พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกประคองบาตร
เป็นพระพุทธรูปปางที่ต่อเนื่องจากพุทธประวัติการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่เหล่าพระประยูรญาติ โดยหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงเนรมิตรรัตนจงกรมในอากาศ และเสด็จ ขึ้นไปจงกรมแล้ว พระประยูรญาติทั้งหลายจึงคลายทิฐิมานะ และแสดงความเคารพพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใส พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนามหาเวสสันดรชาดก เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ฝนโบกขรพรรษที่ตกลงมาในเวลานั้น
ครั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว บรรดาพระญาติทั้งหลาย อันมีพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา เป็นประธาน เกิดความปีติปราโมทย์เป็นอันมาก และได้กราบทูลลากลับพระราชสถาน โดยมิได้มีพระญาติองค์ใดกราบทูลอาราธนาให้ทรงรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น ด้วยเข้าใจว่าพระบรมศาสดาจะต้องพาพระสาวกทั้งหลายมาเสวยพระกระยาหารในพระราชสถานอย่างแน่นอน จึงได้แต่เพียงสั่งให้บริวารจัดเตรียม อาหารอันประณีตไว้ เพื่อถวายพระบรมศาสดาและเหล่าสาวกในวันรุ่งขึ้น
เมื่อไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดอาราธนาให้ไปเสวยในที่ใด รุ่งเช้าพระพุทธองค์จึงทรงถือบาตร นำสาวกเสด็จออกบิณฑบาตไปตามบ้านเรือนต่างๆ ทุกตรอกซอกซอย และเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้เห็นพระบรมศาสดาทรงอุ้มบาตร เสด็จโปรดสรรพสัตว์
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรนี้ ถือเป็นพระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางวัน)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดยกีรติกร)