xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : คุณานิสงส์ของการทำบุญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ว่า ทรัพย์ที่หามาได้ด้วยกำลังเรี่ยวแรงและความบริสุทธิ์แล้ว ให้แบ่งเป็น ๔ ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง ให้ฝังดิน คือเอาไปเลี้ยงตน ตัวของเรานั้นเป็นแผ่นดินแผ่นหนึ่ง เราต้องรับประทานอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงตัวของเรา หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ตาม ที่อยู่อาศัยก็ตาม เรียกว่าบำรุงก้อนดินไว้ไม่ให้ชำรุดไม่ให้แตกไม่ให้ทำลาย ท่านจึงตรัสว่าฝังดิน
ส่วนที่สอง เอาไปเลี้ยงบุตรภรรยาไม่ให้ทุกข์ยากไม่ให้ลำบาก อันนั้นก็เป็นก้อนดินก้อนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าไม่เลี้ยงก็จะแตกพังไป หรือเกิดการวิวาททุ่มเถียงกันเป็นพิษเป็นภัยต่อกันและกัน การเจ็บการป่วยต้องใช้ยารักษาทั้งตัวของเราและบุตรภรรยา
ส่วนที่สาม เอาไปเลี้ยงเพื่อนมิตรสหายบริษัทบริวาร คนเราเกิดขึ้นมาอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีพวกพ้องพี่น้องญาติวงศ์ แม้ แต่เราเกิดขึ้นมาก็ไม่ใช่ผุดขึ้นมาเฉยๆ ต้องเกิดจากบิดามารดา เหตุนั้นจึงต้องเผื่อแผ่แก่บริษัทบริวารคนนอกรอบตัวเรา นั่นแหละ จะเป็นใครก็เอาเถอะ คนนั้นได้ชื่อว่าทำประโยชน์ยิ่งใหญ่อันหนึ่ง ถ้าหากว่าใช้เฉพาะส่วนตัวคับแคบไม่กว้างขวางไม่มีหมู่มีพวก แม้ แต่เวลาตายก็ไม่มีคน หามไปทิ้ง ท่านจึงว่ากินคนเดียวไม่มีความสนุกหรอก คือว่า เรารับประทานคนเดียวหมายถึงความตระหนี่ กลัวหมู่เพื่อนจะเห็นและขอกิน มันไม่สบายตรงนั้นล่ะ ถ้าเผื่อแผ่แก่หมู่เพื่อนรับประทานด้วยกัน คนนั้นมาก็ให้ คนนี้มาก็ให้ เรียกพวกพ้องหมู่เพื่อนมารับประทานด้วยกัน คุยกันสนุกเฮฮา สนุกเพลิดเพลินในตัว ไม่กลัวว่าของนั้นจะหมด ถึงของนั้นจะหมดก็ยอม (เมื่อของนั้นหมดไปหมู่เพื่อนก็ย่อมเห็นใจ)
ส่วนที่สี่ เอาไปทิ้งลงน้ำ คือเอาไปทำบุญทำทานเหมือนกับว่าไปทิ้งลงน้ำหายเงียบหมด คนทำบุญทำทานแล้วเขาไม่ห่วง จะทานมากทานน้อยเท่าใดก็ไม่ห่วง เราเคยทำทานแล้วก็ยังจะทำอีก แล้วยังชักชวนผู้อื่นให้ไปทำอีกด้วย ของที่ทิ้งลงน้ำแล้วหายหมดไม่เป็นห่วง อนึ่ง ของที่ทำทานแล้วย่อมเย็นยิ่งกว่าน้ำ ไม่เหมือนเสียโดยทางอื่น
ถ้าหากคนใดหาสมบัติมาได้แล้ว ใช้จ่ายเป็น ต้องแบ่งออกเป็น ๔ ส่วนอย่างที่อธิบายมานี้ ผู้นั้นจะมีความสุขสบายทั้งในโลกนี้และทั้งในโลกหน้าด้วย เมื่อจิตใจเบิกบานผ่องแผ้วอยู่ในโลกนี้แล้ว ตายไปจิตใจก็ผ่องแผ้วเบิกบาน เรียกว่า ให้ความสุขแก่เราในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำประโยชน์ในโลกทั้งสองนับว่าหาได้ยากที่สุดในโลกนี้ ส่วนมากหาแต่ใส่ปากใส่ท้อง บำรุงแต่ร่างกายอย่างเดียว ที่จะคิดถึงประโยชน์ ข้างหน้าน่ะน้อยนักน้อยหนา เรารู้แล้วว่าเกิดมาต้องตาย เมื่อตายแล้วไม่มีอะไรติดตัวของเราไป กายนี้ มันเป็นของแตกของดับ จิตใจไม่แตกไม่ดับ ตายแล้ว ทิ้งกายนี้ไว้ ส่วนจิตใจมันไปถือเอากำเนิดในคตินั้นต่อไป
ครั้นเมื่อตายไปแล้ว คราวนี้ไปทนทุกข์ทรมาน ไม่ ได้เสวยผลบุญอานิสงส์อะไร เพราะไม่ได้ทำกุศลไว้ในชาติปัจจุบันนี้ จะทนทุกข์ทรมานด้วยประการต่างๆ ก็ไม่มีใครรู้เห็นด้วย จะได้คิดภายหลังว่า โอ้! เราเกิด ขึ้นมาเสียชาติ ไม่ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ตนเองแก่ผู้อื่น แก่บ้านเมืองก็ไม่ได้ทำ เสียชาติที่เกิดมาเปล่าๆ แต่ถึงแม้จะเสียใจก็ได้แต่เสียใจอยู่คนเดียว เพราะหมดโอกาส เราตายแล้วไม่ได้กลับมาแก้ตัวอีกต่อไปแล้ว
เหตุนั้น เมื่อเกิดมาเป็นคน รู้ตัวว่าเราจะต้องตาย จงรีบทำคุณงามความดี ทำประโยชน์ไว้เสีย การทำมากหรือทำน้อยไม่เป็นปัญหา ขอให้ตั้งเจตนาให้ดีให้ เชื่อมั่นในบุญกุศลที่ตนทำนั่น จิตใจแน่วแน่อยู่กับ กุศลอันนั้น ก็จะเป็นของมากอยู่เอง ไม่ต้องเอาหน้า เอาเกียรติ ไม่ต้องเอาชื่อเอาเสียง เอาเฉพาะใจของตนเอง ตั้งศรัทธาแน่วแน่เฉพาะบุญกุศลที่ตนทำเอง นั่นล่ะเป็นอานิสงส์มาก กุศลมากตรงนั้นแหละ
จงทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน ได้แก่ ใช้ทรัพย์สมบัติให้เป็นประโยชน์อย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้นได้ชื่อว่า พึ่งสมบัติได้ในปัจจุบันโลกนี้และยังพึ่งสมบัติได้ในโลกหน้าอีกด้วย
(แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๖)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 98 ม.ค. 52 โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น