xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

สื่อใจสมานสร้างสรรค์:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตหรือความคิดที่ตั้งไว้ชอบ
ใครๆ ก็ทำให้เขาไม่ได้ นอกจากตัวของเขาเอง
เพราะบุคคลมีกระแสจิตพุ่งแรงไปทางใด
วิถีชีวิตก็จะหันเหไปทางนั้น
ฉะนั้น บั้นปลายของความรู้ทุกชนิด
ควรมุ่งที่การสร้างอุปนิสัยอันเด็ดเดี่ยว
ในการเอาชนะความชั่วที่มีในตน
ถ้าศาสนาใดไม่ได้สอนเราให้สำเร็จผลดังกล่าว
ศาสนานั้นย่อมไม่ได้สอนอะไรให้แก่เราเลย


เรื่องที่ 76
อำนาจอันน่าพิศวงของแนวคิด


จากประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนได้มีส่วนรับรู้ถึงความรุนแรง และร้อนรนว่า ไม่อาจกล้ำกรายเข้ามาทำร้ายผู้มีพระสติและปัญญาคุ้มครองอยู่เสมอได้ ทำให้เกิดความตั้งใจมุ่งมั่นเป็นทวีคูณ เพื่อฝึกฝนตนเองให้รู้จักวางใจได้ถูกจุด หัดชำเลืองเหลือบมองเข้า มาภายใน แอบดูเพื่อให้รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตนเองบ่อยๆ จนมองเห็นความลึกว่ามีอยู่หลายระดับ มากมายในรายละเอียด และซับซ้อนซ่อนเล่ห์เสียจนไม่น่าไว้ใจแม้กระทั่งใจตนเอง

หากยังไม่ใช่พระอรหันต์แล้วละก็ ยังไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น เพราะยังมีโอกาสก่อปัญหา เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ตามแรงวิบากกรรมนำส่ง จะเบี่ยงหลบหรือโต้ตอบอยู่ที่คุณธรรมประจำจิตในขณะนั้นๆ จริงๆ ว่าจะมีกำลังของปัญญาเหนือกว่าอำนาจของกิเลสแค่ไหน

ในหนังสือ อริยสัจ 4 ความจริงที่ทุกคนควรรู้และเข้าใจ เขียนโดย อาจารย์วศิน อินทสระ ซึ่งกำลังอ่านออกอากาศอยู่เป็น ประจำทุกวันพุธ ในรายการวิทยุธรรมะกับชีวิต เวลา 05.00-06.00 น. กล่าวถึง มรรคอริยสัจ ข้อที่สอง คือ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ในปริยายเบื้องต้นทั่วไป หมายถึงความคิดชอบ (Right thought) หรือการวางแนวจิตของตนในทางที่จะก่อประโยชน์ ซึ่งนักจิตวิทยากล่าวว่า ความคิดของคนมีอิทธิพลต่อชีวิตและจิตใจของเขาเป็นอันมาก คนคิดอย่างใดบ่อยๆ ในที่สุดก็จะเป็นอย่างที่เขาคิด (All that we are is the result of what we have thought) เพราะพลังจิตจะผลักดันให้เป็นไป บุคคลมีกระแสจิตพุ่งแรงไปทางใด วิถีชีวิตก็จะหันเหไปทางนั้น

เมื่อรู้ว่าความคิดมีอิทธิพลถึงเพียงนี้ ก็เป็นหน้าที่หลักที่จะต้องหัดวางแนวจิตให้ถูกต้อง ยามที่จะมองใครอื่นก็ควรพยายาม มองให้เห็นและเลือกเฟ้นมากล่าวถึงแง่ดีของเขา แม้เขาจะมีความชั่วอยู่บ้างก็ตาม

คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่งบอกถึงความสำคัญของความคิดไว้ว่า

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความคิดเป็นประธาน สำคัญที่ความคิด ย่อมสำเร็จได้ด้วยความคิด ถ้าคนคิดไม่ดี ย่อมพูดไม่ดี และทำไม่ดี หลังจากนั้นความทุกข์ก็ตามมา เหมือนล้อเกวียนตาม รอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป

เคยมีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรนำโลกไป? อะไรทำให้โลก ต้องดิ้นรน? สิ่งทั้งปวงตกอยุ่ในอำนาจของอะไร?

