xs
xsm
sm
md
lg

“ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี” อัจฉริยะได้ด้วยมือพ่อแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด.ช.ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี ขณะกำลังโชว์เพลงของ Vivaldi กับคุณพ่อธนู
เป็นสถิติที่เชื่อกันในระดับสากล ว่า ในร้อยละ 3-5 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ จะเป็นบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ แต่เท่าที่พบในประเทศไทยและมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องนั้น ถือว่าค่อนข้างน้อยมาก แต่ 1 ในจำนวนน้อยนี้ ประเทศไทย ยังคงมี “ซูเปอร์จิ๋ว” ที่มีความสามารถอยู่ในระดับที่นักวิชาการเรียกว่า “Multiple Intelligent” คือ “อัจฉริยะรอบด้าน” อย่างหนูน้อยวัย 6 ขวบ ที่จะกลายเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่ายิ่งในอนาคต

“ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี” เด็กชายวัย 6 ขวบ ในชุดทักซิโด้ผูกหูกระต่ายสีแดงเข้มเต็มยศ วิ่งตึงๆ ไปมาอย่างร่าเริงสมวัย มุดเข้ามุดออกตามบูธสีสันสดใส ดวงตาอยากรู้อยากเห็นสอดส่ายไปตามซุ้มกิจกรรมน่ารู้ที่จัดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการ “สร้างสรรค์สมอง...สู่เศรษฐกิจสังคมที่สร้างสรรค์” ที่จัดขึ้นโดยหัวเรือใหญ่ที่รับผิดชอบการเฟ้นหาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษอย่างสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปหมาดๆ

 

“ผมชอบ Vivaldi มากที่สุด”
 
หนุ่มน้อยหูกระต่ายแดงบอกเป็นประโยคแรก เขากล่าวถึงนักประพันธ์เพลงระดับโลกนาม Antonio Vivaldi คีตกวีชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งประพันธ์ผลงานฝากไว้ให้โลกอย่างมหาศาล เฉพาะคอนแชร์โต้ก็แต่งไว้ราว 500 ชิ้น โอเปร่า 46 ชิ้น โซนาต้า 73 ชิ้น

“จังหวะมันดี ดนตรีก็เพราะ เพลงของเขาดีจริงๆ”

ระหว่างที่ ธนัช กำลังพูด ลิ้นของเขาออกเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษชัดเปรี๊ยะ อันเป็นผลพวงจากการเลี้ยงลูกแบบสองภาษาของ ธนูและวัชราภรณ์ คุณพ่อคุณแม่คนเก่งผู้ซึ่งช่วยกัน “ปั้น” เจ้าตัวเล็กให้เติบโตสมบูรณ์ทั้งกาย สมอง และจิตใจ

ธนัช เล่าต่อไปอย่างไม่เคอะเขินคนแปลกหน้า ว่า ตั้งแต่เล็กๆ คุณแม่ของเขาผู้โปรดปรานเสียงดนตรีโดยเฉพาะดนตรีคลาสสิกมักจะหอบหิ้วเขาไปฟังออเครสตราดีๆ ที่นั่นที่นี่เสมอ

“แต่ไม่ได้เมืองนอกนะครับ อยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละครับ ไปฟังตั้งแต่ขวบกว่าๆ ก็ชอบ พอผมโตขึ้นมาหน่อย ก็รู้สึกว่าเสียงไวโอลินมันเพราะมาก มันเหมือนพระเอกของวง แล้วมันก็โดดเด่นกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น ผมก็เลยบอกคุณพ่อคุณแม่ ผมอยากเล่นไวโอลิน” ธนัชเล่าย้อนความหลัง

ด้าน ธนู พ่อของจิ๋วอัจฉริยะ กล่าวว่า แต่เดิมพวกเขายังไม่มีลูก ก่อนหน้านี้ทั้งสามีและภรรยาต่างก็ทำงาน แต่เมื่อรู้สึกเหนื่อยจึงหยุด และรวบรวมเงินสะสมมาไว้ใช้จ่าย ซึ่งคิดบวกลบเงินสะสมและรายจ่ายต่อเดือนก็คิดว่าพอ จึงใช้เวลาไปกับการออกกำลังกาย พักผ่อน

