xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาครัฐร่วมคณะสงฆ์ จัดงานอาสาฬหบูชา 51ทั่วประเทศ ถวายเป็นพระกุศล‘สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ’
• นครปฐม : นายอำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม(สถ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.)เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.51 ว่า
เนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชาปี 2551นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 17 กรกฎาคม เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา และเป็นวันที่พระรัตนตรัยสมบูรณ์ มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ เกิดขึ้นในโลก และถือเป็นวันพระสงฆ์ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา มีกรรมการมหาเถรสมาคม และพระมหาเถระหลายรูป เป็นกรรมการที่ปรึกษา รวมทั้งหน่วยราชการ องค์กร มูลนิธิทางพระพุทธศาสนาต่างๆ เป็นกรรมการ โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการ และเลขานุการ
สำหรับการจัดงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา ประจำปี 2551 คณะกรรมการอำนวยการฯ กำหนดการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค กล่าวคือ
ในส่วนกลางนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และองค์กร มูลนิธิ ส่วนราชการ สถานศึกษา ณ พุทธมณฑล ระหว่างวันที่ 14-18 ก.ค. โดยกิจกรรมประกอบด้วยการปฏิบัติธรรม การหล่อเทียนพรรษา การถวายสังฆทาน นิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา และหลักธรรมของพระพุทธเจ้า การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย นิทรรศการของพระสงฆ์ผู้เป็นเอตทัคคะ การแสดงเทียนพรรษาของวัดที่มีชื่อเสียง และการแกะสลักเทียน การเทศน์มหาชาติ กิจกรรมธรรมนันทนาการ ต่างๆ ธัมเมกขสถูปจำลอง พิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เวียนเทียนและการตักบาตรพระสงฆ์ 501รูป
ส่วนสำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร จัดร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดใกล้เคียง องค์กร มูลนิธิ ส่วนราชการ และสถานศึกษา ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม.ระหว่างวันที่ 13-19 ก.ค.กิจกรรมประกอบด้วย พิธีแห่ขบวนเทียนของคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร เวทีสะท้อนธรรม เทศน์มหาชาติ การหล่อเทียนพรรษา นิทรรศการพุทธกิจ 45พรรษา นิทรรศการสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ สวดธรรมจักรกัปวัตตนสูตร การปฏิบัติธรรม การเวียนเทียน ฯลฯ
สำหรับส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าคณะจังหวัดเป็นหลักในการจัดกิจกรรม ในวันที่ 17-18 ก.ค. กิจกรรมประกอบด้วยการตักบาตรและเวียนเทียน การหล่อเทียนพรรษา การปฏิบัติธรรม การฟังธรรมเทศนา การบรรยายธรรม และนิทรรศการเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
นายอำนาจกล่าวว่า นอกจากนี้ มส.ยังมีมติเห็นชอบให้การจัดงานอาสาฬหบูชาปีนี้ ซึ่งนอกจากจะจัดเป็นพุทธบูชาตามปกติแล้ว ให้ถือเป็นกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย

มส.แต่งตั้งคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
• นครปฐม :
นายอำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม(สถ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.)เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.51 ว่า มส.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ. 2550 มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 25/2550 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน2550 แต่งตั้งคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 30 รูป/คน โดยมี พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม )เป็นประธานกรรมการ พร้อมทั้งกรรมการ 23 รูป/คน ได้แก่ พระธรรมกิตติเมธี(จำนง ธมฺมจารี) พระธรรมวรเมธี(สุชิน อคฺคโน) พระพรหมเวที(สนิท ชวนปญฺโญ) พระธรรมวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณฺโณ) พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสโน) พระธรรมเจดีย์(ประกอบ ธมฺมเสฏโฐ) พระเทพปริยัติเมธี(รุ่น ธีรปญฺโญ ) พระธรรมสิทธินายก (ธงชัย สุขญาโณ) พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต) พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วรยุทฺโธ) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แม่กองงานพระธรรมทูต ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมการศาสนากรรมการ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย นายบรรจบ บรรณรุจิ และนายสมชาย แสวงการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอีก 5 คน ได้แก่ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คนที่ 1ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานศาสนสมบัติ และหัวหน้าฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา
โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ. 2550

ศอ.บต.นิมนต์พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 5 จชต.
• สงขลา :
เมื่อเร็วๆนี้ พระพรหมจริยาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ได้เป็นประธานเปิดโครงการถวายความรู้แก่ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต) ร่วมกับคณะสงฆ์ภาค 18 และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปัตตานี จัดขึ้น ณ วัดแจ้ง อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อให้พระสงฆ์เข้าไปมีส่วนผลักดันสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน มีพระที่จะนำหลักธรรมคำสอนผ่านกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาคุณธรรมเด็ก และเยาวชน โดยมีคณะวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มาถวายความรู้
พระพรหมจริยาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมแก่ศาสนสถาน ศาสนศึกษา องค์กรทางพระพุทธศาสนา กรรมการวัด ผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและครู อาจารย์ในโรงเรียนวิถีพุทธ โดยจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับโครงการถวายความรู้แก่พระสอนศีลธรรม ในโรงเรียน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ได้ฝากให้พระนำความรู้ที่ได้รับนำไปสอนเยาวชนและให้สอดแทรกการสมานฉันท์ระหว่างพี่น้องชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขด้วยเนื่องจากศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี

