xs
xsm
sm
md
lg

อาหารเป็นยา; กินบร็อคโคลี ผักดีต้านมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พฤศจิกายนนี้ลมหนาวเริ่มต้นพัดพามาแล้วค่ะ ‘ป้าบัว’ ขอถือโอกาสนี้ ชวนมากิน‘บร็อคโคลี่’ กันสักหน่อย เพราะฤดูกาลนี้ ผักเมืองหนาวอย่างบร็อคโคลี่ งอกงามดี ทำให้ราคาไม่แพง
บร็อคโคลี่ เป็นผักในตระกูลกะหล่ำ ที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เพราะจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าบร็อคโคลีช่วยป้องกันหรือลดการลุกลามของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ โดย น.พ.สตีเว่น ชวอร์ซ (Steven Schwartz) หัวหน้าทีมวิจัยมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท( Ohio State University )สหรัฐอเมริกาได้รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นจากห้องปฏิบัติการ พบว่า ในบร็อคโคลีมีสารบางชนิดที่สามารถช่วยชลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีแนวโน้มการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว
สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกายอมรับว่าบร็อคโคลี เป็นพืชที่ต่อต้านโรคมะเร็ง เพราะประกอบด้วย วิตามินเอ แคลเซียม ไรโบฟลาวิน หรือวิตามินบี 2 เมล็ดบร็อกโคลีที่เริ่มงอก ประกอบด้วยสารซัลโฟราเฟน(Sulforaphanes) ซึ่งเชื่อว่าสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ โดยการบริโภคประมาณ 1 กก./สัปดาห์ สามารถลดอัตราการเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งได้ 50% และการให้สัตว์ทดลองได้รับสารดังกล่าว ซึ่งสกัดจากบร็อคโคลี่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ 60-80 %
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันรอสเวล พาร์คแคนเซอร์ สหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ต้องกินบร็อคโคลี่อย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง ถ้าทำตามที่แนะนำแล้วล่ะก็ จะลดความเสี่ยงลงถึง 40% ขณะที่ดร.จางหยูเช็ง ได้สอบถามผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 275 คน และผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ 825 คน ถึงพฤติกรรมการกินผักตระกูลครูซิเฟอรัส ซึ่งเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและ มีสารไอโซธิโอไซยาเนตส์ หรือสารลดการ ก่อมะเร็งมาก อย่างบร็อคโคลี่และกะหล่ำปลีสด พบว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และกินผักตระกูลนี้อย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้งนั้น มี โอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารน้อยกว่าผู้ ที่สูบบุหรี่และกินบร็อคโคลี่และกะหล่ำปลี เดือนหนึ่งไม่ถึง 3 ครั้งถึง 73%
สำหรับบร็อคโคลี่และกะหล่ำปลีที่เอาไปทำจนสุกนั้น ดร.จาง กล่าวว่า ไม่ได้ผลในการลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกระเพาะ อาหารเท่ากับกินสดๆ เพราะการผ่านความร้อนทำให้สารไอโซธิโอไซยาเนตส์ลดจำนวนลงถึง 60-90%
คณะของดร.จาง ยังได้ทำการทดลองกับหนู โดยทำพันธุวิศวกรรมหนูให้พัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จากนั้นจึงให้กินบร็อคโคลี่สดๆ พบว่า หนูกินบร็อคโคลี่ สดมากเท่าใด โอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารก็น้อยเท่านั้น
