xs
xsm
sm
md
lg

โวย 7 มหา’ลัยดังดูดแต่หัวกะทิ ชี้ เด็ก ตจว.เสียเปรียบเด็กกรุง วอนลดรับตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ประธานแอดมิชชันฟอรัม วอนมหาวิทยาลัยดังลดจำนวนรับตรงลง เปิดพื้นที่ให้แอดมิชชัน 30% เพื่อให้โอกาสเด็กต่างจังหวัดบ้าง ชี้ มีมหาวิทยาลัยในไทยอยู่แค่ 7 แห่ง ที่จะกำหนดกติกาสูงอย่างไรก็ได้เพื่อคัดเด็กหัวกะทิ ซึ่งทำให้เด็กกรุงเทพฯ ได้เปรียบทุกทาง ระบุคุณภาพเด็กวิทย์ตกต่ำ ไม่ใช่ปัญหาหลักสูตร แต่เพราะครูสอนไม่ตรงสาขา ขณะที่มหา’ลัย ไม่ปรับเนื้อหาชั้นปี 1 ให้สอดคล้องกับหลักสูตร ม.ปลาย

จากที่ที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) ระบุ ปัญหาระบบการคัดเลือกเด็กที่รวมสอบฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เข้าด้วยกันเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ ในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชัน ทำให้ได้เด็กที่ไม่มีพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ เมื่อเข้าเรียนในคณะที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงเกิดปัญหาผลการเรียนต่ำ

นายพงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า มช.จะรับนักศึกษาโดยระบบรับตรง และโครงการพิเศษต่างๆ 70% และแอดมิชชัน 30% จึงไม่มีปัญหาเรื่องได้เด็กที่มีพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ไม่แน่นพอมาเรียน เนื่องจาก มช.คัดเด็กเองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปีการศึกษา 2553 จะเพิ่มสัดส่วนรับตรงหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอหารือร่วมกันก่อน

ภญ.จุไรรัตน์ นันทานิช คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ รับนักศึกษาโดยระบบแอดมิชชัน 20 คน จากทั้งหมด 90 คน คิดเป็น 22% ที่เหลือรับโดยระบบสอบตรง 78% จึงไม่มีปัญหาเช่นเดียวกับคณะวิทยาศาสตร์ สำหรับปีการศึกษา 2553 ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะเพิ่มสัดส่วนรับตรงหรือไม่
ด้าน นายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรัม ปีการศึกษา 2553 กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าองค์ประกอบและค่าน้ำหนักแอดมิชชัน ปีการศึกษา 2553-2554 คงไม่เปลี่ยนแปลง โดยคงไม่สามารถเพิ่มค่าน้ำหนัก PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ จาก 10% เป็น 30% ตามที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรียกร้องได้ เพราะค่าน้ำหนักดังกล่าว คิดว่าเหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัยโดยรวมที่มีความยากง่ายต่างกัน ถ้าตั้งกติกากลางสูงเกินไป จะทำให้บางมหาวิทยาลัยไม่ได้เด็กเข้าไปเรียนเลยเพราะเกณฑ์สูงเกินไป

“ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยยอดนิยมทั่วประเทศแค่ 7 แห่ง จากมหาวิทยาลัยรัฐ 24 แห่ง ซึ่งจะกำหนดกติกาสูงอย่างไรก็ได้เพื่อคัดเอาหัวกะทิ การที่มหาวิทยาลัยยอดนิยมเหล่านั้นไปรับตรงและกำหนดค่าน้ำหนักองค์ประกอบใหม่ ก็ทำถูกแล้วและเห็นด้วยที่จะใช้ข้อสอบกลาง คือ GAT และ PAT เพื่อลดภาระเด็กไม่ต้องสอบหลายที่ แต่ก็อยากขอร้องมหาวิทยาลัยดังๆ ทั้งหลายโดยเฉพาะบางคณะที่รับตรง 100% ว่า อยากขอพื้นที่สำหรับแอดมิชชันกลาง 30% อย่ารับตรงทั้ง 100% เลย เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยยอดนิยมบ้าง การที่กำหนดกติกากลางไม่สูงเกินไปนัก จะช่วยถัวเฉลี่ยคะแนน ให้เด็กเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยดังๆ ได้ แต่ถ้ากำหนด PAT 7 30% เด็กต่างจังหวัดจะไม่มีโอกาสเข้าไปเรียนเลย เพราะเสียเปรียบเด็กที่เรียนในกรุงเทพฯ ทุกทาง มหาวิทยาลัยอาจมองว่าการกำหนด PAT 7 10% ทำให้ได้เด็กไม่เก่งภาษาและเกิดปัญหาเมื่อเข้าไปเรียนได้ การมองแบบนั้นก็มองได้ แต่เป็นการมองคนละมุมกับผมที่มองเรื่องให้โอกาสกับเด็กต่างจังหวัดเป็นสำคัญ ผมอยากขอพื้นที่สำหรับแอดมิชชัน 30% เพื่อให้โอกาสกับเด็กต่างจังหวัด ส่วนอีก 70% มหาวิทยาลัยก็มีโอกาสคัดเลือกเด็กหัวกะทิผ่านระบบรับตรงอยู่แล้ว” นายมณฑล กล่าว

ประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรัม กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องของ ทวท.ที่อยากให้แยกสอบวิชาชีววิทยา เคมี และ ฟิสิกส์ นั้น เบื้องต้นได้พูดคุยกับ นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการ สทศ.แล้ว ได้รับคำตอบว่ายินดีจัดสอบให้ ถ้า ทวท.ต้องการและมีจำนวนเด็กสอบมากพอ ฉะนั้น คิดว่า สทศ.คงเริ่มจัดสอบ 3 วิชานั้นได้ ในปีการศึกษา 2554 เพื่อให้บริการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ดึงไปใช้ในระบบรับตรง สำหรับปีการศึกษา 2553 คงทำไม่ทัน
 
อย่างไรก็ตามการจัดสอบ 3 วิชาดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับองค์ประกอบแอดมิชชัน โดย PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ก็ยังคงสอบ 4 วิชารวมกันเหมือนเดิม ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าเด็กที่เข้าไปเรียนกลุ่มวิทยาศาสตร์ คุณภาพลดลงเมื่อเทียบกับอดีตนั้น คิดว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตนวิเคราะห์หลักสูตรฯ แล้วดีมาก และดูแล้วเด็กจะเรียนกว้างและรู้เยอะมากกว่ารุ่นตนด้วยซ้ำ เพียงแต่ปัญหา คือ โรงเรียนสามารถหาครูที่จบตรงสาขามาสอนได้หรือไม่ ครูที่จบฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา มีเพียงพอไหม หรือจบสาขาอื่น แล้วมาสอน เพราะวิชาเหล่านี้ต้องการครูที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาสอน

“ศธ.คงต้องวิเคราะห์ปัญหาครูจบตรงสาขาเพียงพอไหม และต้องหาทางแก้ไขในระยะยาว ที่สำคัญน่าบางมหาวิทยาลัยเคยย้อนกลับไปดูหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานบ้างหรือไม่ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างและตนเองได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 เพื่อให้สอดคล้องกับม.ปลายบ้างหรือไม่ หรือว่าเคยสอนอย่างไรก็สอนอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อว่าบางมหาวิทยาลัยสอนแบบเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทั้งที่หลักสูตรฯ ม.ปลาย ปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว”

นายมณฑล กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 13 มีนาคม คณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรั่ม ปีการศึกษา 2553 จะหารือเรื่ององค์ประกอบแอดมิชชัน ปีการศึกษา 2554 โดยจะนำข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีมาพิจารณา โดยเฉพาะประเด็น GPAX ที่มองว่าโรงเรียนมีมาตรฐานต่างกันในการให้เกรด ซึ่งจะมาหารือกันว่าในปีการศึกษา 2554 ไม่ควรให้ค่าน้ำหนัก GPAX ดีหรือไม่ แต่กำหนดให้เป็นเกณฑ์เงื่อนไขขั้นต่ำในการใช้คัดเลือกแอดมิชชันแทน เช่น กำหนดว่าเด็กต้องได้ GPAX 3.00-3.50 เพื่อเด็กไม่ทิ้งห้องเรียน เป็นต้น นอกจากนี้จะพิจารณาถึงประเด็นสัดส่วนรับตรงต่อแอดมิชชัน ปีการศึกษา 2553 ที่ได้ขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งข้อมูลเข้ามา ซึ่งขณะนี้ขาดอยู่แค่ 4 แห่ง

ด้านนายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์นั้น โดยรวมเด็กทุกคนต้องเรียนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐานและทักษะจำเป็นต่อชีวิตทุกคน เพื่อใช้สำหรับการสอบโอเน็ต แต่สำหรับเด็กสายวิทย์นั้น จะเรียนเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นวิชาเลือกเสรี คือ วิชาฟิกส์ เคมี และชีววิทยา โดยโรงเรียนกำหนดชัดเจนว่าจะต้องเรียนกี่รายวิชา และยังมีหนังสือเรียนแยกตามรายวิชาต่างหากด้วย และตนได้เคยวิเคราะห์แล้วว่าหลักสูตรที่ใช้อยู่ ก็ไม่ต่างจากสมัยที่แยกสอน 3 วิชา
 
ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร แต่อยู่ที่เครื่องมือคัดเด็กมากกว่าที่ทำให้ไม่ได้เด็กตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ ทปอ.จึงควรหารือร่วมกับสกอ.แล้วปรับเครื่องมือใหม่ แทนที่จะรวมฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา 3 วิชาเป็นเอเน็ตวิทยาศาสตร์ 100 คะแนน ทำไมไม่แยกสอบอย่างละ 100 คะแนน หรือเมื่อเปลี่ยนมาใช้ข้อสอบ PAT 2 การวัดความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ทำไมไม่แยกสอบ 4 วิชาเป็น PAT วิทยาศาสตร์ 1 ถึง PAT วิทยาศาสตร์ 4 แทนที่รวมทั้ง 4 วิชาอยู่ใน PAT 2 ดังนั้น ทปอ.และ สกอ.ควรหารือร่วมกันเพื่อปรับเครื่องมือ และหากยังเห็นว่า สพฐ.ควรเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนใด เราก็ยินดี
กำลังโหลดความคิดเห็น