ศธ.ให้ 2 ขั้นจูงใจครูเสริมงานสร้างคุณธรรม
• กรุงเทพฯ :
นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สำนักงานปลัด ศธ.ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่าง 5 องค์กรหลัก เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบของ ศธ.ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะรับการพิจารณาไว้ โดยกลุ่มแรกต้องเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาที่สังกัด ศธ.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร หรือเป็นข้าราชการครูจากทุกสังกัด ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มครูที่สอนวิชาเกี่ยวกับคุณธรรม และศีลธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา และกลุ่มที่ 4 ครูผู้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยต้องเป็นผู้มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับ ประพฤติตนไม่ขัดศีลธรรม ไม่เป็นที่รังเกียจ และไม่เคยถูกลงโทษทางกฎหมาย หรือถูกลงโทษทางวินัย
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการประเมินผลงาน เบื้องต้นจะสำรวจจำนวนครู และผู้บริหารที่ดำเนินโครงการ หรือจัดการเรียนการสอน หรือจัดกิจกรรมหลักสูตร ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) หรือมหาวิทยาลัย รวมทั้งกระทรวงอื่นๆ ที่มีข้าราชการครู เพื่อให้ได้ตัวเลขยอดรวมครูที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด โดยจะขอตัวเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อใช้ตรวจสอบว่ามีตัวตน และมีผลงานดีเด่นจริง จากนั้นจะกำหนดเป็นโควตาให้ความดีความชอบร้อยละ 1 จากจำนวนครูที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
โดยจะจัดระบบให้โรงเรียนคัดเลือกข้าราชการครูกันเองในสถานศึกษา จากนั้นส่งชื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาในภาพรวมของแต่ละเขตพื้นที่ ส่วนของ สอศ.ให้ส่งรายชื่อให้ผู้อำนวยการอาชีวศึกษาจังหวัดพิจารณา ส่วนมหาวิทยาลัยให้อิสระอธิการบดีเป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้ จะให้ผู้ปฏิบัติงานจัดทำสมุดสะสมความดีในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์ไฟล์ โดยมีแบบฟอร์มที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้บังคับบัญชารับรอง โดยจะใช้รอบเวลา 12 เดือน ในการพิจารณาความดีความชอบ เนื่องจากการขอความดีความชอบทั่วไปจะใช้เวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดทำรายละเอียดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบโครงการต่อไป
โดยขณะนี้ได้นำเสนอรายละเอียดไว้ในเว็บไซต์ www.moe.go.th เพื่อให้ข้าราชการได้มีส่วนเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2552

วธ.เตรียมเสนอ 8 จว.ภาคเหนือขึ้นทะเบียนมรดกโลกล้านนา
• เชียงใหม่ :
นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมกับอธิบดีกรมศิลปากรและผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน และที่ 8 เชียงใหม่ เกี่ยวกับการผลักดันให้ล้านนาเป็นมรดกโลกนั้น ยังอยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อผลักดันให้ 8 จังหวัดภาคเหนือของอาณาจักรล้านนาเป็นมรดกโลก คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา และแพร่ ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่กว่า 1,300 ปี มีความสำคัญและความเป็นมาที่ยาวนาน ทั้งประเพณี โบราณคดี และโบราณสถาน
ส่วนนายสหวัฒน์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า การจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น จะต้องพิจารณา 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ พื้นที่ที่มีความเป็นอารยธรรม และมีความต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เข้าสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งพบว่ามีหลายแห่งได้แก่ บ้านวังไฮ จ.ลำพูน จากนั้นมาสู่ยุคพระพุทธศาสนา เข้ามาในรุ่นพระนางจามเทวีพุทธศตวรรษที่ 11-13 หรือ 1,300 ปีมาแล้ว ได้มีอารยธรรมของทวาราวดี และหริภุญไชย จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษวรรษที่ 19 นอกจากนี้ อีกหลายเมืองที่มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องของอารยธรรมล้านนา ครอบคลุมทั่วภาคเหนือ ดังนั้นจึงสามารถยกศักยภาพที่สำคัญของอาณาจักรแต่ละแห่งมาพิจารณาการขึ้นมรดกโลกได้
ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมภาคเหนือ จะเห็นว่าเจดีย์แบบหริภุญชัยนั้น เป็นต้นแบบของเจดีย์ที่กระจายไปทั่วล้านนา จึงสามารถที่จะเข้าเกณฑ์การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ และจะจัดทำเอกสารเลือกความโดดเด่นและชัดเจนของอารยธรรมล้านนา ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินผลมรดกโลกวัฒนธรรมล้านนาของคณะกรรมการมรดกโลกด้วย

