xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวคิดปฏิมากรนานาชาติ ในงานศิลป์ บนแท่งเทียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กว่า 100 ปีแล้วที่ประเพณีแห่เทียนได้เริ่มขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล(่ พ.ศ. 2436-2453) ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียนแล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ตามรอยต่อ ติดกระดาษสีเงินสีทองที่ตัดเป็นรอยฟันปลาติดปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปี๊บน้ำมันก๊าด ฐานของต้นเทียนใช้ไม้ตีเป็นแผ่นเรียบ หรือทำสูงขึ้นเป็นชั้นๆ ติดกระดาษ เสร็จแล้วมีการแห่นำไปถวายวัด พาหนะที่ใช้ นิยมใช้เกวียนหรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูง ถ้าเป็นวัวก็มักจะมีการตกแต่งรอบเขา คอ ข้อเท้า ด้วยกระดาษสี เกราะ หรือกระพรวน ส่วนการแห่แหนของชาวบ้าน ก็จะมีฆ้อง กลอง กรับ และการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน ต่อมาการทำเทียนได้พัฒนาขึ้นถึงขั้นใช้การหล่อดอกจากผ้าพิมพ์ที่เป็นลายง่ายๆ เช่น ประจำยาม กระจังตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ก้ามปู กรุยเชิง หน้าขบ ฯลฯ แล้วนำไปติดที่ลำต้นเทียน

• ประเพณีระดับจังหวัดสู่ระดับชาติ
ในช่วงปี พ.ศ. 2495 ประชาชนเริ่มให้ความสนใจและเห็นความสำคัญในการทำและแห่เทียนพรรษามากขึ้น เมื่อจังหวัดได้ส่งเสริมให้งานเข้าพรรษาเป็นงานประเพณีประจำปี จนถึงปี พ.ศ. 2520 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนให้เป็นงานประเพณีระดับชาติ มาจนถึงปัจจุบัน
ทุกปีจังหวัดอุบลฯได้จัดประเพณีแห่เทียนพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ ช่างฝีมือทั้งหลายต่างพร้อมใจกันมาร่วมสลักเสลาต้นเทียนพรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สำหรับปี 2551นี้ ใช้ชื่องานว่า “เมืองอุบลฯบุญล้นล้ำ บุญธรรมบุญทาน สืบสานตำนานเทียน” กำหนดจัดขึ้นตลอดทั้งเดือนกรกฏาคม 2551
โดยสัปดาห์แรก เป็นหัวข้อ ‘สานสัมพันธ์ศิลปินเมืองไทย’ มีการชุมนุมศิลปิน นักเรียนและนักศึกษาศิลปะจากสถาบันศิลปะทั่วประเทศไทยมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งศาสตร์แห่งศิลปะสากล และศิลปะภูมิปัญญาไทย การเยี่ยมชมชุมชนและศึกษาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชุมชนช่างและศิลปินท้องถิ่นในการจัดทำต้นเทียนเพื่อเตรียมต้นเทียนเข้าร่วมขบวนแห่เทียนพรรษา โดยจะนำชม 9 คุ้มวัดที่สำคัญ
สัปดาห์ที่สอง เป็นหัวข้อ ‘สานใจศิลปินนานาชาติ’ โดยจะเปิดให้ชมการแกะสลักเทียนของศิลปินนานาชาติ 9 ประเทศ รวมทั้งศิลปินชาวอุบลราชธานี ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีผลงานในระดับประเทศที่ถูกคัดสรรแล้วและเป็นสมาชิกของสมาคมประติมากรโลก โดยศิลปินทั้งหมดจะมาสร้างสรรค์ผลงานภายใต้แนวคิดรวมหนึ่งเดียว คือ ‘โลกเย็นที่ประเทศไทย’ ณ ลานประติมากรรมเทียนนานาชาติ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.อุบลฯ
สัปดาห์ที่ 3 จัดใน หัวข้อ ‘สานศาสน์แห่งเมืองพุทธศิลป์’ มีขบวนแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ในวันที่ 18 กรกฎาคม และการแข่งขันแกะสลักเทียนระดับเยาวชนจากนานาชาติ กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
ส่วนสัปดาห์ที่ 4 และ 5 เป็นหัวข้อ ‘สานศิลป์ถิ่นอุบล’ ซึ่งจะเป็นการเปิดให้ชมความงามของเทียนพรรษาจากทั่วจังหวัดอุบลราชธานี ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวอุบลฯ และชมผลงานการสร้างสรรค์เทียนที่เสร็จสมบูรณ์ของศิลปินนานาชาติและชาวอุบลฯ ที่ลานประติมากรรมเทียน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี

• เปิดแนวคิดประติมากรนานาชาติ
ก่อนรังสรรค์ผลงาน‘โลกเย็นที่ประเทศไทย’

