xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก ; จากต้นสายถึงปลายทาง (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๔.๖ จิตที่มีสติคุ้มครองย่อมมีความสุข
ในหัวข้อก่อนได้กล่าวแล้วว่าขณิกสมาธิ ซึ่งจำเป็นสำหรับผู้เจริญวิปัสสนา เกิดจากความสุข เพราะการมีสติระลึกรู้อารมณ์ ปรมัตถ์คือรูปนาม คราวนี้เราจะพูดกันต่อไปถึงเรื่องของสติและบทบาทของสติ ที่ทำให้จิตเกิดความสุขและสัมมาสมาธิหรือความตั้งมั่นได้
สติเป็นองค์ธรรมสำคัญของการเจริญสมถะและวิปัสสนา ถ้าขาดสติเสียอย่างเดียว อย่าว่าแต่จะเจริญวิปัสสนาไม่ได้เลย แม้กระทั่งการทำสมถะก็ทำไม่ได้ แต่เพื่อนนักปฏิบัติหลายท่านละเลยสติ แล้วไปให้ความ สำคัญกับสมาธิ นับว่าให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นปลายทางมากกว่าสิ่งที่เป็นต้นทาง เพราะสมาธิที่ขาดสติคุ้มครองย่อมจะเป็นมิจฉาสมาธิ หรือไม่มีสมาธิเลย เช่นการนั่งสมาธิแบบลืมเนื้อลืมตัวจนจิตเคลิบเคลิ้มขาดสติ แล้วเที่ยวรู้เห็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นนั้น ไม่ใช่การเจริญสมถกรรมฐานในทางพระพุทธศาสนา ส่วนสมถกรรมฐานในทางพระพุทธศาสนาจะต้องมีสติประคองจิตไว้กับอารมณ์กรรมฐาน จิตจึงจะไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปสู่อารมณ์อื่นแล้วเกิดความสงบขึ้นได้ แต่ถ้าผู้ใดให้ความสำคัญกับสติ สตินั้นแหละจะทำให้ศีล สัมมาสมาธิ และปัญญาของผู้นั้นเกิดขึ้นได้ แต่ก่อนที่เราจะสนทนากันถึงเรื่องนี้ เรามารู้จักกับสติกันก่อนดีกว่า
๔.๖.๑ ความหมายของสติ องค์ธรรมของสติได้แก่สติเจตสิก คือความระลึกรู้อารมณ์และยับยั้งจิตมิให้ตกไปในอกุศล หรือความระลึกอารมณ์ที่เป็นกุศลคืออารมณ์รูปนาม หรือความระลึกได้ที่รู้ทันอารมณ์
สติเจตสิก (๑) มีความระลึกได้เนืองๆ ในอารมณ์ คือมีความไม่ประมาทเป็น ลักษณะ (๒) มีการไม่หลงลืมคลาดเคลื่อนเป็นกิจ (๓) มีอารักขาเป็นผล(เรื่องอารักขา นี้ บางตำรากล่าวว่าเป็นการอารักขาอารมณ์ แต่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นการอารักขาจิตไม่ให้ตกไปในอกุศลมากกว่า ดังพุทธภาษิต ในธรรมบทที่ว่า สุทุทฺทสํ สุนิปุนํ จิตเป็นสภาวะที่เห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก ยตฺถ กามปาตินํ มักใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี ผู้มีปัญญาจึงควรรักษาจิตไว้ให้ดี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ เพราะจิตที่คุ้มครองได้แล้วนำสุขมาให้) และ (๔) มีถิรสัญญา คือมีการจำอารมณ์ได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิด อนึ่งหากขาดสติเสียแล้ว สัมมาสมาธิจะมีไม่ได้เลย และเมื่อไม่มีสัมมาสมาธิ ปัญญาก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
อารมณ์ที่สติระลึกได้นั้นไม่จำกัดว่าต้องเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ เพราะสติอาจจะระลึกได้ในอารมณ์บัญญัติอยู่เนืองๆ ใน ขณะที่เจริญสมถกรรมฐานก็ได้ หรือจะระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์คือรูปนามอยู่เนืองๆ ในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ได้ สติที่ระลึกได้ในอารมณ์บัญญัติเรียกว่า สติ ส่วนสติที่ระลึกได้ในอารมณ์รูปนามเรียกว่า สัมมาสติ (หมายเหตุ คำว่าสติในหนังสือเล่มนี้เกือบทั้งหมดหมายถึงสัมมาสติ )
