xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : “กรวดน้ำ” ไม่ใช่แค่ อุทิศส่วนกุศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยเป็นคนใจบุญสุนทาน นอกจากบางท่านจะถือศีลนั่งสมาธิด้วยตนเองเป็นประจำแล้ว เรามักมีการทำบุญต่างๆ ทั้งทำบุญย่อย เช่น ตักบาตร บริจาคทาน ปล่อยนกปล่อยปลา และทำบุญใหญ่ เช่น พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ พิธีทำบุญบ้าน พิธีทำบุญครบรอบวันตายบุพการีและพิธีทำบุญวันเกิด เป็นต้น และในการทำบุญทุกๆครั้ง ทุกๆ พิธีจะต้องมีการกรวดน้ำ เพื่ออุทิศผลบุญที่ได้กระทำในครั้งนี้ให้แก่ญาติสนิทมิตรสหายผู้ล่วงลับ และให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้ประสบความสุขในสัมปรายภพ สิ้นอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน
ซึ่งการกรวดน้ำนั้นถ้าเป็นในการทำบุญใหญ่ เจ้าภาพจะต้องเตรียมน้ำและภาชนะสำหรับใช้กรวดน้ำให้พร้อมสรรพสักหลายๆ ชุด คะเนให้พอเหมาะกับจำนวน แขกว่าจะกรวดน้ำกันกี่กลุ่ม โดยภาชนะที่ใช้ในการกรวดน้ำอาจเป็นชุดกรวดน้ำที่วางขายทั่วไปตามร้านสังฆภัณฑ์ เป็นคนโทใบน้อย รูปร่างคล้ายน้ำต้น ทำด้วยทองเหลือง พร้อมจอกทองเหลืองใบเล็กสำหรับรองรับน้ำที่กรวด หรืออาจเป็นแก้วน้ำ ๑ ใบ พร้อมจานหรือถาดสำหรับรับน้ำก็ย่อมได้
การกรวดน้ำจะกระทำเมื่อเสร็จพิธีทำบุญ และพระภิกษุองค์ที่เป็นประธานในพิธีจะสวดนำการกรวดน้ำว่า “ยถา วาริวหา ปุราปริปูเรนฺติ.....” และว่าต่อไปอีกยืดยาว ผู้กรวดน้ำก็เริ่มค่อยๆ เทรินน้ำลงภาชนะรองรับผ่านนิ้วมือของตน พร้อมกับตั้งจิตอุทิตส่วนกุศลไปด้วย และถือกันว่าการเทน้ำเมื่อกรวดนั้นต้องมิให้น้ำขาดสายจะรินๆหยุดๆ ไม่ได้ ต้องค่อยๆรินน้ำเรื่อยไปให้พอดีกับพระคาถา “ยถา” จบ เมื่อพระองค์รองรับว่า “สัพพี.....” น้ำก็หมดพอดี หรือถ้ายังไม่หมดก็เทให้หมดตอนนั้น
ในงานบุญพิธีที่เจ้าภาพและแขกมีความสนิทสนมเป็นกันเอง บรรยากาศตอนกรวดน้ำจะดูสนุกสนานครึกครื้น โดยเมื่อใกล้เวลาที่จะต้องกรวดน้ำก็จะพากันมานั่งรวมกลุ่มเตรียมเครื่องกรวดน้ำกันไว้ ซึ่งบางทีก็เป็นแก้วน้ำดื่ม และจานหรือถาดเล็กๆ ที่คว้าเอาแถวนั้น แล้วก็จะเรียกหากันให้มาร่วมกรวดน้ำ บางคนอยู่ในครัวก็ต้องรีบวางมือมา เด็กเล็กตัวเล็กตัวน้อยกำลังเล่นอยู่ พ่อแม่ก็จะเรียกมา กรวดน้ำ เพราะถือกันว่า เมื่อทำบุญแล้วก็ต้องอุทิศส่วนกุศลด้วย จึงจะครบถ้วนกระบวนความ