“แต่พอร่างกายมันดี ลูกก็มาครับ ตอนนั้นก็ค่อนข้างระวังเพราะคุณแม่เขาก็อายุพอสมควรแล้ว และด้วยความที่เราทั้งคู่ไม่ได้ทำงาน พอน้องธนัชออกมา เราก็มีเวลาให้เขาได้ 24 ชั่วโมงเต็มที่ครับ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากกับการที่พ่อแม่เลี้ยงลูกเอง ภรรยาผมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 8 เดือน ลูกก็จะได้ความอบอุ่น จากนั้นเราก็จะดูแลเขาอย่างใกล้ชิด เขาสนใจอะไร เราก็ต้องไปหาความรู้เรื่องนั้น พ่อแม่นี่ต้องทำการบ้านด้วยนะครับ และที่สำคัญคือต้องเลี้ยงเอง ถ้าคุณจบดอกเตอร์ แต่คุณให้คนใช้จบป.4 ลูกคุณก็จะได้แค่นั้น ถ้าอยากให้ลูกฉลาด ต้องเลี้ยงเองครับ ต้องให้เวลากับเขา ดูว่าเขามีแววด้านไหน”
ธนัชกับคุณพ่อธนูและคุณแม่วัชราภรณ์
พ่อของน้องธนัช เล่าต่ออย่างภูมิใจว่า เพราะการให้เวลากับลูกและการจับสังเกตพฤติกรรมของลูกนี่เอง ทำให้เขาพบแววอัจฉริยะในตัวของลูกชาย

“ธนัชหูดีมาก ตั้งแต่เด็กคุณแม่เขาจะร้องเพลงภาษาฝรั่งเศสให้ฟัง พอเขาได้ขวบครึ่ง เขาได้ยินเพลงภาษาอังกฤษเพลงหนึ่ง ที่ใช้ทำนองเดียวกับที่คุณแม่ของเขาร้องกล่อม เขาก็บอกผมว่า นี่เพลงเดียวกันนี่ ตอนนั้นผมรู้ได้ทันทีว่า ลูกชายผมน่าจะมีแววด้านดนตรี ก็ส่งเสริมเขามาตลอด งานของ Vivaldi บางเพลง เด็กธรรมดาจะใช้เวลาจำโน้ตและซ้อมจนคล่องประมาณ 7 เดือน แต่ธนัสทำได้ในเวลาแค่ 5 สัปดาห์”

ในขณะที่ วัชราภรณ์ เล่าเสริมว่า ธนัชเริ่มหัดเล่นไวโอลินตั้งแต่ 3 ขวบ และด้วยความที่ทั้งพ่อและแม่แม้จะชอบฟังดนตรี แต่ไม่มีความรู้ด้านการเล่นดนตรี จึงพาธนัชเข้าโรงเรียนดนตรี แล้วก็มีการส่งเสริมเรื่อยมา สำหรับขณะนี้ ธนัส เรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการเด็กอัจฉริยะสาขาดนตรี
น่ารักอย่างเด็กในวัยแค่ 6 ขวบ
“แต่เราจะไม่บอกเขาว่าเขาพิเศษกว่าเด็กอื่น ธนัชไม่มีปัญหากับการเข้าสังคม เขาไม่ติดทีวี ไม่ติดเกม ไม่เล่นคอมพิวเตอร์ เขาชอบเล่นกีฬา ซึ่งเราก็ปล่อย เพียงแค่ระวังมือของเขามากหน่อย เพราะสำหรับนักไวโอลิน มือสำคัญมาก”

ในขณะที่คนเป็นพ่อกล่าวด้วยน้ำเสียงปิดความภูมิใจไว้ไม่มิดว่า นอกจากจะมีเพื่อนรุ่นเดียวกันแล้ว ธนัชยังมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติซึ่งเป็นนักดนตรีที่วัยแตกต่างจากเขามากอีกมากมาย

“เขามีเพื่อนเยอะ มีอาจารย์ดนตรีที่เป็นชาวรัสเซียอายุ 60 รู้จักเขา และชื่นชมความสามารถ เขาก็คบเป็นเพื่อน ก็มาบอก คุณพ่อ ผมจะคบเขาเป็นเพื่อนนะ เขาไม่มีปัญหาเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นครับ เพราะเราเลี้ยงเขาเป็นเด็กปกติ ไม่เคยบอกว่าเขาอัจฉริยะ เราเคารพการตัดสินใจของเขา ที่เราส่งเสริมเขาด้านดนตรีหรือด้านต่างๆ เพราะเขาชอบ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไม่ชอบ เขาจะเลิก ก็คงมีบ้างที่เสียดาย แต่เราจะเคารพสิทธิเขาเต็มที่ เราเป็นพ่อแม่ มีหน้าที่ส่งเสริมในสิ่งที่ลูกสนใจเท่านั้นครับ”

