xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากต่างแดน : ‘โคเมียวเซนจิ’ วัดต้นแบบของสวนหินญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดือนกรกฎาคมนี้ เริ่มต้นเข้าพรรษาแล้วค่ะ “บัวน้อย” ก็เลยต้องเข้าเวรอยู่ประจำคอลัมน์นี้ไปก่อน จนกว่าจะออกพรรษา แล้วค่อยว่ากันใหม่(ฮิฮิ)
ไหนๆก็เข้าพรรษาแล้ว ก็เลยนำเรื่องราวของวัดในพุทธศาสนา นิกายเซน แห่งหนึ่งในญี่ปุ่นมาฝากกัน แต่ก่อนจะไปรู้จักวัด มารู้เรื่องของเซนกันสักเล็กน้อย
คำว่า “เซน” (Zen) มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสฤตว่า “ธยานะ” (Dhyana) และภาษาบาลีว่า “ฌาน” (Jhana) ที่แปลว่า “สมาธิ”
การบรรลุธรรมในพุทธปรัชญานิกายเซน เรียกว่า “ซาโตริ” (Satori) หมายถึง การรู้แจ้งแห่งสภาวะความจริงสูงสุด กล่าวคือ ซาโตริ เป็นประสบการณ์การรับรู้ความจริงว่าสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าประสบการณ์ซาโตรินี้เป็นการทำลายความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เกิดความแบ่งแยกไปสู่ความเข้าใจว่า ที่แท้แล้วทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียว กล่าวคือเป็นเพียงความว่าง หรือความเป็นเช่นนั้นเอง (Suchness) โดยมีวิธีการหลักเพื่อการบรรลุธรรม 3 วิธีด้วยกัน คือ ซาเซน (Zazen) หรือการนั่งสมาธิ ซันเซน (Sanzen) หรือการขบคิดปริศนาธรรม และมนโด (Mondo) หรือ การถามตอบอย่างฉับพลัน
เอาล่ะค่ะ..ไปรู้จักวัดกันได้แล้ว วัดนี้ชื่อว่า “โคเมียวเซนจิ” สร้างขึ้นในปี 1273สมัยคามาคุระ โดยพระเทตสึกะ เอ็นชิน ซึ่งเคยเป็นขุนนางในตระกูลซุกาวารา เป็นวัดเล็กๆที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายตามแบบเซน ตั้งอยู่ในเขตชุมชนอันเงียบสงบของเมือง ดาไซฟุ เป็นวัดเดียวบนเกาะคิวชู ที่มีสวนเซนโบราณ สไตล์คาเรนซันซุย ซึ่งมีลักษณะ การจัดวางภูมิทัศน์แบบแห้ง ประกอบด้วย หิน ทรายสีขาว และหญ้ามอส เพื่อสร้างภาพจำลองของมหาสมุทรและชายฝั่ง ส่วนทางด้านหน้าของสวน ได้มีการนำหินมาจัดเรียงเป็นอักษรที่มีความหมายว่า “แสงสว่าง”
หัวใจของสวนแบบเซนคือการเข้าใจถึงแก่นแท้ขององค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ในองค์ประกอบของสวน ซึ่งเป็นปรัชญาอันลุ่มลึกของเซน สวนเซนที่วัดโคเมียวเซนจิแห่งนี้ มีความงดงามมาก จนกลายเป็นต้นแบบของการจัดสวนหินญี่ปุนที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่น การออกแบบทางเดินด้วยหินทรายที่คดเคี้ยวไปมานั้น เป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบภายในทั้งหลายนำไปเป็นไอเดียในการตกแต่งสวนสไตล์ญี่ปุ่น
ใช่เพียงแต่วัดโคเมียวเซนจิจะมีสวนหินที่มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว ที่นี่ยังเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องต้นอัลไพน์ โรส ต้นไม้โบราณของญี่ปุ่น และในฤดูใบไม้ร่วง ใบของต้นเมเปิ้ลที่ปลูกมากมายในวัดก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ช่วยเพิ่มความงดงามและเงียบสงบให้กับวัดแห่งนี้
ดูภาพแล้วรู้สึกสงบและผ่อนคลายบ้างไหมคะ สุดท้าย..ขอฝากนิทานเซนเรื่อง “ปริศนาฝ่ามือ” ไปขบคิดกันต่อค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า
ท่านโมกุเซน เป็นพระเซนรูปหนึ่งที่อาศัยอยู่ในวัดที่ตำบลทันบา วันหนึ่งมีศิษย์ฆราวาสของท่านมาปรารภกับท่านว่า ภรรยาของตนเป็นคนขี้เหนียวเหลือเกิน อยากให้ท่านอาจารย์ไปช่วยเทศน์โปรดด้วย ท่านอาจารย์โมกุเซน จึงไปเยี่ยมภรรยาของชายผู้นั้น แล้วยกกำปั้นที่กำแน่นยื่นตรงไปตรงหน้าเธอ ด้วยความประหลาดใจภรรยาชายผู้นั้นได้ถามท่านอาจารย์ว่า
“ท่านหมายความว่าอย่างไร?”
ท่านโมกุเซนตอบว่า “ถ้ามือของฉันเป็นเช่นนี้ตลอดไป เธอจะเรียกมันว่าอะไร?”
“มือพิการ” ภรรยาชายผู้นั้นตอบ
ท่านโมกุเซนจึงแบมือ แล้วยื่นฝ่ามือที่แบไปตรงหน้าเธออีก แล้วถามว่า
“ถ้ามือฉันเป็นอย่างนี้อยู่เสมอล่ะ เธอจะเรียกว่าอย่างไร?”
“ก็พิการอีกแบบหนึ่ง” เธอตอบ
“ถ้าเธอเข้าใจเช่นนั้นได้ เธอก็ย่อมเป็นภรรยาที่ดีได้”
ท่านอาจารย์กล่าวแล้วก็ลาจากไป หลังจากนั้นภรรยาของศิษย์ท่านอาจารย์ก็ช่วยเหลือสามีของเธอเป็นอย่างดี รู้จักจับจ่ายใช้สอย และรู้จักเก็บออม

(จาก ธรรมลีลา ฉบับที่ 104 กรกฎาคม 2552 โดยบัวน้อย)
กำลังโหลดความคิดเห็น