เมื่อรวมกลุ่มกันได้ ก็จะมีคนคนหนึ่งถือเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ถือเครื่องกรวดน้ำ ส่วนคนอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันบางคนอยู่ใกล้ก็เอาปลายนิ้วสักนิ้วหนึ่งไปวางไว้ใต้นิ้วของผู้กรวดน้ำ เพื่อรอสัมผัสน้ำที่กรวด ครั้นมีนิ้วมือหลายนิ้วของคนหลายคนไปกระจุกรอน้ำกันอยู่จนไม่มีที่อีก คนถัดๆมาก็จะเปลี่ยนเป็นแตะมือ แตะแขน แตะเสื้อผ้าของผู้กรวดน้ำ แต่ถ้าวงกรวดน้ำใหญ่มากเข้าไม่ถึงตัว ก็เปลี่ยนมาแตะตัวคนอื่นในวงแทน หรืออาจแยกไปตั้งกลุ่มกรวดน้ำใหม่ต่างหากเลยก็ได้ การสวดที่พระองค์แรกขึ้นต้นว่า “ยถา” และพระองค์รองรับว่า “สัพพี” นี้ มีคำเรียกเป็นสามัญว่า “ยถาสัพพี”
สำหรับญาติโยม ในขณะกรวดน้ำจะมีคำคาถาภาษาบาลีสำหรับว่าในตอนนั้นด้วย ขึ้นต้นว่า ยงฺกิญฺจิ กุสลํ กมฺมํ..... แปลว่า “การกระทำที่เป็นกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสัตว์จะพึงกระทำด้วยกาย วาจาและใจ อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในไตรทศเทวสถานโดยง่าย เราได้ทำแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดทั้งที่มีสัญญาและไม่มีสัญญา ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่เราทำแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่รู้แล้วว่าเราให้ส่วนบุญก็จงรับส่วนบุญนั้น ที่ยังไม่รู้ขอให้เทพยดาจงช่วยไปบอกให้รู้ สัตว์ทั้งหลายในโลกที่เลี้ยงชีวิตด้วยอาหาร ขอจงได้อาหารที่ชอบใจด้วยจิตอุทิศให้ของเราเถิด”
เมื่อกล่าวคาถาบาลีนี้แล้ว ก็ตั้งจิตรำลึกว่า จะอุทิศผลบุญนี้ให้แก่ใคร หรือหากจะอุทิศผลบุญนั้นโดยทั่วไปไม่ระบุเจาะจง ก็ให้กล่าวว่า “อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” แปลว่า “ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุข”
แต่สำหรับบางท่านที่จำคาถาบาลีที่ต้องกล่าวตอนกรวดน้ำไม่ได้ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพียงตั้งจิตอธิษฐานด้วยข้อความตามแต่จะนึกได้ เช่น ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทำในครั้งนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ญาติสนิทมิตรสหายผู้ล่วงลับ หรืออาจจะบุชื่อผู้รับผลบุญก็ได้ ขอให้เขาเหล่านั้นจงเป็นสุข อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย...และกล่าวต่อไปคล้ายกับการแผ่เมตตาก็ได้
ทั้งนี้เพราะบทคาถาบาลีไม่ใช่ข้อใหญ่ใจความสำคัญในการกรวดน้ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่จิตเจตนา คนเรามีใจเป็นประธาน หากใจไม่มุ่งมั่น ต่อให้ท่องจำคาถาได้ขึ้นใจ ก็ไม่ได้ผลเท่ากับคนที่ตั้งมั่น
