xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินกับศิลปะ : ร่องรอยแห่งความศรัทธา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลายคนอาจ กำลังวิ่งไล่ตามสีสันใหม่ๆ ในโลกแห่งอนาคต แต่ ‘ปรีชา ลิม’ ศิลปินวัย 30 ปี เลือกที่จะพายเรือถอยหลังเข้าคลอง เพื่อเรียนรู้อดีต ผ่านงานจิตร-กรรมไทย ที่คนรุ่นก่อนได้สร้างสรรค์ขึ้น
“ตอนเด็กๆ บ้านที่ อ.ดำเนินสะดวก ราชบุรี มีหนังสือเกี่ยวกับจิตรกรรมไทย และลายไทย ให้อ่านเยอะ เพราะคุณอา ซึ่งเป็นคนชอบงานศิลปะ มักจะซื้อมา เก็บไว้ และคุณยายหรืออาม่า ซึ่งเป็นคนจีน ก็ชอบพาไปวัด ทำให้ได้เห็นงานจิตรกรรมภายในวัดอยู่บ่อยๆจนซึมซับมาเรื่อยๆ”
จากวัดใกล้บ้านอย่าง วัดคงคาราม และวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ซึ่ง มีงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 และอยุธยาตอนต้นให้ศึกษา สู่วัดมหาธาตุราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในตัวจังหวัด ศิลปินหนุ่มได้ตระเวนไปชมมาแล้วทั้งสิ้น และความสนใจยิ่งลงลึกมากขึ้นเมื่อตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่คณะศิลปะประจำชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง หลายปีในสถาบันการศึกษา ก่อนที่จะเรียนจบและได้เกียรตินิยมให้ครอบครัวภาคภูมิใจ ปรีชามุ่งศึกษาไปที่ศิลปะสมัยลพบุรี สุโขทัย และอยุธยาตอนต้น
“คนส่วนมาก สนใจที่จะศึกษาศิลปะยุครัตนโกสินทร์ที่มีอายุใกล้กันกับปัจจุบัน แต่สำหรับผมเหมือนพายเรือถอยหลังเข้าคลอง แต่ยิ่งเราถอยมาก เท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้ความรู้มากเท่านั้น ผมจึงเริ่มศึกษาตั้งแต่งานศิลปะสมัยลพบุรี สุโขทัย และอยุธยาตอนต้น ซึ่งเป็นยุคที่มีความเชื่องโยงกัน”
ไม่เพียงกางตำราอ่าน ว่าวัดไหนมีงานจิตรกรรมในยุคสมัยที่เขาสนใจหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เขายังดั้นด้นไปสัมผัสคุณค่าของงานจิตรกรรมนั้นๆ ด้วยสองตาตัวเอง ณ สถานที่จริง จึงทำให้ผลงาน จิตรกรรมของเขา เป็นงานในแนวอนุรักษ์ และสร้างสรรค์ไปในคราวเดียวกัน
“เราเพียงแต่นำสิ่งที่เราศึกษามาจัด องค์ประกอบใหม่ แต่ยังคงใช้เทคนิคในแบบที่คนโบราณใช้ เขียนด้วยสีฝุ่นและ มีการตัดเส้นเหมือนเดิม แม้ตอนหลังจะพัฒนาจากการเขียนด้วยสีเอกรงค์ มาเขียนหลายสีมากขึ้น แต่ก็พยายามให้ งานที่เราเขียนขึ้นใหม่ยังคงดำรงลักษณะ ของงานที่เราศึกษามา เป็นการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ไปในตัว เพื่อให้คนในสังคมปัจจุบันรู้ว่า ยังมีงานจิตรกรรมพวกนี้อยู่ และยังมีคนสืบทอดอยู่”
ปรีชานำความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากเพาะช่าง ลงมือเตรียมสีด้วยตัวเองเป็นสีฝุ่นจากธรรมชาติ ที่มีส่วนผสมของ ดินสีต่างๆ เทอร์คอยส์ เปลือกหอย สนิมทองแดงฯลฯ ที่ต้องผ่านการบดด้วยแรงมือจนละเอียด ก่อนที่จะกรองด้วยผ้าขาว บาง ใช้กาวมะขามทำพื้นสำหรับเขียนตามแบบโบราณ ใช้การปิดเงินเปลว ทองคำเปลว ตามแบบประเพณีเพื่อเป็น การอนุรักษ์และสืบทอดกระบวนการเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป
“การจะทำอะไรทุกอย่างต้องทำเองหมด อย่างเช่นที่พุทธเจ้าบอกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เพราะถ้าเราไม่ทำงาน เราไม่เรียนรู้ด้วยตัว เอง เราก็จะไม่เข้าใจถึงหลักของการ ทำงานนั้นๆ
สีที่ใช้แม้ต้องใช้เวลาในการทำ และอาจจะไม่สะดวก แต่ว่าเวลาเราทำ เรามีความสุข ถ้าเราใช้สีอื่นซึ่งซื้อมาแล้วบีบ ใช้ เราก็อาจจะไม่ซาบซึ้งเท่ากับการที่เราลงมือทำเอง และรู้ว่ากว่าจะได้แต่ละ สีมามันยากลำบากอย่างไร อย่างเวลาที่ บดสี ผมว่ามันเหมือนกับการทำสมาธิ”
นอกเหนือจากเชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทำในฐานะของนักอนุรักษ์และผู้สืบทอด จิตรกรรมไทยโบราณ ปรีชายังบอกอีกด้วยว่า งานของเขาคืออีกหนึ่งช่องทาง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เขานำเสนอเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
“ผมไม่ชอบเขียนภาพต้นไม้ใบหญ้า หรือพวกหุ่นนิ่ง เราเขียนมันได้ แต่มันไม่ได้ทำให้เราเกิดกุศลกรรมมากเท่ากับเขียนภาพพระพุทธเจ้า ผมไม่ได้เข้าข้างตัวเองนะ แต่ผมเชื่อว่า ภาพที่สมควรเขียนมากที่สุด ก็คือภาพพระพุทธเจ้า
ที่ผ่านมาผมศึกษาพุทธประวัติ ว่าพระพุทธเจ้าเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง แล้วผมก็นำ เรื่องราวเหล่านั้นมาเขียน บางครั้งถ้าอยากจะรู้อะไรที่มากกว่านั้น ก็ต้องศึกษาพวกพุทธพจนะ พุทธธรรมต่างๆที่พระองค์สอนไว้ในพระไตรปิฏกซึ่งมันจะยากนิดนึง แต่บางทีมันจะมีข้อมูลในนั้น ที่จะมาช่วยสนับสนุนกับสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ
เนื้อหาตอนหนึ่งในพระไตรปิฎก พระองค์ทรงสั่งให้ช่างเขียน เขียนภาพไตรภูมิขึ้นมา เพื่อต้องการสั่งสอนประชาชน ให้ประชาชนบางคนที่ไม่มีความรู้ สามารถเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนจากภาพปริศนาธรรมที่เขียน”
ปรีชาเลือกเอาคำว่า “วิจรณจิตร” ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฏกและมีความหมาย ว่าภาพเขียน มาตั้งเป็นชื่อของผลงานชุดนี้ของเขา เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่นำเสนอ
“ภาพจิตรกรรมที่ผมเขียน มันเป็นภาพที่สะท้อนความรุ่งโรจน์ของความศรัทธาในพระพุทธศาสนาในอดีต และสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งผมก็ยังอยากให้มันดำรงอยู่ต่อไป”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดยฮักก้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น