สธ.เผยประชาชนแห่โทร.สายด่วนไข้หวัดใหญ่ 2009 วันเดียวกว่า 2,000 สาย ยันสถานการณ์ในไทยไม่ได้เลวร้ายที่สุดในโลก ระบุเหตุที่จำนวนคนป่วยยืนยันมาก เป็นผลมาจากการทุ่มเททำงานของเจ้าหน้าที่ เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมาก
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดสายด่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทางหมายเลข 0-2590-3333 และ 1422 บริการตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าได้รับความสนใจจากประชาชน โทรศัพท์สอบถามจำนวนมาก ตลอดวานนี้มีทั้งหมด 2,112 สาย เฉลี่ยนาทีละ 1 สาย ส่วนใหญ่มีความสงสัยเรื่องอาการป่วยและการรักษา
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะมีอาการ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีอาการเล็กน้อย อาการจะทุเลาลงตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยได้เองภายใน 3-5 วัน โดยให้พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่หากมีอาการซึมหรืออ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว หรือเหนื่อย ต้องรีบไปพบแพทย์ หรือเมื่อครบ 48 ชั่วโมงแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ให้ไปพบแพทย์เช่นกัน
“ขอให้ผู้ที่ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่พักรักษาตัวที่บ้าน อย่าออกนอกบ้านหรือไปทำงาน ยกเว้นไปพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้น ส่วนการดูแลตนเองที่บ้านจะเหมือนกับโรคไข้หวัดทั่วไป คือ นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำสะอาด และน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน และรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ตามคำแนะนำของเภสัชกร”นพ.ไพจิตร์ กล่าว
ด้านนพ.คำนวน อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ของไทย ในขณะนี้ไม่ได้เลวร้ายที่สุดในโลก เหมือนที่หลายฝ่ายวิตก สาเหตุที่ไทยมีรายงานจำนวนผู้ยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และผู้เสียชีวิตมากขึ้นทุกวัน เป็นผลมาจากการทำงานเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งผู้ป่วยรายที่สงสัยส่งตรวจ โดยในการเปรียบเทียบสถานการณ์กับประเทศอื่นๆ ตามหลักสากลและทางวิชาการ จะดูจากจำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรล้านคน ซึ่งขณะนี้ไทยมีผู้เสียชีวิต 24 ราย คิดเป็นผู้เสียชีวิต 0.4 ต่อล้านประชากร ซึ่งน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้เสียชีวิต 0.7 ต่อล้านประชากร ส่วนที่แคนาดามีผู้เสียชีวิต 1.2 ต่อล้านประชากร และอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 - 15 กรกฎาคม 2552 มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 4,469 ราย เสียชีวิตเท่าเดิม 24 ราย เฉพาะวันนี้ได้รับผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม 412 ราย ส่วนสถานการณ์โลก องค์การอนามัยโลกรายงานถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 มีผู้ป่วยใน 136 ประเทศ รวม 94,512 ราย เสียชีวิต 429 ราย