xs
xsm
sm
md
lg

รอยยิ้มลูกรักพาใจแม่เคลิบเคลิ้มลอยล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยเผยรอยยิ้มของลูกน้อยสามารถกระตุ้นสมองส่วน ‘รู้สึกดีๆ’ ที่ตอบสนองต่อยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาจพูดได้อีกอย่างว่า รอยยิ้มของทารกไม่เพียงทำให้แม่อุ่นใจ แต่ยังทำให้แม่เคลิบเคลิ้มโดยธรรมชาติ
การค้นพบนี้เป็นคำอธิบายสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างแม่-ลูก และช่วยอธิบายว่า เหตุใดภาพรอยยิ้มของลูกน้อยสามารถเป็นยาบำบัดอย่างดีสำหรับพ่อแม่ที่อดนอนและเครียดได้
ดร.เลน สตาร์ทเทิร์น จากโรงพยาบาลเด็กเท็กซัส ซึ่งเป็นผู้ทำการวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่ารอยยิ้มของทารกกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่รับรู้ถึงรางวัลและความพึงพอใจ หรือสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท รอยยิ้มของลูกน้อยจึงส่งผลให้แม่รู้สึกเคลิบเคลิ้มโดยธรรมชาติ
นักวิจัยได้นำแม่ 28 คนที่เพิ่งมีลูกคนแรกเข้ารับการตรวจสแกนสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ จากนั้น จึงขอให้กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ดูภาพลูกของตนเองและภาพเด็กอื่นๆ โดยบางภาพทารกอาจยิ้มแย้มมีความสุข แต่บางภาพก็ร้องไห้ นอกจากนั้น ยังมีภาพที่ทารกไม่ได้แสดงอารมณ์อะไรออกมาบนใบหน้า
ทั้งนี้ ขณะที่แม่จ้องภาพใบหน้าทารก เครื่องเอ็มอาร์ไอจะแสดงให้เห็นการไหลเวียนของโลหิตในสมอง และทำให้ทราบว่าส่วนใดของสมองที่มีการทำงานมากที่สุด ณ เวลานั้น
เมื่อแม่เห็นภาพลูกตัวเอง สมองส่วนที่เกี่ยวโยงกับสารโดพามีนที่ควบคุมความรู้สึกในการได้รางวัล จะทำงานเพิ่มขึ้น
ดร.สตราทเทิร์นเสริมว่า ความชัดเจนของปฏิกิริยาขึ้นกับความรู้สึกบนใบหน้าทารก โดยใบหน้าเปื้อนยิ้มจะทำให้สมองของแม่ทำงานหนักที่สุด ตรงข้ามกับใบหน้าเรียบเฉยหรือออกแววเศร้าจะทำให้เกิดการตอบสนองน้อยที่สุด
ภาพทารกร้องไห้แทบไม่ทำให้เกิดความแตกต่างใดๆ ในสมองส่วนที่รับรู้ถึงการได้รับรางวัล ที่จริงแล้ว แม่มักมีปฏิกิริยากับภาพที่ลูกของตัวเองร้องไห้เหมือนกับที่ตอนที่ดูภาพเด็กอื่นๆ ร้องไห้
นักวิจัยที่ตีพิมพ์ผลงานการค้นพบลงในวารสารเพเดียทริกส์ของสมาคมแพทย์อเมริกัน บอกว่าการค้นพบนี้อธิบายถึงความรักความผูกพันระหว่างแม่-ลูก ซึ่งเป็นความผูกพันที่บางครั้งขาดหายไป
“ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ในบางกรณีความสัมพันธ์นี้ไม่สามารถพัฒนาได้ตามปกติ”
ทั้งนี้ โดพามีนเป็นสารเคมีสำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว คนที่เป็นโรคพาร์คินสันจะมีระดับของสารโดพามีนในสมองลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น