ไม่นานมานี้ มีบุคคลมากมายหลายอาชีพ รวมถึงผู้ที่สนใจในศิลปะและวัฒนธรรมตะวันออก ทั้งไทยและต่างประเทศ มารวมตัวกันในบรรยากาศแห่งมิตรภาพ ที่สำนักพิมพ์เซรินเดีย ซอยอารีสัมพันธ์ เพื่อชมแบบสถาปัตยกรรมจำลอง และนิทรรศการ ‘พระศานติตารามหาสถูป’ ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของมูลนิธิพันดารา
มูลนิธิพันดารา เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทิเบต หิมาลัย ส่งเสริมศิลปะ ภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม การปฏิบัติธรรมและการดูแลสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการการกุศลในทิเบตตะวันออกและประเทศไทย มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริม ให้เกิดสันติภาพในโลกบนพื้นฐานของความเมตตากรุณา และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ของเอเชีย
‘พระศานติตารามหาสถูป’ เป็นสถูปพุทธศิลป์แบบวัชรยานองค์แรกของประเทศไทย สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมธรรมิกมหาราช เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเพื่อเป็นการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนจิตตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อันเป็นการ ธำรงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน
พระศานติตารามหาสถูป ตั้งอยู่ ณ ‘ภัทรกัลป์ตาราขถิรวัณ’ หรือ ‘ขทิรวัณธรรมาศรม’ อันมีความหมายถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งป่าสีเสียด เป็นศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติธรรมสำหรับประชาชน ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมทิเบตและพุทธศาสนานิกาย วัชรยาน ตั้งอยู่ที่ถนนหัวหิน-ป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“การสร้างพระสถูปนี้เป็นบุญกุศลมหาศาล เป็นสิริมงคลที่ชาวไทยผู้อาศัยใต้ร่มโพธิสมภารบารมีจะร่วมกันสร้างถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม อีกประการหนึ่งคือพื้นที่ของขทิรวัณก็อยู่ในบริเวณบ้านของพระองค์ท่านคือหัวหิน เราจึงตั้งใจถวายพระองค์ท่านค่ะ อยากให้พระองค์มีอายุยืนเป็นร้อยๆ ปี” ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ ประธานมูลนิธิพันดารากล่าว
“ศานติตารามหาสถูปจะเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนกาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้า โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ภัยธรรมชาติและสงคราม พระสถูปจะเป็นศูนย์รวมพลังความดี การก่อสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาจะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เกิดความรักใคร่ปรองดองกัน นำไปสู่สันติภาพและสันติสุขในการดำรงชีวิต”
ศานติตารามหาสถูปมีความหมายว่า พระมหาสถูปของพระแม่ตารา (หนึ่งในพระ โพธิสัตว์ของวัชรยาน) ผู้ประทานศานติ คือ ความสุข สันติภาพ และกำจัดอกุศลทั้งปวงให้สูญสิ้นไป ตามโครงร่างที่ออกแบบไว้นั้นมีความสูง 60 เมตร ฐานกว้าง 30 เมตร มีลักษณะเด่นคือ วิหารพระตถาคตทั้งสี่ 1 หลัง ซุ้มพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตย์ 3 ซุ้ม วิหารและซุ้มเหล่านี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ 17 พระองค์ ภายในพระสถูปจะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ คัมภีร์ สถูปพิมพ์และวัตถุมงคลต่างๆ
มูลนิธิพันดารายังตั้งใจดำเนินความเป็นอยู่ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงอีกด้วย อาทิ การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเคารพและรู้ค่า การหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากเศษสิ่งปฏิกูลต่างๆ รวมทั้งการปลูกป่าธรรมชาติเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม
