xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : บทเพลงส่งเสด็จ ‘พระพี่นาง’ สู่สวรรคาลัย จากใจอันภักดี ของ ‘ณัฐ ยนตรรักษ์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความละเมียดในตัวโน้ต ดนตรี ผสานกับเมโลดี้อันไพเราะและตราตรึง แต่แฝงไปด้วยความโศกเศร้าอาลัยในบทเพลง ‘ทูลลา’ ที่ได้ส่งผ่านไปสู่ห้วงหัวใจของผู้ฟังทุกคนอย่างลึกซึ้ง
บทเพลงอันไพเราะนี้ได้ถูกบรรจงถ่ายทอดผ่านปลายนิ้วอันพลิ้วไหวลงบนคีย์เปียโนของ ‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ นักเปียโนและนักประพันธ์เพลงชื่อก้องของไทย ซึ่งได้ประพันธ์บทเพลงแห่งความภักดีนี้ขึ้นมา และเป็นผู้ถ่ายทอดอารมณ์เพลงนี้ด้วยตัวเอง เพื่อน้อมฯส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสู่สวรรคาลัย
ณัฐเริ่มเล่าย้อนถึงความเป็นมาและแรงบันดาลใจที่ก่อเกิดมาเป็นบทเพลงนี้ให้ฟังว่า ทุกอย่างที่เขาบรรจงถ่ายทอดออกมานั้นล้วนเกิดจากจิตสำนึกแห่งความภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน ความเศร้าโศกที่ต้องสูญเสียขัตติยนารีผู้มีน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตา และภาพพระจริยวัตรต่างๆของพระองค์ที่ทรงงานหนักเพื่อแผ่นดินมาตลอดพระชนมชีพ เพียงหวังอยากจะเห็นพสกนิกรของพระองค์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงกลายมาเป็นที่มาของเพลงทูลลา
“ครั้งแรกที่ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ รู้สึก เสียใจและเสียดายเป็นอย่างมากที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ดังนั้นผมจึงเริ่มเขียนเพลงประมาณปลายเดือนมกราคม และเสร็จประมาณต้นเดือนมีนาคม ผมคิดว่าเป็น การแต่งเพลงที่ใช้เวลาในการแต่งน้อยที่สุด เพราะภาพพระจริยวัตรของพระองค์ที่ทรงประกอบพระกรณียกิจต่างๆ นั้น อยู่ในความทรงจำของผมมาโดยตลอด เพราะเมื่อ พระองค์ท่านทรงพระชนม์อยู่ ผมมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและ ได้แสดงดนตรีคลาสสิกถวายต่อหน้าพระพักตร์มาหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้จึงกลายมาเป็นความภาคภูมิใจและปลาบ ปลื้มใจเกินจะพรรณา ดังนั้นผมจึงประพันธ์เพลงนี้เพื่อเป็นการทูลลาส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัย”
ณัฐอธิบายว่าเพลงทูลลา (LAdieu) นั้นเป็นบทประพันธ์ สำหรับเดี่ยวเปียโน เพื่อแสดงความรู้สึกโศกเศร้าโทมนัสใจในการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งโครง สร้างของเพลงประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วน A B A โดยท่อน A จะอยู่ในบันไดเสียงไมเนอร์ที่สะท้อนความอาลัยรักและความเศร้าเสียดายที่ต้องสูญเสียขัตติยนารีผู้ทรงคุณต่อแผ่นดินอย่างไม่มีวันหวนกลับคืนมา และท่อน B จะเป็นบันไดเสียงเมเจอร์ ซึ่งในท่อนนี้จะสดใสกว่าท่อน A เพราะเป็นการรำลึกถึงคุณูปการน้อยใหญ่ที่พระองค์ทรงทำประโยชน์ให้กับแผ่นดินซึ่งจะมองย้อนกลับไปถึงความสุขเมื่อพระองค์ทรงพระชมม์อยู่ ในขณะเดียวกันช่วงจะย้อนกลับไปท่อน A ก็จะมีคอร์ดเสียงดังกระชั้นเหมือนการทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ โดยจะมีโน้ตตัวหนึ่งดังเข้ามาเหมือนเสียงระฆัง ย้ำให้ทราบถึงข่าวนี้ซึ่งจะให้ความรู้สึกอันปวดร้าวและความเศร้าโศก และช่วงจบของเพลงจะเป็นช่วงถาโถมของความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นและจบลงด้วยความสงบนิ่ง
“ความงดงามของเสียงดนตรีในหลายๆ ช่วงจะย้อนรำลึกถึงพระกรณียกิจและพระจริยวัตรอันงดงาม ที่พระองค์ ทรงมีเมตตาต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะตราตรึงอยู่ในดวงใจของเราตลอดไป”
เป็นที่ทราบกันดีว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสนพระทัยดนตรีคลาสสิกมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับเมืองไทย จึงเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิกอยู่เนืองๆ
