ประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุ เผย การก่อสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ใช้ฐานซีเมนต์หล่อแทน “แระ” ที่เคยใช้ในสมัยโบราณ เนื่องจากไม้หายาก ส่วนเสาหลักรับน้ำหนักพระเมรุ 4 ต้น ใช้วิธีวางเหล็กฉากจากฐานถึงยอดแล้วประกบทุกด้านด้วยไม้อัด เพื่อให้เหมือนเสาจริง เพราะปัจจุบันหาไม้ซุงต้นใหญ่ได้ยาก ย้ำการก่อสร้างต้องไม่มีข้อผิดพลาด
นายอารักษ์ สังหิตกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า การก่อสร้างพระเมรุขณะนี้ต้องรอรายละเอียดเขียนแบบด้านสถาปัตยกรรมจาก น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบพระเมรุให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นขั้นตอนต่อไปตนจะนำมาคำนวณโครงสร้างของพระเมรุทั้งหมด ซึ่งวัสดุที่ใช้แบ่งเป็น ฐานของพระเมรุ ในสมัยโบราณใช้วิธีการ “แระ” โดยนำท่อนไม้มาวางเรียงต่อๆ กันเป็นฐานเพื่อรับน้ำหนักเสา จากนั้นจึงนำเสาไม้มาตั้งบนฐานแล้วใช้แผ่นไม้ประกบต้นเสายึดไว้ แต่ในปัจจุบันไม้หายากมาก จึงจะเปลี่ยนมาใช้แผ่นซีเมนต์หล่อกับเหล็กเส้นเป็นฐานแทนแระ แต่ยังยึดเสาโดยใช้แผ่นไม้ประกบเหมือนเดิม ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ฐานซีเมนต์ดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้งานอื่นๆ ได้อีก
ทั้งนี้ ในการจัดสร้างพระเมรุ ฝ่ายวิศวกรจะตั้งเสาหลัก 4 เสา เพื่อรับน้ำหนักตามแบบที่ฝ่ายสถาปัตยกรรมออกแบบไว้ ซึ่งในสมัยโบราณจะใช้ซุงต้นใหญ่เป็นเสาหลัก แต่ในครั้งนี้จะใช้เหล็กฉากมาทำโครงสร้างของเสาหลักที่มีลักษณะย่อมุม โดยวางเหล็กฉากสลับฟันปลาจากฐานไปถึงส่วนยอดของเสา จากนั้นจะใช้ไม้อัดประกบทุกด้านให้เหมือนเสาไม้จริง โดยส่วนที่เป็นเหล็กฉากจะถูกซ่อนอยู่ด้านใน ส่วนความยาวของเสาเอกขึ้นอยู่กับแบบสถาปัตยกรรมที่ออกแบบไว้ โดยเสาทั้ง 4 มุมจะเป็นการสร้างเสาหลักที่มีความแข็งแรงมากเป็นพิเศษ เพราะต้องรองรับน้ำหนัก และยึดโยงโครงสร้างของเสาต้นต่างๆ ของพระเมรุทั้งหมด ส่วนเสาเอกนั้นต้องรอทางพราหมณ์หลวง สำนักพระราชวัง เป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวงและเลือกเสาหลักต้นใดต้นหนึ่งเป็นเสาเอก เพื่อประกอบพิธีบวงสรวง
นายอารักษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับส่วนของปลียอดพระเมรุจะเป็นเหล็กเส้นประกบกับไม้ตบแต่ง ซึ่งการวางโครงสร้างทางวิศวกรรมจะต้องมีการคำนวณแรงลม เพราะเสาเหล็กจะต้องสามารถรับแรงกระแทกของลมบริเวณสนามหลวงได้ 160-200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เนื่องจากท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่โล่ง มีแรงลมกระโชกอยู่ตลอด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแบบสถาปัตยกรรมที่กำหนดมา ที่สำคัญ ในการก่อสร้างจะนำคานเหล็กมาใช้แทนคานไม้ เพื่อคำนวณการรองรับน้ำหนักของคนจำนวนมากที่จะทยอยหมุนเวียนขึ้นไปสักการะพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ บนพระเมรุอีกด้วย ดังนั้น คานต้องมีความแข็งแรงมากที่สุด และการทำงานจะต้องรัดกุม คำนึงถึงความปลอดภัยของโครงสร้างในการรับน้ำหนัก จะต้องไม่มีข้อผิดพลาดเด็ดขาด