xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : ออกกำลังกายสมอง ต้านอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความกังวลของลูกหลานที่มีต่อคุณตาคุณยายหรือผู้สูงอายุที่บ้าน มักมาจากโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโรคที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นอย่าง “อัลไซเมอร์”
อัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อม (DEMENTIA) ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากสารหลั่งในสมองที่เกี่ยวกับความจำลดลง และมีการตายของ เซลล์สมอง พบว่า มีสารผิดปกติอมัยลอยด์ ในสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย ในช่วง 8-10 ปี หลังจากเริ่มมีอาการ และไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการสมองเสื่อมรุนแรงยิ่งขึ้นจนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติแม้กระทั่งการแปรงฟัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักพบในผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป แต่อาจพบในผู้ที่อายุน้อยกว่าก็ได้ ซึ่งมักจะมีประวัติสมองเสื่อมในครอบครัวด้วย
โรคนี้ต่างจากอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ตรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเพียงแต่ประคับประคอง ไม่ให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว การดูแลรักษาประคับประคอง เช่น การบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิต ไขมันในเลือดสูง และรักษาจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด เข้าร่วมสังคมสม่ำเสมอ
และที่สำคัญ คือ ออกกำลังสมอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สมองทำงาน ไม่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น

• การออกกำลังสมองคืออะไร
การออกกำลังสมอง หรือ นิวโรบิกส์ เอ็กเซอร์ไซส์ (Neurobics Exercise)เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยไม่ให้สมองเสื่อมเร็วกว่าวัย ทั้งนี้ การออกกำลังสมอง เปรียบได้กับการออกกำลังของร่างกาย ที่จะต้องเคลื่อนไหว เพื่อใช้กล้ามเนื้อหลายๆ ส่วนให้ทำงานเชื่อมโยงกัน ส่งผลให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น
ดังนั้น การออกกำลังสมองจึงเป็นเสมือนการฝึกให้สมองส่วนต่างๆ มีการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กัน ทำให้ระบบการทำงานของสมองแข็งแรงและมีพลังขึ้น เพราะเมื่อฝึกออกกำลังสมองบ่อยๆ สมองจะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า “นิวโรโทรฟินส์” เปรียบเสมือน “อาหารสมอง” ที่ทำให้เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “เดนไดรต์” ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ ประสาททำงานดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ทำ ให้เนื้อเซลล์เจริญเติบโตและเซลล์สมองแข็งแรง
เมื่อเซลล์สมองส่วนใหญ่แข็งแรง ก็จะทำให้เกิด “พุทธิปัญญา” อันหมายถึง ความจำ สมาธิ การรับรู้ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออก รวมไปถึง “การทำงานของสมองระดับสูง” คือ การคิดแก้ปัญหา หรือการตัดสินใจ และการวางแผนที่ดีขึ้น ทำให้การทำงานของสมองยังคงประสิทธิภาพดี แข็งแรง และชะลอความเสื่อม เรียกง่ายๆว่า “สมองแข็งแรง” เหมือนการออกกำลังให้ร่างกายนั่นเอง

• หลักการออกกำลังสมอง
สำหรับหลักการออกกำลังสมองนั้น สามารถทำโดยส่งเสริมให้ประสาทสัมผัส ทั้ง 5 ได้แก่ การได้ยิน มองเห็น การได้กลิ่น ลิ้มรส และการสัมผัส ได้ทำงานประสานเชื่อมโยงกับความพึงพอใจ หรือที่เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์” (Emotional Sense) ได้ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเดิมของเรา เป็นตัวช่วย เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการไปจากเดิม
ยกตัวอย่างเช่น มีการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือทั้ง 2 ข้าง ทำงานประสานกัน เช่น การพรวนดิน การเย็บผ้า เนื่องจากพฤติกรรมและการรับรู้ต่างๆ เกิดจากการทำงานประสานกันระหว่างสมองซีกซ้ายและขวา การใช้มือข้างขวา สมองด้านซ้ายซึ่งบังคับมือขวาจะได้รับการกระตุ้น ขณะที่สมองด้านขวา บังคับการทำ งานมือซ้าย ดังนั้น เมื่อเราฝึกทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ร่างกายซีกซ้ายและขวาทำงานเข้าด้วยกัน ก็เท่ากับช่วยให้สมองทั้งสองซีกได้รับการกระตุ้นและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

• ทำได้ทั้งในบ้านนอกบ้าน
การออกกำลังสมองนั้น สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าอยู่บ้านสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ที่บ้านได้ เช่น ในขณะฟังเพลงอาจหลับตา เพื่อจะได้มีสมาธิจดจ่อ กับดนตรีได้ดีขึ้น การปั้นตุ๊กตาด้วยดิน น้ำมัน หรือประดิษฐ์ดอกไม้จากแป้ง ก็จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทางผิวหนังให้ได้รับรู้มากขึ้น
ในระหว่างเดินทางก็ฝึกสมองได้อย่างเมื่อต้องขับรถไปทำงานทุกวัน ก็ลอง เปลี่ยนเส้นทางที่ใช้อยู่เดิมบ้าง อาจเป็นเส้นทางใหม่ที่รู้อยู่แล้ว หรือเส้นทางทดลองขับก็ได้ เพราะทั้งวิวทิวทัศน์ กลิ่น และเสียงของเส้นทางใหม่จะช่วยกระตุ้นทั้งสมองชั้นนอก และฮิปโปแคมปัสให้สร้างแผนที่เส้นทางชุดใหม่ขึ้นในสมอง
หรืออาจเปลี่ยนวิธีการเดินทางบ้าง เช่น จากที่เคยขับรถก็อาจนั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามาทำงานแทน ส่วนความเคยชินที่เปิดแอร์ระหว่างขับรถทุกวันก็ลองเปิดกระจกขับรถบ้าง แต่ก็ควรเลือกเส้นทางที่ มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อเชื่อมโยงประสาทรับกลิ่น และเสียงภายนอกให้ทำงานประสาน กันมากขึ้น
ขณะทำงานก็อาจฝึกสมองไปด้วยเช่น เมื่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานใหม่ หรือคนที่ไม่ค่อยคุยด้วย เพื่อเติมข้อมูลใหม่ๆให้กับสมอง ทั้งการจำลักษณะใบหน้า เสียงพูดหรืออุปนิสัยส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน คนนั้น หรืออาจจะชวนเพื่อนร่วมงานถกเถียง อภิปรายหรือพูดคุยในประเด็นที่ไม่เคยพูด เพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ
น่าดีใจที่คนไทยตื่นตัวกับความผิดปกติที่เกี่ยวกับความจำมากกว่าแต่ก่อน ถือเป็นเรื่องดีที่ผู้ป่วยหรือญาติจะเอาใจใส่ สังเกตอาการผิดปกติมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษา เพราะหากพบอาการผิดปกติเร็ว ยังไม่ร้ายแรง ก็จะสามารถรักษาได้ผล มากกว่าปล่อยทิ้งไว้นาน
สำหรับท่านที่มีผู้สูงอายุในบ้านมีปัญหาความจำเสื่อมหรือความจำบกพร่อง อยากพูดคุยปรึกษา ติดต่อได้ที่ คลินิกความจำ ร.พ.ศิริราช ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 น. โทร.0-2419-7101-2 ได้ทุกวันทำการค่ะ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 99 ก.พ. 52 โดย รศ.พญ.วรพรรณ เสนาณรงค์ ภาควิชาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล))
กำลังโหลดความคิดเห็น