xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : จากต้นสายถึงปลายทาง (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๔.๗ สติมีการจดจำอารมณ์ รูปนามได้ แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
เมื่อทราบแล้วว่าสติเป็นต้นทางให้เกิดสัมมาสมาธิและวิปัสสนาปัญญา ต่อไปก็ถึงปัญหาที่ว่า ก็แล้วสติเล่า เกิดขึ้นได้อย่าง ไร พระอภิธรรมสอนพวกเราไว้ตรงๆ แล้วว่า< b>‘ถิรสัญญา’ หรือการจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสติคือความระลึกได้ การที่จิตจะระลึกถึงสิ่งใดได้ จิตต้องเคยรู้จักสิ่งนั้นมาก่อน
พวกเราผู้ปฏิบัติบางท่านปรารถนาจะให้สติเกิดขึ้น ด้วยการฝึกจิตนานาวิธี เช่น พยายามกำหนดรู้อิริยาบถ หรือกำหนดรู้ความเคลื่อนไหวของกาย หรือกำหนดรู้ลมหายใจ หรือเดินกระแทกเท้าแรงๆ หรือพยายามเคาะนิ้ว หรือแม้แต่การตั้งนาฬิกา ปลุก ฯลฯ โดยหวังที่จะกระตุ้นตนเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วิธีทำให้เกิดสติ เพราะเราทำสติให้เกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากสติเองก็เป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร ถ้ามีเหตุมีปัจจัยอันสมควร สติก็เกิด หากไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยอันสมควร สติก็ไม่เกิด ดังนั้นเราจึงควรทำเหตุใกล้ให้เกิดสติ คือการจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ แล้วสติก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องจงใจทำสติขึ้นมา เช่น เมื่อจิตจดจำได้ว่าความใจลอยเป็นอย่างไร ความโลภ ความโกรธ ความสุข ความทุกข์เป็นอย่างไร พอเกิดอาการหรือความรู้สึกเหล่านี้ขึ้น สติก็จะเกิดขึ้นเองคือเกิดระลึกได้ว่าอาการและความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว
๔.๘ การตามรู้อารมณ์รูปนามเนืองๆ ทำให้จิตจำอารมณ์รูปนามได้แม่นยำ เมื่อเราทราบแล้วว่าการจำสภาวธรรมได้แม่น ยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ คราวนี้ก็มาถึงปัญหาสุดท้ายที่ว่า แล้วทำอย่างไรจิตจึงจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ จิตจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ หากจิตเคยรู้เคยเห็นสภาวธรรมนั้นบ่อยๆ เช่นเดียวกับเมื่อเราใช้เส้นทางใดบ่อยๆ เราก็จำเส้นทาง นั้นได้แม่นยำ หรือถ้าเราเคยพบเคยเห็นใครบ่อยๆ เราก็จำคนคนนั้นได้แม่นยำ แต่ถ้านานๆ จึงจะใช้เส้นทางนั้นสักคราวหนึ่ง หรือนานๆ จึงจะได้พบคนคนนั้นสักคราวหนึ่ง อย่างนี้จิตก็จะจำเส้นทางหรือบุคคลนั้นไม่ค่อยได้
การที่จิตจะรู้จะเห็นสภาวธรรมได้บ่อยๆ ก็มีวิธีการซื่อๆ ตรงๆ อย่างเดียวเท่านั้น คือหมั่นตามรู้สภาวธรรมอันได้แก่รูปนามหรือกายใจตนเองบ่อยๆ จนรู้จักและจดจำสภาวธรรมนั้นๆได้แม่นยำ เช่น ตามรู้กายบ่อยๆ จนจำรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน รูปคู้ รูปเหยียด ฯลฯ ได้แม่น ยำ หรือตามรู้ความรู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆเนืองๆ จนจิตจำความรู้สึกแต่ละชนิดได้แม่นยำ หรือตามรู้จิตที่เป็นกุศลและอกุศลเนืองๆ จนจิตจำสภาวะของกุศล และอกุศลได้แม่นยำ หรือตามรู้สภาวธรรม แต่ละอย่างๆ เช่น นิวรณ์ ขันธ์ โพชฌงค์ และอริยสัจจ์ ได้แม่นยำ จนจิตจำสภาวธรรมเหล่านี้ได้แม่นยำ
การตามรู้กายมีชื่อเรียกเฉพาะว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตามรู้เวทนา มีชื่อเรียกเฉพาะว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตามรู้จิตมีชื่อเรียกเฉพาะว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และการตามรู้ธรรมมีชื่อเรียกเฉพาะว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถ้าจะพูดอย่างรวบย่อก็กล่าวได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้เองคือต้นทางของการปฏิบัติ เพราะจะทำให้จิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ เมื่อรูปนามใดที่จิตจด จำได้แล้วปรากฏขึ้น สติอันเป็นสัมมาสติก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ สติปัฏฐานนี้แหละเมื่อเจริญแล้วเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้น เนืองๆ เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว ศีลและสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อ เจริญสติปัฏฐานคือการตามรู้รูปนามต่อไปด้วยจิตที่มีสติ มีศีล และมีสัมมาสมาธิเนืองๆ วิปัสสนาปัญญาย่อมจะเกิดขึ้นเอง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเจริญสติปัฏฐานนี้มีผลให้เกิดสติกับปัญญา จนกระทั่งจิตเข้า ถึงความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้ด้วยความไม่ถือมั่นในรูปนามในที่สุด
ขอจบคำบรรยายเส้นทางการปฏิบัติธรรมอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งเริ่มต้นจากปลายทางสู่ต้นทางของการปฏิบัติแต่เพียงเท่านี้ ต่อไปจะได้กล่าวถึงเส้นทางการปฏิบัติอันเดียวกันนี้ แต่กล่าวตั้งแต่ต้น ทางไปสู่ปลายทาง เพื่อเพื่อนนักปฏิบัติจะได้จำเส้นทางนี้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น เส้นทางสายนี้ถ้าเราเข้าใจได้ถ่องแท้แล้ว จะเป็นเส้นทางเพื่อความพ้นทุกข์ที่ลัดสั้นอย่างยิ่ง แต่ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดี จู่ๆก็ลงมือ ปฏิบัติธรรมเอาเลย โอกาสที่จะพลาดจากเส้นทางสายนี้ก็มีมากเหลือเกิน
๕. จากต้นทางถึงปลายทางของการปฏิบัติธรรม
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเส้นทางของการปฏิบัติธรรมโดยอนุโลมนัย คือกล่าวไป ตามลำดับจากต้นทางจนถึงปลายทางของ การปฏิบัติธรรม การกล่าวโดยปฏิโลมนัย คือจากปลายทางเข้าหาต้นทางนั้น ทำไปเพื่อการสำรวจเส้นทางโดยมีจุดหมายปลายทางเป็นตัวตั้ง การปฏิบัติจะได้ไม่พลาดออกจากเส้นทางสายกลางนี้ ส่วนการกล่าวโดยอนุโลมนัยทำไปเพื่อให้เพื่อน นักปฏิบัติลงมือปฏิบัติตามไปตามลำดับ อย่างไรก็ตามการกล่าวโดยอนุโลมนัยจะกล่าวเพียงย่นย่อ เพราะรายละเอียดได้กล่าวไปพอสมควรแล้วตั้งแต่ต้น หากจะขยายความบ้างก็เท่าที่จำเป็นในจุดที่ยังไม่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่แรกเท่านั้น
เพื่อนร่วมทุกข์ผู้สนใจจะลงมือปฏิบัติธรรม ควรลงมือเดินทางดังนี้คือ
๕.๑ การเตรียมความพร้อมก่อนลงมือ ปฏิบัติธรรม
มีสิ่งที่ต้องเตรียมตัวหลายอย่างคือ
๕.๑.๑ การตั้งใจงดเว้นจากการทำบาป ๕ ประการ ก่อนจะลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติพึงตั้งใจรักษาศีล ๕ ให้มั่นคงเสียก่อนเพื่อความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติธรรม เพราะแต่เดิมนั้นเรามักจะมุ่งปฏิบัติด้วยการกดข่มบังคับจิต หรือพยายามต่อสู้กดข่มกิเลส แต่เมื่อหันมาเจริญวิปัสสนาเราจะไม่ใช้วิธีการกดข่มจิตและกิเลส แต่จะใช้วิธีรู้ทันจิตและกิเลสตามความเป็นจริง ซึ่งบางครั้งสติอาจจะเกิดไม่ทัน และกิเลสสามารถครอบงำจิตและกระตุ้นให้จิตลงมือทำบาป อกุศลได้ ดังนั้นเราจึงต้องรักษาศีล ๕ ประการไว้เป็นอย่างน้อย เพื่อเก็บปากเก็บ มือเก็บเท้าไว้ก่อน ไม่ยอมให้เกิดพฤติกรรมชั่วทางกายและวาจาตามคำบงการของกิเลสได้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบในทางชั่วต่อสังคมหรือผู้อื่นให้เป็นมลทิน แก่ชีวิต ส่วนพฤติกรรมทางใจเป็นเรื่องที่จะต้องใช้สมถะและวิปัสสนาแก้ไขปัญหาต่อไป
๕.๑.๒ การประเมินตนเอง ก่อนจะลงมือปฏิบัติธรรม พวกเราควรประเมินตนเองเสียก่อนว่า ตนเองมีจริตอย่างไร เพราะจริตจะเป็นเครื่องจำแนกว่า เราควรใช้อารมณ์ใดเป็นอารมณ์ในการทำสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน หากเราเลือกอารมณ์กรรมฐานได้ถูกกับจริต การปฏิบัติก็จะราบรื่นและได้ผลเร็ว ในทางตรงข้ามหากเราเลือกอารมณ์กรรมฐาน ไม่ถูกกับจริต การปฏิบัติก็จะเนิ่นช้าหรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร
แรกสุดจำเป็นต้องพิจารณาจริตเพื่อการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเสียก่อน เพราะวิปัสสนากรรมฐานเป็นงานหลัก เพื่อความพ้นทุกข์อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ส่วนสมถกรรมฐานเป็นงานสนับสนุนเท่านั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น