“เราไปดูสถานที่สร้างพระสถูป รู้สึกอัศจรรย์ใจในที่โล่งกว้าง มีภูเขาโอบล้อม มีทะเลสาปธรรมชาติ มีตาน้ำบริสุทธิ์ มีต้นไทรใหญ่ที่เกิดอยู่แล้ว ใต้ต้นไทรมีแท่นหินที่ธรรมชาติจัดไว้อย่างน่าประหลาด ที่สำคัญมีฝายของในหลวงด้วย เรารู้สึกว่าที่นั่นมีพลังบวก มีความศักดิ์สิทธิ์” ศิษฏ์-ปรีชญา ธีระโกเมน สองสามีภรรยาซึ่งเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการก่อสร้าง ช่วยกันบอกเล่า
ดร.กฤษดาวรรณกล่าวว่า การก่อ สร้างพระสถูปได้ดึงดูดให้คนที่มีจิต ศรัทธาและผู้ที่ใฝ่หาสันติภาพในโลกมา รวมตัวกัน นอกจากศิษฏ์และปรีชญา ยังมี ‘จักรกฤษณ์ หมั่นหมาย’ ศิลปินอิสระ ‘อธิพงศ์ ภาดานุพงศ์’ ช่างเขียนภาพ ‘เมธี คุณเจริญ’ วิศวกร ‘ชลทิศ ตามไท’ สถาปนิก และอีกมากมายที่ มาร่วมมือร่วมใจกันทำงานด้วยจิตอาสา แม้ส่วนใหญ่จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
“เหมือนปาฏิหาริย์ ที่พอนึกว่าใครจะมาช่วยเรื่องอะไร อยู่ๆ เราก็จะได้พบกับคนคนนั้นโดยบังเอิญ แต่ละคนที่มาไม่เคยรู้จักกัน แต่เรากลับเข้าใจกันและทำงานร่วมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ คงเป็นผลจากความศรัทธาและพลังของการคิดดี ทำดี” เป็นคำกล่าวที่คล้ายคลึงกันของทุกๆ คน
“มีมิตรมากมายตั้งใจจะมาช่วยทำกิจกรรมดีๆ เช่น คุณหมอท่านหนึ่งตั้งใจจะทำโครงการแพทย์อาสา จัดทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพให้กับชุมชนหัวหิน มีนัก โฆษณามาอาสาเขียนเอกสารประชาสัมพันธ์ พิมพ์เขียวก็มีสถาปนิกมาช่วยกันทำให้ด้วยใจ ทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ รู้สึกปีติยินดีที่โครงการสร้างพระสถูปเป็นแรงบันดาล ใจของคนจำนวนมาก” อาจารย์กฤษดาวรรณกล่าวอย่างตื้นตัน
พิธีวางศิลาฤกษ์พระศานติตารามหาสถูปได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนในการก่อสร้างโดยไม่จำกัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ แรงกายแรงใจ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนการให้ยืมเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น รถตัดหญ้า
“เมื่อเรามาทำงานทางธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระสถูป สร้างสถานปฏิบัติธรรม หรือหล่อพระ หัวใจหลักคือเรามีความปรารถนาดี ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ด้วยความตั้งใจทำงานเพื่อผู้อื่น แม้ว่าพระสถูปองค์จริงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง แต่ดิฉันเชื่อว่าการสร้างพระสถูป ได้เริ่มแล้ว ความศรัทธาและเชื่อมั่น เปรียบเสมือนอิฐและหิน ที่ก่อขึ้นเป็นพระสถูปองค์ เล็กๆ ในหัวใจของผู้ที่รู้สึกอนุโมทนาบุญ เราร่วมกันเรียนรู้กระบวนการทำงานเพื่อสันติภาพ ที่มีพื้นฐานของความเมตตากรุณา เรียนรู้ที่จะทำเพื่อผู้อื่น เปลี่ยนจิตตนเองให้เห็นแก่ตัวน้อยลง ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งหมดเป็นสิ่งที่น่ายินดี”
อีกไม่นาน เมื่อแรงศรัทธาแห่งกัลยาณมิตรชาวพุทธค่อยๆหนุนเสริมให้การก่อสร้างดำเนินไปจนถึงจุดหมาย เมื่อนั้นผู้เดินทางบนถนนหัวหิน- ป่าละอู ก็จะมองเห็นยอดสีทองอร่ามขององค์พระสถูปสะท้อนแสง แดดมาแต่ไกล เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใหม่อันงด งาม เป็นสถาน สักการบูชา สถานจาริกแสวงบุญ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรม ท่ามกลางความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและความสงบลึกล้ำแห่งพุทธธรรมอันไร้พรมแดน
.........
หมายเหตุ : ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www. thousand-star.org และ www. taragreatstupa.org หรือร่วมสมทบ ทุนในการก่อสร้างพระศานติตารามหาสถูปได้ที่ ดร.กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ โทร. 08-1343-1586 หรือ คุณอารีรัตน์ ศิริคูณ โทร. 08-1645-1828
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดยนันท์นัตถ์)