เมื่อกรวดน้ำและกล่าวคำอุทิศส่วนกุศลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ จะนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทลงที่พื้นดินนอกชายคาบ้าน คือ กลางแจ้ง และนิยมกันว่าจะเทลงที่โคนต้นไม้ เพื่อที่ให้น้ำนั้นได้บำรุงเลี้ยงต้นไม้ให้เจริญงอกงามต่อไป ด้วย ซึ่งต้นไม้ที่จะนำน้ำไปเทที่โคนต้นนั้น มิได้เฉพาะเจาะจง จะเป็นต้นอะไรก็ได้ แต่บางท่านก็ทำตนเป็นเจ้ากรมพิธีการ คือกำหนดรูปแบบให้ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดว่าควรรดที่ต้นไม้มงคล อาทิต้นสัก ต้นวาสนา ต้นขนุน ต้นมะยม ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ถ้ามีอยู่ในบ้านที่ทำบุญก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีขอแนะนำว่า เป็นต้นอะไรก็ได้ รดไปเถิด เพราะหัวใจต้นเหตุแห่งบุญกุศล เราได้ทำไปแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นเพียงตอนจบของพิธีกรรมเท่านั้น
เหตุที่ต้องให้เอาน้ำจากการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลรดลงยังพื้นดินนั้น ก็เพื่อให้แม่พระธรณีได้รับรู้และเป็นพยานในการอุทิศส่วนกุศล เพราะแม่พระธรณีคือเทพแห่งแผ่นดิน คำว่า“ธรณี” แปลว่า โลก ดิน แผ่นดิน
แม่พระธรณีมีพระฉวีสีดำ ดวงพระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศาสีครามเหมือนกลุ่มเมฆ เนตรสีดั่งบัวสายสีน้ำเงิน ทรงพระสิริโฉมงดงามทั่วสรรพางค์กาย มีพระทัยเยือกเย็นไม่หวั่นไหว ทำหน้าที่ดังมารดาเลี้ยงโลก และคอยรับน้ำที่มีผู้กรวดน้ำเก็บไว้ในมวยพระเกศา
ความจริงแล้วแม่พระธรณีเป็นอรูปคือไม่มีตัวตน เมื่อเกิดเหตุสำคัญจึงปรากฏเป็นตัวตนขึ้น เช่น เมื่อครั้งพญาวสวัตตีมารเข้าขัดขวางมิให้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีธรรมบรรลุโพธิญาณ โดยอ้างว่ารัตนบัลลังก์ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่นั้นเป็นของตน ให้ลุกไปเสีย เมื่อพระพุทธจ้าตรัสถามหาพยาน พญาวสวัตตีมารก็อ้างเอาหมู่มารปีศาจทั้งหลายซึ่งมีจิตอกุศลเป็นพยาน เหล่ามารก็รับสมอ้างเป็นพยานสิ้น แล้วพญาวสวัตตีมารก็ถามหาพยานฝ่ายพระพุทธเจ้า พระพุทธ-องค์จึงตรัสว่า รัตนบัลลังก์นี้เป็นของพระองค์ เกิดขึ้นเป็นผลแห่งพระโพธิญาณ หากชาติใดไม่บำเพ็ญกุศล ก็จะไม่เกิดมีขึ้น และพยานที่พญาวสวัตตีมารอ้างมานั้น ล้วนแต่มีเจตนาคือ มีจิตใจเอนเอียงด้วยเหตุต่างๆ แต่พระองค์นั้นจะขออ้างเอาแม่พระธรณีผู้ปราศจากเจตนาเป็นพยาน แล้วทรงร้องเรียกแม่พระธรณี
แม่พระธรณีก็อุบัติขึ้นเป็นรูปนารีผุดขึ้นจากพื้นพสุธา กล่าวเป็นพยานว่า น้ำทักษิโณทกที่พระพุทธเจ้าทรงหลั่งเมื่อบำเพ็ญทานบารมีทุกพระชาติรวมกันนี้มากมายเหลือคณานับ เฉพาะพระชาติพระเวสสันดรชาติเดียวก็มากนักหนา ซึ่งเราจะแสดงให้ประจักษ์บัดนี้ ตรัสแล้วแม่พระธรณีก็บิดมวยพระเกศาเกิดเป็นกระแสธารพัดพาเอาหมู่มารลอยไปสิ้น จากตำนานเรื่องนี้คนจึงนิยมที่จะกรวดน้ำเพื่อให้แม่พระธรณีเป็นพยานในผลบุญ
นอกจากในเรื่องแม่พระธรณีบีบมวยผมดังกล่าว ในสมัยพุทธกาลก็ปรากฏว่าได้มีการกรวดน้ำ คือ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ก็ทรงหลั่งทักษิโณทกอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไป การกรวดน้ำจึงถือเป็น ประเพณีทำสืบต่อกันมา