งานแสดงประติมากรรมเทียนนานาชาติ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งศิลปินที่มีชื่อเสียง 9 ชาติ มาร่วมกันรังสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยบนแท่งเทียนแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก แนวคิดในการออกแบบของศิลปินหลายคนมีความน่าสนใจ อาทิ
โดมินิก สไตห์เบิร์ก ศิลปินชาวอิตาลี มีแนวคิดการออกแบบเป็นรูปทรงแท่งฐานสี่เหลี่ยม ด้านบน เป็นแท่น 4 ชั้น สื่อความหมายให้เป็นตัวแทนขององค์ประกอบ 4 อย่างของโลก คือ ดิน น้ำ ไฟ และลม ที่กำลังถูกทำลายและเปลี่ยนแปลงไป แต่สัจจธรรมภายใน ภูมิปัญญา คือสิ่งที่ไม่เปลี่ยนไป จะเปลี่ยนไปบ้างก็เพียงแต่รูปทรงภายนอกเท่านั้น ผลงานชิ้นนี้เสมือนร่มของศตวรรษที่ 21 ที่จะปกป้องโลกนี้ ผ่านการเปลี่ยนผันต่าง ๆนั้น
เดวิด อัลเลจันโดร มาติเนซ บูเซีย ศิลปินชาวเม็กซิโก ซึ่งจะสร้างประติมากรรมเทียนเป็นรูปงูและมังกร เพื่อต้องการสื่อความหมายถึงการผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรม โดยวัฒนธรรมโบราณของเม็กซิโก มีงูเป็นตัวแทนของพลังและความฉลาดรอบรู้ ส่วนวัฒนธรรมตะวันออกมีมังกรเป็นสัญลักษณ์สำคัญ นอกจากนี้ รูปแบบของประติมากรรมที่เป็นรูปงูพันกระหวัดอยู่กับมังกร แสดงถึงการแสดงความรัก ที่สอดประสานกลมเกลียวกัน เพื่อจะดูแลรักษาโลกของเรา
เดอร์วิเซอร์เจน ศิลปินชาวตุรกี มีแนวคิดว่าโลกดำรงอยู่ได้ด้วยคนดี ท่ามกลางความชั่วร้าย หากปัจเจกชนสามารถขจัดพลังแห่งกิเลสได้ เขาและเธอ ก็จะแยกห่างออกจากหนทางที่น่าเศร้าสลดนั้น ชัยชนะของมนุษย์บริสุทธิ์สะอาดจากความชั่วร้ายทั้งปวงและสิ่งที่จะทำให้โลกเย็น คือการที่มนุษย์สามารถกำจัดสิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจของตนเองได้
ฟลอเรนซ์ ฮอฟแมน ศิลปินชาวลักแซมเบิร์ก ได้วางรูปแบบในลักษณะของการเต้นรำ ที่มีจังหวะการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กัน มีพลังร่วมกัน เพื่อต้องการสื่อความหมายถึงการที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันจะกันทำให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ และหากมองจากมุมสูงจะเป็นรูป‘สวัสติกะ’สัญลักษณ์โบราณอันหมายถึงความสุข ความโชคดี และสันติ
จานัก เจฮันการ์นาร์ซารี ศิลปินชาวอินเดีย วางแผนออกแบบเป็นรูป ไฟ น้ำ และเจดีย์ โดยแสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของไฟ และน้ำ ที่มีพลังในการทำลายและการสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดสมดุลในโลกได้ สภาวะโลกร้อน คืออุปสรรคต่ออารยธรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน ส่วนเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา หมายถึงหนทางแห่งภาวะสมดุล และความสงบ ซึ่งสามสิ่งสามารถทำให้โลกสงบและร่มเย็นลงได้
คูดรายาฟเขนโคจอร์เจีย ศิลปินชาวยูเครน คิดสร้างประติมากรรมเป็นเส้นโค้ง 2 เส้น สื่อถึงสิ่งคู่กัน เช่น ขาวกับดำ ความดีและความชั่ว มนุษย์ควรที่จะเลือกว่าจะเดินทางในเส้นทางใด
นิลส์ ฮันเซน ศิลปินชาวเยอรมันนี มีแนวคิดออกแบบเป็นรูปปีกนกแสดงถึงความฝันที่จะให้ความรักต่อกัน โดยปราศจากความมุ่งร้ายและความอิจฉาริษยา เพราะด้วยความรักที่มีให้ต่อกันนั้น มนุษย์สามารถฝ่าอุปสรรคไปด้วยกันได้ ด้วยการมีศีลธรรมเป็นเบื้องต้น เพราะแนวคิดทางพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์เดินทางสายกลาง การทำจิตใจให้สงบ มอบความรักให้กับตัวเองและผู้อื่น นั่นคือสิ่งที่จะทำให้โลกเย็นลงได้
ไกซาวา โทรุ ศิลปินชาวญี่ปุ่น ซึ่งจะออกแบบเป็นรูปนกร้องเพลงและดอกไม้เบ่งบาน เพื่อแสดงถึงความสุขสงบและธรรมชาติที่จะยังมีอยู่ในโลกตลอดไป ด้วยการผสมผสานกลมกลืนกันของน้ำ แสงสว่าง ลม ดวงอาทิตย์และโลก ประติมากรรมชิ้นนี้จะเป็นเสมือนพลัง และกำลังใจแก่ผู้คน เป็นตัวแทนของความสงบสุขและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดยเทียนธรรม)






กำลังโหลดความคิดเห็น