xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ภูเก็ตเตือนไข้เลือดออกระบาดตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 1 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สาธารณสุขภูเก็ตแจ้งเตือนการระบาดไข้เลือดออก หลังพบ 2 เดือนแรกปี 51 มีผู้ป่วยแล้วกว่า 70 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เร่งรณรงค์ให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกชุมชน

นายแพทย์ไพศาล วรสถิตย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดภูเก็ตในปี 2550 ที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงเกินเป้าหมายทุกพื้นที่และทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และยังคงมีผู้ป่วยสูงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โดยในปี 2551 มีรายงานผู้ป่วยในระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 1 มีนาคม 2551 จำนวน 78 ราย อัตราการป่วยร้อยละ 25.94 ต่อแสนประชาการ (เป้าหมายกำหนดไม่เกินร้อยละ 48.7 ต่อแสนประชากร โดยอำเภอเมืองภูเก็ตมีอัตราป่วยสูงสุดร้อยละ 28.17 รองลงมาเป็นอำเภอถลางร้อยละ 27.68 และอำเภอกะทู้ร้อยละ 12.39 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง อัตราป่วยตายร้อยละ 1.33 (เป้าหมายกระทรวงกำหนดไม่เกินร้อยละ 0.13 ) ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

“จากแนวโน้มการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้ตระหนักและช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายก่อนเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโรค” นายแพทย์ไพศาล กล่าวและว่า

วิธีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายนั้น จะต้องช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นต้นเหตุทุกสัปดาห์ เช่น ภาชนะเก็บน้ำในห้องน้ำ ห้องส้วม โอ่งน้ำ อ่างบัว จานรองกระถางต้นไม้ เป็นต้น การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น เศษวัสดุ ขยะ กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น โดยการลด เผา ฝังและดัดแปลง ภาชนะขังน้ำที่ไม่สามารถขัดล้าง เปลี่ยนถ่ายน้ำได้ทุก 7 วัน และปิดฝาภาชนะไม่ได้สามารถใช้ทรายที่มีฟอส (อะเบท) ใส่ป้องกันลูกน้ำยุงลาย ส่วนภาชนะเลี้ยงพืชน้ำ เช่น อ่างบัวให้ปล่อยปลากินลูกน้ำ เป็นต้น

การพ่นสารเคมีกำจัดยุงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ให้ผลระยะสั้น มีราคาแพง และสารเคมีอาจเป็นพิษต่อคน และสัตว์เลี้ยง รวมทั้งเกิดการดื้อยา จึงให้ใช้เมื่อจำเป็น เช่น มีผู้ป่วย หากต้องการกำจัดตัวยุงให้ใช้สารซักล้าง เช่น ผงซักฟอกผสมน้ำใส่กระบอกฉีดพ่นไปที่ตัวยุงทำให้ยุงตาย และไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

หากมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในบ้าน หรือละแวกบ้านใกล้เคียง ให้เร่งสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อไม่ให้เกิดวงจรชีวิตยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกกัด และทำให้ป่วย รวมทั้งการพ่นสเปรย์ฉีดยายุงอบทิ้งไว้เมื่อไม่มีคนในบ้านติดต่อกัน 7 วัน

กรณีที่มีไข้ 1-2 วัน และรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอลแล้วไข้ยังไม่ลด โดยที่ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก ให้ไปพบแพทย์เพื่อนรับการตรวจเลือด ห้ามซื้อยาแก้ปวดเมื่อย หรือแอสไพรินรับประทานซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายและมีเลือดออกมากขึ้น และเฝ้าระวังอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย คือ ช่วงที่ไข้ลดตัวเย็นซึ่งอาจเข้าสู่ภาวะช็อคแต่ผู้ป่วยยังมีสติ พูดคุยได้ แต่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ กระสับกระส่าย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะผู้ใหญ่จะมีความอดทนกับอาการป่วยและมักไม่ให้ความสำคัญทำให้เกิดภาวะช็อกนานหากเกิน 6-12 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น