xs
xsm
sm
md
lg

เลือกหลบแดดแบบไหน...ในวันโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขึ้นชื่อว่าแดดหลายคนก็ส่ายหน้าไม่เอา ไม่อยากเจอขึ้นมาเสียเฉยๆ ด้วยกลัวว่าผิวขาวจั๊วะจะไหม้ไปเสีย แต่รู้ไหมว่าเจ้ารังสีที่เรียกกันว่า “แสงแดด” นั้นก็มีประโยชน์ต่อโลกกลมๆ ใบนี้เหมือนกันถ้าไม่เผลอไปอยู่กับมันนานจนเกินไป แสงแดดช่วยในเรื่องการนอนหลับพักผ่อนป้องกันอาการซึมเศร้า ช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ช่วยต้นไม้สังเคราะห์แสงและให้ความอบอุ่นแก่สรรพสิ่งใต้ฟ้าเดียวกัน

แต่ด้วยวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกร้อนขึ้น และวันที่คนหลีกเลี่ยงที่จะไม่เจอแดดไม่ได้ กีฬากลางแจ้งก็ต้องเล่น ยูวีบี ยูวีเอ ก็ต้องป้องกันแต่จะเลือกอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด

  • ต่อสู้ด้วยครีมกันแดด

    พญ.รัศนี อัครพันธุ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการบริหาร สถาบันโรคผิวหนัง แนะเคล็ดลับในการเลือกซื้อครีมกันแดด ว่า เราควรหลีกเลี่ยงแดดช่วง 10.00-14.00 น.ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยูวีบีทำงานและจะทำให้ผิวไหม้แดดได้ง่าย และเป็นตัวการสำคัญของมะเร็งผิวหนัง แต่อย่างไรก็ตาม ยูวีเอซึ่งมีทั้งวันนั้น ก็สามารถทำให้ผิวคนเราคล้ำ มีริ้วรอย ตกกระ หรือเป็นฝ้าได้ง่ายๆ ดังนั้น ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งจะต้องทาครีมกันแดด

    “สำหรับวิธีการเลือกครีมกันแดดนอกจากจะดูที่ค่าเอสพีเอฟ ว่า สามารถป้องกันแดดได้เท่าใดแล้ว วันนี้จะต้องดูฉลากด้านข้างด้วยว่าสามารถป้องกันรังสียูบีเอ และยูวีบีได้หรือไม่ หากระบุว่าป้องกันได้ทั้งสองตัวก็จะดีต่อผิวมากกว่า”

    พญ.รัศนี บอกอีกว่า การใช้ครีมกันแดดจะต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แม้วันอยู่บ้าน เพราะแม้ไม่ได้ก้าวออกไปไหน แสงแดดก็ยังไปหาเราได้ทุกที่ เพราะฉะนั้นหากชื่นชอบใส่เสื้อแขนสั้นเป็นพิเศษก็ต้องทาครีมกันแดดที่แขน แต่หากร้อนอยากใส่ขาสั้นก็ต้องเพิ่มที่ขาด้วย อาจจะต้องทาซ้ำเป็นพิเศษหากมีเหงื่อออก ต้องเช็ดตัว หรืออยู่บนชายหาด เพราะครีมกันแดดไม่ได้ติดทนกับตัวนาน ดังนั้น ทุก 2-3 ชั่วโมงต้องทาซ้ำ ซึ่งเอสพีเอฟเริ่ม 15 ก็สามารถปกป้องผิวจากแดดได้ถึง 93% แล้ว

    “สำหรับคุณผู้หญิงที่แต่งหน้าไปแล้ว หากไม่มีเหตุให้ต้องเช็ดหรือล้างเครื่องสำอางก็ไม่ต้องทาซ้ำ กรณีทาซ้ำอาจจะเป็นที่ส่วนอื่นๆ แต่หากทาในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้ประสิทธิภาพของครีมกันแดดนั้นได้เกือบ 100% แต่หากคิดว่าเหนียวทาบางๆ ก็พอ แบบนี้จะทำให้ครีมกันแดดทำงานได้ไม่เต็มที่”


  • รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำว่า การทาครีมกันแดดจะต้องทาให้ได้ปริมาณที่กำหนดคือประมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร หากทาหน้าประมาณ 0.5-0.7 กรัม ทั่วตัวประมาณ 3 กรัม แต่หากไม่แน่ใจว่าเพียงพอหรือไม่การทาซ้ำก็ไม่เป็นผลเสีย แต่ต้องรอให้เนื้อครีมที่ทาครั้งแรกแห้งเสียก่อน

  • หมวก-ร่ม-แว่น ก็ช่วยกันแดด

    นอกจากจะทาครีมกันแดดแล้ว การสวมหมวกก็ช่วยกันแดดได้ ซึ่งคุณสมบัติของหมวกที่ดีจะต้องปีกกว้าง บดบังแดดที่จะมาเผาส่วนจมูก ต้นคอ และใบหูซึ่งเป็นส่วนที่แพ้แดดได้ง่าย แต่สิ่งที่คุณผู้หญิงนิยมกันในยุคนี้หนีไม่พ้นแว่นกันแดด และพกร่มกันยูวีติดตัว ซึ่งถือว่าเป็นการปกป้องผิวจากแสงได้ทางหนึ่ง

    สำหรับการเลือกแว่นกันแดดที่ดีจะต้องเขียนระบุว่ากัน ยูวีเอ และยูวีบีได้ ลักษณะคลุมหน้าได้มาก เพราะหากดวงตาต้องเผชิญแดดเยอะๆ โดยไม่มีการป้องกันแล้วไซร้ ไม่เพียงผิวจะไหม้ รอบดวงตาจะตกกระและมีริ้วรอยก่อนวัย การพบเจอแดดเป็นเวลานานๆ จะทำให้แสบตา เคืองตา และมีน้ำตาไหล ที่สำคัญคือเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกอีกด้วย

    ขณะเดียวกัน ที่ต้องจำไว้ ก็คือ แดดที่สะท้อนจากพื้นถนน พื้นผิวน้ำ หรือทรายสามารถทำร้ายผิวได้ ดังนั้นหนทางที่ป้องกันไว้ก่อนคือทาครีมกันแดด กางร่ม ใส่แว่นกันแดดจะดีกว่า

  • เสื้อผ้าช่วยป้อง-กรองแสง

    ไม่เพียงเท่านี้ก็ยังมีข้อสงสัยกันว่าทำไมผิวบริเวณใต้ร่มผ้าขาวกว่าส่วนที่โชว์ นั่นก็เพราะเสื้อผ้าที่ใส่ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่สามารถกรองแสงแดดได้ แต่นั่นก็กันแดดเทียบค่ากับเอสพีเอฟประมาณ 3-4 เท่า ดังนั้น หากตากแดดเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้ผิวที่โผล่พ้นผ้าคล้ำลงไปทุกวัน

    ผ้าที่กรองแสงแดดได้ดีที่สุด คือ ผ้าโพลีเอสเตอร์ ผ้าไหม ซึ่งเป็นผ้าทอเนื้อแน่นจะช่วยกันแสงได้ดี สำหรับความเข้าใจที่ว่าหน้าร้อนใส่ผ้าฝ้ายจะเย็นสบาย ก็เพราะเนื้อผ้าที่โปร่งทำให้ลมโกรกได้ดี แต่แท้จริงแล้วผ้าฝ้ายกันแดดได้น้อยที่สุด

    การใส่เสื้อผ้ารัดรูปเกินไปก็กันแดดได้ไม่ดี เสื้อผ้าที่ดีนอกจากจะสีเข้มเพื่อช่วยกรองแสง เนื้อผ้าแน่นทำให้แสงผ่านได้ยาก และขนาดที่ไม่รัดเกินไปจะทำให้ไม่ร้อน นอกจากนี้การซักผ้าด้วยสารฟอกขาวจะทำหน้าที่สะท้อนแสงไม่ให้เข้าผิวได้ง่ายอีกด้วย

    นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ จะต้องพบเจอ คือ การนั่งตากแดดในรถ ซึ่งการเลือกฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ที่ช่วยทำให้แสงนุ่มขึ้น และป้องกันภัยจากแดดได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเลือกและถามช่างด้วยล่ะว่าฟิล์มนี้กันแดดได้ไหม...

    ทีนี้ก็ต้องเลือกเอาแล้วล่ะว่าจะเลือกหลบ เลือกสู้กับแดดแบบไหน?

  • กำลังโหลดความคิดเห็น