ด้วยเหตุนี้เอง ณัฐ ชายหนุ่มในวัย 50 เศษ จึงมีโอกาส ได้แสดงดนตรีคลาสสิกถวายต่อหน้าพระพักตร์อยู่บ่อยครั้ง และแต่ละครั้งเขาถือว่าเป็นความภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ไม่มีวันลืมเลือน
“เมื่อปี 2537 ผมได้ทำเพลงสยามโซนาตา ถวายพระ-บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และในปี 2545 ผมได้นำเพลงนี้ มาแสดงในคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งโดยได้กราบทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จมาทอดพระเนตร หลังจากที่ผมแสดง เสร็จ พระองค์ทรงมีรับสั่งกับผมว่า “เล่นได้ดีมาก เล่นอีกเมื่อไรก็บอก เดี๋ยวจะมาดู”
ณัฐ เล่าว่ารับสั่งนี้เหมือนดั่งน้ำทิพย์ที่มาชโลมหัวใจ ของเขาให้ชุ่มฉ่ำ เพราะตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่เขาจัดแสดงดนตรีคลาสสิก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะเสด็จมาทอดพระเนตรทุกครั้งเมื่อสบโอกาส
“มีคอนเสิร์ตหนึ่งที่ผมซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านมากก็คือ ตอนที่ลูกชายผมแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวเปียโนเพื่อที่จะหาเงินรายได้มาช่วยเหลือน้องเจ หนูน้อยวัย 7 ขวบที่ป่วยเป็นโรคลูคีเมีย ปรากฏว่าพอเราหาเงิน ได้ครบแต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะว่าน้องเสียชีวิตแล้ว เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระกรรณของท่าน ท่านจึงมีพระดำริว่า “ทำไมถึงไม่ตั้งหน่วยงานขึ้นมาช่วยเหลือตั้งแต่แรก ไม่เห็นต้องรอให้เกิด เรื่องแล้วค่อยมาช่วย” ด้วยพระดำรินี้เอง ผมและภรรยาจึงตั้งมูลนิธิ ‘ของขวัญของชีวิต’ ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเลือด โดยท่านมีรับสั่งว่าถ้ามีเคสอะไรเร่งด่วนก็ขอให้บอก ท่านจะได้ให้การช่วยเหลืออีกทาง” ณัฐอธิบาย
ด้วยความที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อทุกคน ณัฐเล่าว่าหลังพักครึ่งการแสดงคอนเสิร์ตของมูลนิธิ ท่านจะมีรับสั่งให้ทีมแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยโรคนี้และผู้บริหารของมูลนิธิเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิ และถ้ามีอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือยังไม่ดีพอ ท่านก็จะประทานคำแนะนำให้ทีมงานทุกคน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานของมูลนิธิต่อไป
ณัฐเล่าว่าสิ่งที่เขาได้ซึมซับและเรียนรู้จากพระจริยวัตร อันงดงามของพระองค์ท่านก็คือการเป็นครูที่มีเมตตาต่อลูกศิษย์ทุกคน และไม่หยุดที่จะพัฒนาความคิดของตัวเอง เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
“เวลาที่ท่านสนพระทัยเรื่องใดท่านก็จะให้ความสำคัญและทรงตั้งใจศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เช่นทุกครั้งที่ท่านจะเสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ต จะโปรดให้เราส่งรายการแสดงไปให้ล่วงหน้าก่อน เพื่อที่ท่านจะได้ไปทำการบ้านเกี่ยวกับบทเพลง และหาซีดีมาฟังก่อน เรียกได้ ว่าท่านไม่ได้มานั่งฟังเฉยๆ แต่ทรงมาฟังเพื่อรับอรรถรส ของเพลงจริงๆ
ครั้งหนึ่งผมเคยแสดงเดี่ยวเปียโนในบทเพลงสยามโซนาตา และท่านก็เสด็จไปทอดพระเนตร จากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกันผมได้จัดแสดงเพลงนี้อีกครั้ง เพื่อใช้ในการ แสดงบัลเล่ต์ โดยได้กราบบังคมทูลเชิญท่านเสด็จมาทอดพระเนตรอีกครั้ง และการแสดงรอบนี้เองผมเปลี่ยนตัวโน้ตตัวแรกของเพลงเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น แต่ปรากฏว่าท่านทรงจำได้ว่าท่อนแรกของเพลงเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิม หลังจากคอนเสิร์ตเลิก ท่านจึงมีรับสั่งถามว่า “เพลงมีอะไรเปลี่ยนไปหรือเปล่า” คำพูดนี้เองที่ทำให้ผมรู้สึกปลื้มปีติจนถึงทุกวันนี้ เพราะเราไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่มาจากไหน แต่พระองค์ท่านก็ทรงมีความสนพระทัยในสิ่งที่เราได้ทำถวายท่าน” ณัฐบอกเล่าถึงความประทับใจที่ไม่เคยลืมเลือน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดยศศิวิมล แถวเพชร)
กำลังโหลดความคิดเห็น