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ความคิดนำโลกไป ความคิดทำให้โลกดิ้นรน สิ่งทั้งปวงตกอยู่ใต้อำนาจของความคิดนั้นแหละ อธิบายได้ว่า โลกหรือหมู่มนุษย์จะไปทางไหน ก็สุดแล้วแต่ความคิดของมนุษย์จะนำไป จะไปทางดีหรือทางชั่ว ทางสงบหรือทางวุ่นวาย ทางสงเคราะห์เมตตากันหรือทางเบียดเบียนกัน ก็สุดแล้วแต่ผู้นำโลกคือความคิดหรือจิตมนุษย์นั่นเอง

โลกคือหมู่มนุษย์ ดิ้นรนก็เพราะจิตหรือความคิดของเขาดิ้นรน พอความคิดของเขาสงบโลกก็สงบ สิ่งทั้งปวงจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความคิดอย่างแท้จริง ถ้าความคิดของมนุษย์อยู่ในภาวะที่สงบ โลกนี้จะสงบลงทันที ความสุขก็เกิดตามขึ้นมาทันทีเหมือนกัน

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังได้ตรัสเตือนภิกษุรูปหนึ่งที่กำลังจะบวชต่อไปไม่ไหวว่า ถ้ารักษาความคิดได้ อย่างอื่นก็เป็นอันรักษาได้หมด เมื่อภิกษุรูปนั้นพยายามรักษาความคิดให้อยู่ในร่องรอยที่ดีที่ชอบ ไม่ช้าก็ได้สำเร็จอรหัตตผล

ยังมีอีกมากมายเหลือเกินที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นความสำคัญของความคิด หากเราได้เรียนรู้ความสำคัญเรื่องนี้กันตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากตลอดชาติ เพราะจะช่วยลดทุกข์ที่มนุษย์ชอบสร้างขึ้นมาหลอกตัวเอง

เจ.เอ. แฮดฟีดล์ จิตแพทย์เรืองนามชาวอังกฤษกล่าวไว้ในหนังสือเรื่องจิตตานุภาพ (Psychology of power) ว่า As a man thinks in his heart, so is he. ความทุกข์ความกังวลทั้งหลายนั้นเป็นเพราะความคิดของตนเองสร้างมันขึ้นมาทั้งสิ้น

ผู้ศึกษาเรื่องจิตอีกท่านหนึ่งคือ เอเมอร์สัน กล่าวว่า A man is what he thinks about all day long คือ มนุษย์เราจะเป็นอย่างที่เขาคิดตลอดทั้งวัน

และ มาร์คุศ ออรีลิยุส มหาจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมัน ก็กล่าวว่า Our life is what our thoughts make it คือ ชีวิตของเราจะเป็นไปตามความคิดของเรา

หรือแม้ มองตาญ (Montaigne) ปราชญ์ใหญ่ชาวฝรั่งเศสก็ได้แสดงความเห็นไว้เช่นกันว่า A man is not hurt so much by what happens as by what opinion of what happens แปลว่า มนุษย์ไม่ปวดร้าวอะไรนักต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ปวดร้าวเพราะเอามาคิดต่างหาก

ในหนังสือเรื่อง As a man think หรือ เป็นไปตามความคิดของตนเอง โดย James Allen ได้เขียนไว้ว่า มนุษย์จะก้าวหน้า ได้รับชัยชนะและประสบความสำเร็จ ก็โดยการ ยกความคิดของเขาให้สูงขึ้น คือ ไม่ยอมแพ้แก่อำนาจฝ่ายต่ำ ความเกียจคร้าน ความลังเลไม่แน่นอน ตรงกันข้าม ความคิดของเราจะต้องสูง และมั่นอยู่ในอุดมคติในทางดี แน่นอนมั่นคง ไม่คลอนแคลน มีความคิดที่ไม่จมแต่เป็นความคิดที่เพื่องฟู

เรื่องทำนองนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เช่นกันว่า คนยังหนุ่มมีกำลังแต่เกียจคร้าน ไม่ลุกในกาลที่ควรลุก เป็นผู้มีความคิดจมและเกียจคร้าน ย่อมไม่พบทางแห่งปัญญา การมีความดำริจม หรือความคิดจม คือ ไม่ได้ยกความคิดขึ้น ไม่ริเริ่มที่จะทำอะไร เมื่อไม่ ริเริ่มก็ไม่มีความบากบั่น จึงไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จอะไรได้ คนไม่ทำงานปัญญาย่อมไม่เกิด ที่มีอยู่บ้างก็จะหดหาย เพราะไม่ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาฝ่าฟันอุปสรรค

ศาสตราจารย์วิลเลียม เจมส์ ผู้สูงส่งด้านวิชาการจิตวิทยากล่าวว่า เคราะห์กรรมของเรา เราสามารถเปลี่ยนให้เป็นสิ่งน่ารัก และเป็นกำลังใจของเราได้ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดจากหวาดกลัว มาเป็นการต่อสู้

ลินคอล์น มหาบุรุษอีกท่านหนึ่ง ก็ได้พูดถึงความสำคัญแห่ง ความคิดไว้ว่า Most folks are about as happy as they make up their minds to be คนทุกคนจะมีความสุขได้มากน้อย ก็สุดแล้วแต่ใจของเขาเอง

