"ดร.สมิทธ" เตือนสาวๆ นุ่งสั้น คลายความร้อนในภาวะโลกร้อน อาจถึงชีวิตได้ เพราะแสงยูวีทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง อีกทั้งชี้สิงหา-กันยาฯ นี้ต้องเตรียมตัวรับมือพายุหมุนเขตร้อน พาน้ำเข้าท่วมกรุงเทพฯ แนะเร่งฟื้นฟูป่าชายเลน ด้าน "คุณหญิงชดช้อย" ย้ำลดโลกร้อนต้องเริ่มเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวเอง อย่าหลงการรณรงค์แต่ไม่ทำจริง
ห้างสรรพสินค้าเซน (ZEN) สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ และบริษัทไรมอนด์แลนด์ จัดเสวนารณรงค์สิ่งแวดล้อม "มุมมองในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน" ขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค.51 ณ ห้างสรรพสินค้าเซน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ คุณหญิงชดช้อย โสพณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย และนางพรรณี รัตนลาโภ รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง
ทั้งนี้ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์วงเสวนาดังกล่าว โดย ดร.สมิทธ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองอย่างอารมณ์ดีว่า สุภาพสตรีมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุด เพราะก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ รวมถึงสารซีเอฟซี ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมทำความเย็น โฟม และสเปรย์ ซึ่งสุภาพสตรีใช้สเปรย์แต่งผมเป็นประจำทุกวัน
"ดังนั้นหากสตรีหลายพันล้านคนลด การรักสวยรักงามลง ก็จะช่วยลดโลกร้อนได้" ดร.สมิทธกล่าว
เขาเผยต่อว่า จากการเปรียบเทียบอุณหภูมิโลกในช่วงปี 2538-2547 กับปี 2483-2523 พบว่าอุณหภูมิทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะชั้นโอโซนที่ถูกทำลายด้วยสารซีเอฟซี ยังจะทำให้สาวๆ นุ่งสั้นมีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น เพราะบรรยากาศของโลกไม่มีชั้นกรองรังสีอัลตราไวโอเลต หรือยูวี ที่ตกกระทบผิวหนัง ขณะนี้ประเทศออสเตรเลียมีประวัติการณ์รับผลกระทบดังกล่าวมากที่สุด
"การนุ่งสั้นในภาวะโลกร้อนจึงอาจถึงตายได้" เขากล่าว
ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เสริมด้วยว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมและกันยายนที่จะถึงนี้ ประเทศไทยแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และปทุมธานี มีโอกาสเกิดน้ำท่วมจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ทั้งนี้ พายุหมุนเขตร้อนจะพาน้ำฝนเกือบ 1 ล้าน ลบ.ม.เข้าท่วมปากแม่น้ำเจ้าพระยาในทันที โดยยังไม่รวมน้ำเหนือไหลบ่าและน้ำทะเลหนุน ด้านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจึงต้องเตรียมการป้องกัน เพราะน้ำจะท่วมขังเป็นเวลานาน รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้
ดร.สมิทธ เสนอด้วยว่า เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวจะต้องมีการปลูกป่าชายเลนทดแทนที่ถูกทำลายโดยเร่งด่วน จากปัจจุบันที่พื้นที่ป่าชายเลนยังคงถูกทำลายปีละนับร้อยๆ ไร่ เห็นได้ชัดในพื้นที่อำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ ที่น้ำทะเลได้กัดเซาะชายฝั่งและเข้าท่วมวัดบางแห่งไปแล้ว
ด้านคุณหญิงชดช้อย เสนอว่า การลดปัญหาภาวะโลกร้อนจึงต้องเริ่มที่ตัวเราทุกๆ คนก่อน จากสิ่งง่ายๆ รอบตัว เช่น การใช้ถุงผ้า การปิดเครื่องปรับอากาศแล้วเปิดรับลมธรรมชาติ และการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น จากปัจจุบันที่รัฐบาลและห้างร้านต่างๆ แข่งขันกันรณรงค์ลดโลกร้อนมาก ทว่าไม่มีการลงมือจริงจังนัก
"จากประสบการณ์ที่ได้ทำโครงการตาวิเศษเมื่อกว่าสิบปีก่อนเชื่อแน่ว่าประชาชนพร้อมจะให้ความร่วมมือแก้ปัญหาแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะทำอะไร และทำอย่างไร โดยต้องมีการทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราต้องยอมลำบากบ้าง" นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทยกล่าว
ขณะที่รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลบ้างว่า ชาว กทม.กว่าสิบล้านคนเป็นผู้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 40% ของประเทศ กรุงเทพมหานครจึงพยายามดึงทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว และยอมรับว่าลำพัง กทม.ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก โดยปีที่ผ่านมาได้คลอดแผนปฏิบัติการลดโลกร้อน พ.ศ.2550 - 2554 ขึ้น เช่น การรณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การปลูกต้นไม้ และการเปลี่ยนหลอดไส้มาใช้หลอดตะเกียบ
"ตอนนี้เราก็ทำจนไม่รู้จะทำอะไรแล้ว อาจต้องนำวิธีเดิมๆ กลับมาใช้ใหม่อีกรอบก็ได้" รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ ปิดท้าย.