สติธรรมดาเกิดขึ้นโดดๆ โดยไม่ต้อง มีปัญญาก็ได้ แต่สัมมาสติต้องประกอบด้วยสัมมาสมาธิและปัญญาเสมอ เพราะสัมมาสติต้องเกิดร่วมกับองค์มรรคที่เหลือทั้ง ๗ เสมอ
๔.๖.๒ บทบาทของสติ ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงเรื่องที่ว่าสติมีหน้าที่อย่างไร และเมื่อสติทำหน้าที่นั้นแล้ว จะเกิดผลเป็นอย่างไร
ที่กล่าวว่าสติมีความไม่หลงลืมคลาดเคลื่อนเป็นกิจนั้น หมายความว่าสติมีหน้าที่ระลึกได้ถึงอารมณ์ที่กำลังปรากฏ โดยไม่หลงลืมให้อารมณ์นั้นปรากฏอยู่โดยสติไม่ รู้เท่าทัน สติก็คล้ายกับยามที่จะต้องไม่หลับ ยาม พอมีใครแปลกปลอมเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบ สติหรือยามจะต้องระลึกได้ทันที ถ้าระลึกไม่ได้ก็คือหลงลืมคลาดเคลื่อนจากการทำหน้าที่ไป
ที่กล่าวว่าสติมีการอารักขาเป็นผลนั้น หมายความว่าเมื่อใดที่สติเกิดขึ้น เมื่อนั้นสติจะรักษาจิตไม่ให้ตกไปสู่บาปอกุศล จิตในขณะนั้นจะเป็นจิตในฝ่ายกุศลทันที ทั้งนี้สติจะเกิดร่วมกับจิตในฝ่ายอกุศลไม่ได้เลย
จิตในฝ่ายกุศลย่อมมีเวทนาได้เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือโสมนัสเวทนาหรือความรู้สึกเบิกบานใจ กับอุเบกขาเวทนาหรือ ความรู้สึกเป็นกลางๆ ซึ่งอุเบกขาเวทนา ก็จัดได้ว่าเป็นความสุขในตัวเองได้เช่นกัน เพราะไม่ถูกกระทบกระทั่งด้วยโทมนัสเวทนาหรือความรู้สึกไม่สบายใจ ทั้งนี้โทมนัสเวทนาย่อมเกิดร่วมกับโทสมูลจิตอันเป็นอกุศลจิตเท่านั้น
ดังนั้นทันทีที่มีสติ จิตย่อมเป็นจิตในฝ่ายกุศล เมื่อจิตเป็นกุศล จิตย่อมจะมีความ สุข เมื่อจิตมีความสุขอยู่ในตัวเองโดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ภายนอก จิตก็ย่อมตั้งมั่นหรือมีสัมมาสมาธิ คือไม่ฟุ้งซ่านหรือไม่แล่นหลงไปเที่ยวแสวงหาอารมณ์ภาย นอกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตย่อม จะเกิดความรู้สึกตัว ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว แม้สติจะระลึกรู้อารมณ์รูปนามที่ปรากฏทางทวารใดๆ จิตก็สักว่ารู้อารมณ์รูปนาม นั้น โดยไม่แล่นหลงเข้าไปยึดถือคลุกคลีพัวพันกับอารมณ์นั้น คล้ายกับคนที่ยืนสังเกตการณ์อยู่บนที่สูงและปลอดภัย ไม่ มีความหวั่นไหวแม้แต่กับข้าศึกหรือกิเลส ที่เดินผ่านไปในทุ่งโล่งเชิงเขาโดยไม่เข้ามาข้องแวะกับผู้ที่มองดูอยู่บนยอดเขา ผู้สังเกตการณ์นั้นย่อมจะเห็นพฤติกรรมของผู้ที่ผ่านทางไปมาตามความเป็นจริง การรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปนามโดยทำตัวเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ นี้แหละคือการเจริญวิปัสสนา เป็นเหตุให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของรูปนามตามความเป็นจริงว่าเป็นไตรลักษณ์ และปล่อยวางความยึดถือรูปนามได้ในที่สุด
อนึ่งการมีสตินั้นไม่เพียงแต่จะเป็นต้น ทางของการเจริญปัญญาเท่านั้น หากแต่ยัง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันด้วย เพราะเมื่อใดที่จิตเกิดสติ เมื่อนั้นจิตจะมีความสุขในตัวเอง การเจริญสติจึงสามารถเจริญไปได้ด้วยความสุข ไม่ใช่ด้วยความทุกข์ทรมานแต่อย่างใด เพราะถ้าเจริญสติแล้วเกิดความทุกข์ จิตจะตั้งมั่นและเกิดปัญญาไม่ได้เลย
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 95 ต.ค. 51 โดยพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น