จริงอยู่ สภาพการณ์ภายนอกย่อมมีส่วนในความสุขหรือทุกข์ ของเราเหมือนกัน แต่ไม่มากเท่าความคิดของเราเอง ถ้าเราคิดเป็น ทุกอย่างย่อมแปรสภาพมาเป็นประโยชน์แก่เรา แม้ความปราชัยแห่งชีวิตในบางครั้งบางคราวมันก็จะเป็นเพียงตอนหนึ่งแห่งกีฬาชีวิต ทั้งเป็นบทเรียนอันล้ำค่าในการที่จะเสริมสร้างเราให้สูงเด่นยิ่งขึ้น ขออย่างเดียวขอให้เราคิดให้เป็น รู้จักคิด และคิดให้ชอบ ให้ถูกทาง ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า จิตหรือความคิดที่ตั้งไว้ชอบ ความคิดเช่นนั้นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลผู้นั้นอย่างประมาณมิได้ และใครๆ ก็ทำให้เขาไม่ได้ นอกจากตัวของเขาเอง

ใบหน้าของคน ย่อมแสดงถึงความคิดภายในจิตใจของเขา หรือความคิดภายในของบุคคลแสดงออกมาทางสีหน้า เช่น ท่าทางใบหน้าบ่งบอกว่าเป็นคนซื่อหรือคนคด เป็นคนเครียดหรือ ผ่อนคลาย ความคิดอันยั่งยืนสร้างอุปนิสัย อุปนิสัยสร้างวิถีชีวิต

Sow a thought, reap an act :

ความคิดก่อให้เกิดการกระทำ

Sow an act, reap a habit :

การกระทำก่อให้เกิดนิสัย

Sow a habit, reap a character :

นิสัยหลอมเข้าเป็นอุปนิสัย

Sow a character, reap a destiny :


อุปนิสัยสร้างวิถีชีวิตของบุคคล

อธิบายว่า คนจะเป็นอย่างไร เป็นอะไร ดำเนินชีวิตอย่างไร ก็สุดแล้วแต่อุปนิสัยของเขา อุปนิสัยมาจากนิสัยที่สั่งสมไว้นานๆ นิสัยมาจากการกระทำบ่อยๆ จนเคยชิน การกระทำมาจากความคิด จะเห็นได้ว่า ต้นตอแห่งโชคชะตาหรือวิถีชีวิตคน ก็คือ ความคิดของเขานั่นเอง

มหาตมะคานธีได้กล่าวไว้ว่า การเล่าเรียนทุกอย่าง จะเป็น การเรียนพระเวท เรียนภาษาสันสกฤต กรีก หรือละตินอย่าง ถูกต้อง ไม่ทำให้เรามีอะไรดีขึ้นมาเลย ถ้าการเรียนนั้นๆ ไม่ช่วยทำให้ใจบริสุทธิ์ขึ้น บั้นปลายของความรู้ทุกชนิด ควรจะอยู่ที่การสร้างอุปนิสัย และความมุ่งหมายอันเด็ดเดี่ยวของมนุษย์ คือ เอาชนะนิสัยเก่าๆ ของตน เอาชนะความชั่วที่มีในตน และคงคืนความดีให้ไปสู่ทางที่ถูก ถ้าศาสนาใดไม่ได้สอนเราให้สำเร็จผลดังกล่าว ศาสนานั้นย่อมไม่ได้สอนอะไรให้แก่เราเลย

คนแทบทุกคนรู้ว่ามีอะไรชั่วอยู่บ้างในตน แต่เอาชนะไม่ค่อยสำเร็จ เพราะเหตุผลหลายประการต่างๆ กัน หากจะรวมลงก็อยู่ที่ยังมี อคติทั้ง 4 บางทีเป็นเพราะมีความคิดเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ ลำเอียงไม่เป็นกลาง อย่างไรก็ตาม คนที่คิดอยู่เสมอว่าจะเอาชนะตนเองในเรื่องใด แม้จะแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าเขายังไม่สละความคิดนั้นเสีย ก็ต้องชนะเข้าวันหนึ่ง และถ้าเขาสามารถรักษาชัยชนะนั้นไว้ได้ ก็จะเป็นชัยชนะที่ถาวรตลอดชีวิต และจะชนะสืบต่อไปในภพหน้าอีกด้วย

นี้คือ อำนาจอันน่าพิศวงของแนวคิดส่วนหนึ่ง จากตอนที่กล่าวถึง มรรคอริยสัจ ในข้อสอง เรื่อง สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) ตัดตอนมาจากหน้าที่ 133-150 ของหนังสือ อริยสัจ 4 ความจริงของชีวิตที่ทุกคนควรรู้และเข้าใจ โดย อาจารย์วศิน อินทสระ สำนักพิมพ์ธรรมดา จัดพิมพ์ โทร.0-2888-7026 สามารถรับฟังในรูปเสียงหนังสือได้จาก รายการธรรมะกับชีวิต ทางคลื่นวิทยุชุมชนคนนำปัญญา FM 97.75 MHz หรือฟังเสียง ย้อนหลังได้จาก www.managerradio.com ค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น