาวาสมารูปเดียวจึงถามหาพระอาคันตุกะ เจ้าอาวาส ก็บอกไม่รู้ เพราะตีระฆังแล้ว เคาะประตูแล้ว ก็ไม่เห็นท่านตื่น เมื่อวานท่านฉันอาหารจนอิ่มแล้ว สงสัยคงจะนอนยังไม่ตื่น
ฝ่ายพระเถระผู้เป็นอาคันตุกะ พอถึงเวลาเช้าท่านก็ถือบาตรและจีวรเหาะไปจากที่นั่น ไปอยู่ที่อื่น ส่วนเศรษฐีหลังจากได้ถวายภัตตาหารเจ้าอาวาสแล้ว ก็ฝากอาหารไปถวายพระเถระที่วัดด้วย เจ้าอาวาสก็รับที่จะนำไปให้ ขณะที่เดินกลับวัดก็คิดว่า หากพระรูปนี้ได้ฉันข้าว ถึงเราจะไล่ให้ออกจากวัดยังไงก็คงจะไม่ยอมไป ถ้าเราเอาอาหารนี้ให้ชาวบ้าน ก็กลัวความลับจะแตก หรือจะเททิ้งในน้ำ เนยใสก็จะเป็นเหมือนน้ำ แต่ถ้าทิ้งบนดิน ฝูงกาก็จะมารุมกิน ความลับก็จะแตกอีก เราจะเอาไปทิ้งที่ไหนดีหนอ ขณะนั้นเอง ก็เหลือบไปเห็นนาที่ไฟกำลังไหม้อยู่ จึงคุ้ยถ่านขึ้น เทอาหาร ลงไปและกลบด้วยก้อนถ่าน แล้วจึงกลับวัด เมื่อไปถึงวัดไม่เห็นพระอาคันตุกะ ก็คิดว่าท่าน คงหนีไปอยู่ที่อื่นแล้ว จึงเกิดสำนึกผิดว่า เพราะท้องเป็นเหตุแท้ๆ ที่ทำให้เราทำกรรมชั่ว เจ้าอาวาสรู้สึกเสียใจต่อ การกระทำของตนมาก ต่อมาไม่นานท่านก็มรณภาพและไปเกิดในนรก
ท่านตกนรกหมกไหม้อยู่หลายแสนปี และเศษของผลกรรมยังทำให้เกิดเป็นยักษ์ถึง ๕๐๐ ชาติ!! ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องสักวันเดียว จนถึงวันจะตายค่อยได้กินอิ่ม ตายจากยักษ์ก็ไปเกิดเป็นหมาอีก ๕๐๐ ชาติ!! หิวโหยไม่ได้ กินอิ่มเช่นเดียวกัน ตายจากหมาจึงมาเกิดในตระกูลของคนยากจน และตั้งแต่วันที่เขาเกิด ตระกูลก็ยิ่งจนหนักลงเรื่อยๆกว่าเดิม แม้แต่น้ำก็ไม่ได้กินอิ่มอย่างคนอื่นเขาต้องถูกไล่ออกจากบ้าน จนได้มาบวช และบรรลุอรหันต์ ซึ่งเป็นกรรมดีที่ท่านได้เคยทำไว้นั่นเอง
ชีวิตของเราแต่ละคนเป็นไปตามกรรมที่เราเป็นผู้กระทำเอง เราจะประสบความสุขหรือความทุกข์ก็ขึ้นอยู่ กับการกระทำของเราเอง หากเรากลัวทุกข์ก็จงหมั่นขัดเกลา จิตของตนให้ปราศจากกิเลส จะได้ไม่หลงใหลไปทำกรรมชั่วตามอำนาจของกิเลส เพราะสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งความทุกข์ยากลำบากแก่ชีวิตเราอย่างแสนสาหัส ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 52 โดยมาลาวชิโร)
กำลังโหลดความคิดเห็น