กทม.นำร่องฟื้นฟูตักบาตร ‘ดุสิต พระนคร ป้อมปราบฯ’
• กรุงเทพฯ :
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า หลังจากที่ตนได้มีโอกาสเยือนเมืองหลวงพระบางและได้มีโอกาสร่วมตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งมีประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวที่นั่นต่างให้ความสนใจร่วมตักบาตรข้าวเหนียวจำนวนมาก จนกลมกลืนเหมือนคนท้องถิ่นนั้น ตนจึงได้หารือร่วมกับคณะผู้บริหาร และเห็นว่า กทม.ควรจะฟื้นฟูการตักบาตรเช้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะนำร่องใน 3 เขตพื้นที่คือ เขตดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย และพระนคร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีวัดอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมอบหมายให้สำนักวัฒนธรรม การกีฬา และท่องเที่ยว และสำนักงานเขตไปสำรวจพื้นที่ว่าวัดใดบ้างที่ประชาชนนิยมมาตักบาตร

พระพรหมโมลีแนะวิธีเป็นพระธรรมทูตคุณภาพ
• นครปฐม :
พระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 1 เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กทม. ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “พระธรรมทูต ทูตผู้นำสาส์นพระพุทธเจ้า” แก่พระธรรมทูต 500 รูปที่มาประชุมปฏิบัติการพระธรรมทูต ประจำปี 2551ณ วัดไร่ขิง จ.นครปฐม ซึ่งจัดโดยสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ความหมายของพระธรรมทูตคือผู้นำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปประกาศหรือเผยแผ่ให้แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายหรือบุคคลอื่นผู้ไม่ใช่ศาสนิกชน หน้าที่ของพระธรรมทูตในการนำคำสอนไปเผยแผ่มี 2 วิธีคือ การเผยแผ่ทางวาจา และการเผยแผ่ทางการปฏิบัติ ทางวาจาได้แก่พระธรรมเทศนา ปาฐกถาธรรม บรรยายธรรม สอนธรรม ส่วนการปฏิบัติ หมายถึงการสอนธรรมนำปฏิบัติกรรมฐาน ถ้าหากเผยแผ่ทางวาจาอย่างเดียว ไม่มีการปฏิบัติ มันได้ผลเฉพาะแก่ผู้เผยแผ่ ไม่ได้ผลโดยทั่วไปเหมือนการปฏิบัติ เพราะผู้ที่รับฟังไปแล้ว อาจจะชื่นชมยินดีในลีลาสำนวนการแสดงธรรมหรือโวหารการพูด แต่ว่าไม่ได้เข้าถึงด้วยการปฏิบัติ ขณะเดียวกันถ้าเผยแผ่ด้วยการปฏิบัติเป็นการเข้าถึงหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ผู้เป็นพระธรรมทูตต้องสร้างคุณธรรมทั้ง 2 อย่างนี้ให้เกิดมีขึ้นในตน เพราะปัจจุบันนี้ ประชาชนสนใจเรื่องการปฏิบัติมาก และพากันเข้าปฏิบัติธรรมตามวัดหรือสำนักที่มีการสอนปฏิบัติ พระธรรมทูตที่มีคุณภาพจริงๆนั้นจะต้องได้รับการฝึกอบรมจนมีความรู้ความสามารถในการนำหลักธรรมไปเผยแผ่ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้การเผยแผ่เกิดผลอย่างมหาศาล
นางบุญศรี พานะจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2551 พศ.ได้จัดงบประมาณสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของพระธรรมทูต เป็นเงิน 64,440,000 บาท และการฝึกอบรมพระสงฆ์เพื่อมาทำหน้าที่พระธรรมทูตในประเทศ จำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 125 รูป รวม 500 รูป และจัดประชุมสัมมนาพระธรรมทูตในประเทศ 1 ครั้ง 500 รูป เป็นเงิน 4,370,000 บาท โดยขณะนี้มีพระธรรมทูตในประเทศจำนวน 7,333 รูป กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย

‘ชูศักดิ์’ ตรวจเยี่ยมวัดพระแก้ว-วัดร่องขุ่น
• เชียงราย :
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมวัดพระแก้ว อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีคณะสงฆ์วัดพระแก้ว และคณะครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม(แผนกสามัญศึกษา) กลุ่ม6 ซึ่งประกอบด้วยเชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ให้การต้อนรับ วัดพระแก้วเดิมชื่อวัด‘ป่าเยี้ยะ’เป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์กันสืบมา และเมื่อพ.ศ.1977 ฟ้าผ่าเจดีย์วัด พบพระแก้วมรกต ชาวบ้านจึงเรียกชื่อใหม่ว่า‘วัดพระแก้ว’ ถือเป็นวัดตัวอย่างในการพัฒนาวัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน เพราะมีพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ตลอดถึงการจัดการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณร ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงอุดมศึกษา ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นพระอารามหลวง เมื่อปี 2521จากนั้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมชมวัดร่องขุ่น โดยมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อดัง ผู้สร้างวัดนี้ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับความเป็นมาของการสร้างวัด สถาปัตยกรรม และภาพเขียนที่สื่อให้เห็นถึงหลักคำสอนทางพุทธศาสนา การส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนร่วมกันรักษาวัดซึ่งเป็นสมบัติของชุมชนและพระศาสนา

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดยมรรคา)
กำลังโหลดความคิดเห็น