โดยความมุ่งหมายของการกรวดน้ำมีอยู่ ๓ ประการ คือ
1. เป็นการแสดงกิริยายกให้ เช่น ของที่ใหญ่โตเกินไปไม่สามารถหยิบยกให้ได้ ก็จะใช้วิธีหลั่งน้ำใส่มือผู้รับ หรือหลั่งลงบนแผ่นดิน ดังเช่น ตอนพระเวสสันดรพระราชทานช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ ช้างคู่บ้านคู่เมืองคู่บุญบารมีของพระองค์แด่พราหมณ์ ก็ทรงหลั่งน้ำบนมือพราหมณ์
2. เป็นการตั้งปรารถนาให้ผลบุญที่ทำไป จงอำนวยให้ประสบผลสมกับที่อนุโมทนา
3. เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้เป็นปัตติทานมัย แสดงความเป็นผู้ไม่ตระหนี่ในผลบุญ และอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่สรรพสัตว์

นอกจากการกรวดน้ำในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังมีการกรวดน้ำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแม้จะเรียกว่ากรวดน้ำ แต่ก็แตกต่างโดยสิ้นเชิงในด้านวัตถุประสงค์ เพียงแต่มีรูปแบบวิธีการที่คล้ายคลึงกัน จึงเรียกว่ากรวดน้ำ ตามอย่างการกรวดน้ำในงานบุญประเพณี ซึ่งการกรวดน้ำแบบนี้ผู้กรวดจะตั้งสัตย์อธิษฐาน ยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นความดีงามเป็นที่ตั้ง เช่น อธิษฐานเอาบุญบารมีที่ได้ทำมา หรืออธิษฐานเอาสัจจวาจาเป็นที่ตั้ง เพื่อดลให้ความปรารถนาของตนสมประสงค์ หรือเพื่อประกาศเจตนารมณ์ อย่างเช่นเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพด้วยการหลั่งน้ำทักษิโณทกลงเหนือแผ่นดินที่เมืองแครง เป็นต้น
ในสำนวนไทยมีสำนวนเกี่ยวกับการกรวดน้ำว่า“กรวดน้ำคว่ำขัน” หรือ “กรวดน้ำคว่ำกะลา” ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับสำนวน “คว่ำบาตร” แปลว่า ถือเป็น เด็ดขาดว่าจะไม่สมาคมด้วย มีที่มาจาก เมื่อใส่บาตรพระและพระรับบาตรแล้ว ท่านก็คว่ำบาตรเทของที่คนใส่บาตรนั้นทิ้งเสีย เขาก็จะไม่ได้บุญ เช่นเดียวกันเมื่อกรวดน้ำเสร็จ หากคว่ำขันหรือกะลาซึ่งหมายถึงภาชนะที่รองรับน้ำทิ้งเสีย ก็จะไม่ได้บุญเช่นกัน เพราะมิได้รินรดให้แม่พระธรณีได้ประจักษ์ในผลบุญนั้น
อย่างไรก็ดี การกรวดน้ำนับเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม แสดงออกถึงจิตใจงดงาม บริสุทธิ์ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ตระหนี่ในผลบุญ ดังนั้นผู้ที่ได้ทำบุญกรวดน้ำแล้วมักจะมีหน้าตาผ่องใสมีราศี เนื่องด้วยผลจากที่จิตใจอิ่มเอิบอิ่มบุญนั่นเอง

(จากหนังสือหมื่นร้อยพันผสาน ของกรมศิลปากร)

จาก ธรรมลีลา ฉบับที่ 103 มิถุนายน 2552
โดย กองบรรณาธิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น