xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ ; ดูแลสุขภาพในหน้าหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงฤดูหนาวเราอาจเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส บาง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม โดยเฉพาะแพ้สิ่งต่างๆที่อยู่ในบ้าน เช่น ขนของสัตว์เลี้ยง ตัวไรในฝุ่นก็อาจมีอาการแพ้มากขึ้น โดยอาจมีอาการจาม น้ำมูกไหล หรือบางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วก็อาจมีอาการหอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าติดไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย นอกจากนั้นปัญหาเรื่องผิวหนังก็เป็น เรื่องที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้งคันหลังอาบน้ำ ซึ่งพบบ่อยมากในผู้สูงอายุซึ่งมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยและต่อมไขมันก็ทำงานลดลงตามอายุ หรือคนที่ผิวแห้งอยู่เดิมก็อาจคันมากหรือผิวลอกไปเลย บางรายที่เป็นผื่นผิวหนังแพ้อากาศเย็นก็อาจทำให้มีผื่นแพ้อากาศเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้

• สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหา เรื่องสุขภาพ
ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งติดต่อได้ทางระบบหายใจ เช่น ไอ จาม ทำให้เชื้อโรคกระจายออกมาในอากาศ หรือจากการที่มีเสมหะ น้ำลายของผู้ป่วยเปื้อนอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ แล้วมือเราไปสัมผัสมาแล้ว เผลอไปจับจมูก จับหน้าของเรา ทำให้เชื้อโรคเข้าจมูกหรือตาได้
ส่วนอาการโรคภูมิแพ้เกิดจากการที่เรามีโอกาสมากขึ้นในการอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เราแพ้ เช่น พอฤดูหนาว เราและสัตว์เลี้ยงอาจอยู่ในบ้านมากขึ้น ถ้าเราแพ้ขนสัตว์อาจทำให้มีอาการมากขึ้น หรือเรานอนมากขึ้นในฤดูหนาวทำให้แพ้ตัวไรในฝุ่นตามที่นอนหมอนมุ้งมากขึ้น สำหรับอาการผื่นแพ้อากาศเย็นหรือคันตามผิว แห้งลอกนั้นเกิดจากอากาศที่เย็นโดยตรง

• โรคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุดในฤดูหนาว เพราะเป็นโรคที่อาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ และอาจมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากได้ โดยเฉพาะถ้ามีการระบาด โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ปีละ 20,000 - 50,000 คน บางรายเพลียมาก มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวมากจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือหยุดงาน และมีบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ทำ ให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือบางรายถึง แก่ชีวิต ซึ่งมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุ แต่พบไม่บ่อย เสียชีวิตปีละไม่กี่รายจากจำนวนคนที่ป่วยหลายหมื่นคน
สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะคล้ายๆกับโรคไข้ชนิดอื่นๆ คือ มีไข้ ไอจาม มีน้ำมูก ระคายคอ แต่ถ้ามีไข้มากหรือปวดเมื่อยตามตัวมากต้องระวังว่าอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ โดยโรคนี้พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืดอยู่เดิม หรือมีโรคเรื้อรังที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ เช่น ไตวาย เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ได้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ อาจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ปอดอักเสบติดเชื้อ จากไข้หวัดใหญ่เองหรือจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้มาก

• วิธีการรักษา
โรคไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือให้การรักษาตามอาการ คือช่วงที่มีไข้ก็รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล เช็ดตัวบ่อยๆพักผ่อนมากๆ ไม่ตรากตรำทำงานหนัก ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ายู่ต้องงด และรับประทานยาลดอาการต่างๆ เช่น ถ้าไอก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน เนื่องจากอาจเกิดตับวายและสมองอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น หอบเหนื่อย ซึม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่ง อาจมีไข้ อ่อนเพลียโดยอาการไม่ชัด แล้วมีอาการซึม สับสน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบเป็นส่วนน้อย สำหรับยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะมักไม่ต้อง ใช้ เพราะโรคจะหายได้เอง จึงใช้เฉพาะใน รายที่อาการรุนแรงเท่านั้น

• ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
แนะนำให้ฉีดเฉพาะในรายที่มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากโรคสูง ส่วนในคนทั่วไปยังไม่แนะนำ เนื่องจากวัคซีนได้ผลประมาณร้อยละ 70-90 แต่ในผู้สูงอายุอาจได้ผลน้อยกว่านี้ สาเหตุของการที่ได้ผลน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ตลอด โดยควรฉีดวัคซีนก่อนถึงช่วงที่จะมีการระบาดของโรค เนื่องจากเมื่อฉีดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ร่างกายจะเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้ 1 ปี ฉะนั้นต้องฉีดปีละครั้ง สำหรับกรณีที่ควรฉีดวัคซีนได้แก่
1.ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี
2.ผู้ที่โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ และระบบไหลเวียนเลือด
3.ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆ เช่นโรคไต โรคเบาหวาน
4.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันด้วย
5.เด็กอายุ 6 เดือน-8 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ เนื่องจากถ้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจจะเกิดตับอักเสบ และสมองอักเสบได้
6.ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3
7.ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรค เรื้อรังหรือชุมชน เช่น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น

• ควรดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวอย่างไร
การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าสุขภาพดีจะลดโอกาสการเจ็บป่วยลง โดยทั่วไปควรปฏิบัติ ดังนี้
1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและครบหมู่ ดื่มน้ำมากๆออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
2. อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่างๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด และไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน
5. ล้างมือบ่อยๆ เนื่องจากอาจไปสัมผัสเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่างๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู แก้วน้ำ เป็นต้น แล้วเผลอไปสัมผัสบริเวณหน้าได้ โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15-20 วินาที หรือใช้น้ำยาล้างมืออื่นๆ
6. รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมากควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
7. หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อยๆ
8. สำหรับปัญหาเรื่องผิวหนัง ควรให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ถ้าอากาศหนาวมาก ไม่อาบน้ำนานๆในที่ที่หนาวมาก อาจไม่ต้องอาบน้ำวันละสอง ครั้งเหมือนฤดูอื่น หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว หลังจากเช็ดตัวหมาดๆ ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ควรทาด้วยลิปสติกมัน และไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อยๆ
ทุกคนจึงควรหมั่นคอยดูแลสุขภาพให้ดีตลอดเวลา เพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่คุ้มค่าที่สุด และไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ หากเมื่อเราป่วยอาจเป็นมากกว่าคนที่มีพื้นฐานสุขภาพที่ดี สำหรับผู้ที่อายุยังไม่มากก็ควรดูแลสุขภาพให้ดีเช่นเดียวกัน เพราะสุขภาพที่ดีในตอนอายุยังน้อยจะเป็นเกราะป้องกันโรคตอนอายุมากขึ้น

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 97 ธ.ค. 51 โดย ศ.นพ.วชิร คชการ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล)
กำลังโหลดความคิดเห็น