xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินกับศิลปะ : หันหน้าเข้าหาวัด หันหน้าเข้าหาธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำหรับคนรุ่นใหม่หลายๆคนในยุคนี้ วัดอาจเป็นสถานที่ที่ฟังดูน่าเบื่อหน่าย น้อยนักที่จะมีสิ่งกระตุ้นอื่นใด มาทำให้หันหน้าเข้าหาวัดได้อย่างง่ายดาย
ตรงกันข้ามกับศิลปินหนุ่มรายนี้ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี วัดยังเป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับเขาเสมอ เพราะนับแต่จำความได้ วิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบทที่ อ.เทิง จ.เชียงราย บ้านเกิดของเขา สถานที่ที่ชาวบ้านทุก คนสามารถมารวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็เห็นจะเป็นลานกว้างภายในวัดนั่นเอง
ทั้งงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สงกรานต์ และเทศกาลอื่นๆอีกมากมายหลายโอกาสที่ ‘ณรงค์ มาวงศ์’ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง จนกลายเป็นความทรงจำที่ชายหนุ่มลืมไม่ลงจนถึงวันนี้ เพราะหลับตานึกถึงภาพทีไร ก็นึกถึงแต่ใบหน้าอันอิ่มบุญของผู้เฒ่าผู้แก่ และความสามัคคีในหมู่ ผู้มีใจตั้งมั่นที่จะทำความดี ละเว้นการทำบาป มากกว่าจะนึกถึงด้านที่ไม่ดีไม่งามอื่นๆ
จากที่วัดเคยเป็นลานวิ่งเล่นสำหรับเขาในวัยเด็ก ในเวลาต่อมาวัดยังได้กลายห้องเรียนขนาดใหญ่ให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆอีกมากมาย ไม่เพียงแต่ในยามที่ต้องการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเองเท่านั้น
โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเป็นนักศึกษา สาขาจิตรกรรม คณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ(เจ็ดยอด) จ.เชียงใหม่ แทบทุก อาทิตย์ที่เขาและเพื่อนๆร่วมคณะ ได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการนั่งสเก็ตช์ภาพและเขียนภาพอยู่ภายในวัด
ซึ่งณรงค์บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะเชียงใหม่มีวัดตั้งอยู่มากมาย เบื่อวัดโน้นก็เข้าออกวัดนี้ได้ตามสะดวก
“เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และมีความหลากหลายด้านชนชาติ สถาปัตยกรรมมากมายถูกรังสรรค์ขึ้นจากความศรัทธาที่ผู้คนมีต่อพุทธศาสนา ด้วยความเลื่อมใสอย่างบริสุทธิ์ใจ ทำให้เกิดเป็น สถาปัตยกรรมที่มีความงดงาม อ่อนช้อย และมีเอกลักษณ์โดดเด่นตามแบบฉบับของแต่ละสกุลช่าง”
และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมัน ของณรงค์ หนึ่งในสมาชิกของศิลปินกลุ่ม ‘สายน้ำ’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของศิลปินชาวล้านนารุ่นใหม่ ผู้ศรัทธา ในงานศิลปะแนวประเพณีไทย ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพสถาปัตยกรรมอันงดงามของวัดที่เขาผ่านไปพบเห็น โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากชาวไทใหญ่ และพม่า ผนวกเข้ากับบรรยากาศที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปทำบุญในวัดในช่วงเทศกาลงานสำคัญ
เขาไม่ได้เจาะจงเขียนภาพวัดใดวัดหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการนำบรรยากาศที่พบเห็นจากหลายๆวัดมาจัดองค์ประกอบใหม่ เพื่อให้เกิดความสวยงามและลงตัวทาง ศิลปะ และเป็นการย้อนนึกถึงบรรยากาศเก่าๆที่เขาและชาวบ้านทั่วไป เคยมีความผูกพันกับวัดอย่างไรบ้าง
“ผมอยากให้คนดูได้สัมผัสกับบรรยากาศของคนที่ไปทำบุญที่วัด และหวังว่าภาพเขียนของผมจะทำให้พวก เขาเห็นถึงความสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป”
ปัจจุบันแม้ณรงค์จะไม่มีเวลาหันหน้าเข้าหาวัดได้บ่อย ครั้งเหมือนเช่นอดีต เพราะต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปกับการหาเลี้ยงชีพ แต่วิธีการหันหน้าเข้าหาธรรมในแบบของเขาที่ทำอยู่เป็นประจำก็คือการนั่งสมาธิและหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาเปิดอ่านในวันว่าง และใช้ธรรมะที่ถ่ายทอดผ่านทางหนังสือเหล่านั้นช่วยคลายข้อสงสัยในชีวิต
“หนังสือธรรมะช่วยผมได้เยอะในแง่ของการเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นทางลัดที่จะช่วยให้เราเข้าใจอะไรหลายๆอย่าง โดยที่เราไม่ต้องใช้เวลาไปค้นหาเอาเอง”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 99 ก.พ. 52 โดยฮักก้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น