ธนู กล่าวถึงลูกชายคนเก่งของเขาต่อไปอีกว่า นอกจากความเป็นเลิศด้านดนตรีของน้องธนัชแล้ว เขายังสนใจและเก่งด้านอื่นๆ อีกไม่แพ้กัน

“เขาวาดรูปมาตั้งแต่เล็กๆ ครับ งานเขาขายทั่วโลก เราขายงานเขาผ่านอินเทอร์เน็ต วันก่อนก็มีขายไปที่แคนาดา ชิ้นนั้นได้มาแสนกว่าบาท งานของเขาเป็น Abstract เขาไม่มีกรอบ เราไม่ได้เริ่มให้เขารู้จักศิลปะแบบ Realistic ดังนั้นงานของเขาจึงเป็นงาน Abstract บริสุทธิ์”

“แต่ ธนัช จะไม่เก็บตัว เขาชอบวิ่งเล่นกลางแจ้งมาก เขาตีกอล์ฟ วงสวิงสวยมาก ตอนนี้สนใจต่อยมวย ผมก็สนับสนุนให้เขาฝึก ส่วนวิชาการด้านอื่นๆ นั้นค่อนข้างดีครับ เขาเรียนได้ 4 หมดทุกวิชา ด้านภาษาอังกฤษนี่เวลาสอบต้องให้สอบข้ามระดับชั้นไปประมาณ 8-7 ชั้น เพราะเราพูดภาษาอังกฤษกับเขามาตั้งแต่เกิด ดังนั้นระดับภาษาอังกฤษของเขานี่ สื่อสารกับฝรั่งได้สบาย ส่วนเรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็ค่อนข้างดีครับ ตอนนี้กำลังสนใจดาราศาสตร์ ผมก็ต้องทำการบ้านล่วงหน้าเผื่อลูกถามอะไรเหมือนกัน” ธนู กล่าวปนหัวเราะ
ภาพผลงานศิลปะของ “น้องธนัช”
ธนู และ วัชราภรณ์ ตอกย้ำวิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่งหรือกระทั่งเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้ง่ายๆ แค่เพียงสองมือและเวลาทั้งหมดของพ่อแม่ว่า เด็กทุกคนที่เกิดมา มีความสามารถพิเศษอยู่ในตัว

“อัจฉริยะไม่ได้สร้างได้ แต่เด็กเขามีมาอยู่แล้ว แต่พ่อแม่ต้องเป็นส่วนส่งเสริม ทันทีที่เห็นแววลูก ต้องสนับสนุน เพราะทุกวันนี้เด็กหลายๆ Gifted หลายคนที่ถูกฆ่าพรสวรรค์ทิ้งไปด้วยพ่อแม่หรือครูโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมเพิ่งทราบเหมือนกันว่ามีกรณีเด็กเก่งดนตรีที่อยู่ในต่างจังหวัด ไม่มีเครื่องดนตรีเล่น จึงผิวปากและเลียนเสียงนก ปรากฏครูไม่เข้าใจ ตบบ้องหูจนหูเสีย น่าเสียดายมาก”

“แค่พ่อแม่สังเกต เลี้ยงลูกเอง ให้เวลาลูกมากๆ และพร้อมจะเคารพในสิ่งที่เขารัก สิ่งที่เขาเลือก และช่วยให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขามีความสามารถในเรื่องนั้นๆ ให้เขามีโอกาสทำในสิ่งที่เขาสนใจและรู้สึกสนุกเมื่อได้ทำ อย่างธนัชนี่เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันสนุก คือเขาทำเหมือนเขากำลังเล่น ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังถูกให้ฝึก ถูกคาดหวัง ไม่ใช่ เราไม่เคยบังคับให้ลูกต้องฝึกเท่านั้นเท่านี้ เพราะเขายังเด็ก สมาธิยาวได้ 15 นาที หรือ 30 นาที ต่อวันที่เขามีให้ไวโอลินก็ต้องเคารพ อย่าไปบังคับ พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกเก่ง ไปบังคับ บอกได้เลยว่าลูกคุณจะไม่มีทางรัก เพราะเขาเล่นเพราะโดนบังคับ ไม่ได้เล่นเพราะรัก แบบนั้นแทนที่จะดี ลูกกลับต่อต้าน...ให้เวลาลูกมากๆ ทำหน้าที่เพียงสนับสนุน อย่าไปบังคับนะครับ เคารพในการตัดสินใจของเขา และช่วยเขา ให้ความรู้เขา ให้โอกาสเขา เท่านี้ลูกก็จะมีความสุขในสิ่งที่เขาสนใจ” พ่อแม่ของอัจฉริยะจิ๋วให้คำแนะนำสรุปทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น