คนที่เป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารนั้นเกิดจากการติดเชื้อ Helicobacteri pylori ซึ่งเป็นแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยซึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น พบว่า เมื่อผู้ ป่วยที่ติดเชื้อ Helicobacteri pylori และ รับประทานบร็อคโคลีวันละ 100 กรัมจะทำให้เชื้อดังกล่าวลดลง รวมทั้งเอ็นไซม์เพปซิโนเจน (pepsinogen) ซึ่งอยู่ในเลือด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบก็ลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากในบร็อคโคลีมีสารอาหารเข้มข้นอย่างซัลโฟราเฟนสามารถป้องกันอนุมูลอิสระที่เข้าไป ทำลายเซลล์ และทำลาย DNA ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้
ส่วนนักวิจัยวิทยาลัยการแพทย์จอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าสารซัลโฟราเฟนในผักบร็อคโคลี่ มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับการทำงานของหน่วยพันธุกรรม หรือยีน ‘NRF2’ ซึ่งช่วยให้เซลล์ในปอดของคนเรามีภูมิต้านทานการทำลายจากสารพิษต่างๆมากขึ้น จึงทำให้มีโอกาสป่วย เป็นโรคปอดเรื้อรัง ‘ซีโอพีดี’ น้อยลง นอกจากนั้น ผลวิจัยก่อนหน้านี้พบด้วยว่า สารตัวเดียวกันนี้ทำให้หลอดเลือดแดงของ ผู้ป่วยเบาหวานแข็งแรงขึ้น
และสารซัลโฟราเฟนนี้ยังช่วยลดระดับการเผาผลาญฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้เนื้องอกที่เต้านมเจริญเติบโต ขึ้น โดยพบว่าความเสี่ยงในการพัฒนาเชื้อ มะเร็งเต้านมในหนูทดลองลดลงถึง 60 %
นอกจากนี้ข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่นักวิทยา ศาสตร์ค้นพบคือ บร็อคโคลี่ช่วยป้องกันผิว ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวีได้ด้วย โดยดร.พอล ทาลาเลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ได้ทำการสกัดเมล็ดบร็อคโคลี่และนำมาใช้ในการลดผิวที่แดงและได้รับความเสียหายจากรังสียูวี จากการทดลองพบว่า สารสกัดจากเมล็ดบร็อคโคลี่ที่มีสาร ซัลโฟราเฟนนั้นลดความแดงของผิวได้ดีกว่าผิวที่ไม่ได้ทาด้วยสารสกัดถึง 1 ใน 3
ดร.พอลอธิบายเพิ่มเติมว่า สารสกัดจากเมล็ดบร็อคโคลีไม่ได้ทำหน้าที่ต่อต้านรังสียูวีเหมือนกับโลชั่นกันแดด เพราะโลชั่น กันแดดนี้จะช่วยต้านแสงยูวีด้วยการกั้นแสง ขณะที่สารสกัดจะช่วยเซลล์ผิวให้ต่อสู้กับผลกระทบจากรังสียูวี นอกจากนี้ ยังให้ผลนาน อย่างในการทดลองนั้นแม้หยุดทาสารสกัดไปแล้ว 2 วัน เซลล์ผิวยังต่อสู้กับรังสียูวีอยู่ และสารสกัดนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันผิวจากรังสียูวี โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง แต่ไม่สามารถใช้แทนโลชั่นกันแดด
ส่วนการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่าในบร็อคโคลี มีสารอาหาร 3,3-diindolylmethane หรือ DIM ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน ให้ยับ ยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ต่อมลูกหมาก โดยปกติแล้ว ฮอร์โมนแอนโดรเจน ในเพศชายก็คล้ายๆ กับเทสโทสเตอโรน ที่ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเซลล์มะเร็ง ต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ เพราะฉะนั้น การรับประทานบร็อคโคลี ก็จะสามารถยับ ยั้งการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้
นอกจากบร็อคโคลีจะช่วยป้องกันมะเร็งแล้ว ยังมีผลวิจัยอีกว่า ช่วยให้อัตราการเกิดโรคหัวใจลดลง ซึ่งจากการศึกษาในกลุ่มทดลองจำนวน 100,000 คน ซึ่งรับประทานบร็อคโคลีเป็นประจำ พบว่าอัตราความเสี่ยง ในการเกิด โรคหัวใจลดลง 20% และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซัสแคตเชวัน ในแคนาดา ในหนูทดลองที่มีระดับความดันโลหิตสูง และเกิดการอุด ตันของเส้นโลหิต เมื่อกินอาหารที่ประกอบไปด้วยบร็อคโคลีแล้ว พบว่ามีการสร้างเนื้อเยื่อเพื่อป้องกันอนุมูลอิสระ การอักเสบของหัวใจลดลง รวมทั้งความดันโลหิต ก็ลดลงด้วย
บร็อคโคลีมีดีมากมายอย่างนี้ จะไม่ซื้อหามากินบ้างเชียวหรือคะ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดยป้าบัว)
กำลังโหลดความคิดเห็น