xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา ; ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเปิดโลกทั้งสามอันได้แก่สวรรค์ มนุษย์ และนรก ให้แลเห็นกันแล้ว ก็เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทางรัตนบันไดหรือบันไดแก้ว ซึ่งอยู่ตรงกลาง ระหว่างบันไดเงินกับบันไดทอง อันเป็นบันไดที่หมู่พรหมและเทวดาใช้เป็นทางลงเพื่อส่งเสด็จ
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาถึงเชิงบันได ขณะประทับยืน ณ ปฐพี ใกล้ประตูเมืองสังกัสนคร ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาวันเปิดโลก ทำให้พระสงฆ์ มนุษย์ เทวดา จํานวนมาก ได้บรรลุโลกุตรธรรม คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ จึงอยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ทั้งสองทำวิตรรกะ อันเป็นกิริยาทรงแสดงธรรม
พระพุทธรูปยืนแสดงปางวิตรรกะทั้งสองพระหัตถ์ เป็นรูปแบบที่พบในศิลปะทวารวดีตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา แต่ไม่พบในศิลปะอินเดีย แม้แต่ในพระพุทธรูปยืนสมัยคุปตะที่เชื่อว่าเป็นต้นแบบให้พระพุทธรูปทวารวดี ก็แสดงปางวิตรรกะด้วยพระหัตถ์เดียว อันมีความหมายถึงการแสดงธรรม นักวิชาการให้ความหมายของพระพุทธรูปยืนแสดงปาง วิตรรกะทั้งสองพระหัตถ์ว่าหมายถึงปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยเปรียบเทียบกับภาพสลักพระพุทธรูปแสดงปางวิตรรกะทั้งสองพระหัตถ์ประทับยืนเหนือพนัสบดี มีพระอินทร์ พระพรหมประทับอยู่สองข้าง ซึ่งพ้องกับเหตุการณ์พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์
ในประเทศไทย ได้พบพระพุทธรูปศิลปะทวาราวดี ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ซึ่งถือว่าเก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ที่จังหวัดนครปฐม ทำจากหินปูน สูง 1 เมตร 33 ซม. ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดยกานต์ธีรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น