xs
xsm
sm
md
lg

เข้าพรรษามาอธิษฐานกันเถอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด เรียก ว่าเป็นวันเข้าพรรษา การเข้าพรรษาเป็นเรื่องของพระ ทางพระวินัยถือว่าพอถึงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปดนี้เป็นฤดูฝน ประเทศอินเดียนั้นมีสามฤดู ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว วันเพ็ญเดือนแปดหมดเขตฤดูร้อน แรมค่ำหนึ่งนี่เข้าเขตฤดูฝน ถึงกลางเดือนสิบสองก็หมด เขตหน้าฝน แรมค่ำหนึ่งเดือนสิบสองก็เป็นฤดูเหมันต์ คือฤดูหนาว

พระสงฆ์ในครั้งพุทธกาลนั้นจาริกไป เที่ยวสอนประชาชน ตลอดสองฤดูกาล คือ หน้าหนาว หน้าร้อน แต่พอถึงหน้าฝน การไปมาไม่สะดวก ก็ต้องหยุดพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง เรียกว่า อยู่จำพรรษา การอยู่จำพรรษานั้นจะอยู่ที่ใดก็ได้ ขอให้มีที่มุง ที่บังคือมีหลังคา มีฝากั้น เป็นกะต๊อบน้อย สมัยก่อนพระไม่ได้อยู่ในวัดเสมอไป เดินๆ ไปพอถึงแรมค่ำหนึ่งเดือนแปด ที่ตำบลนี้ ก็บอกญาติโยมว่า อาตมาจะจำพรรษาที่นี่ ญาติโยมก็ไปสร้างกะต๊อบให้ หลังเล็กๆ มุงด้วยใบไม้ พออยู่ได้สี่เดือนในฤดูฝน ท่านก็อยู่ที่นั่น แล้วก็ทำหน้าที่นำประชาชนในถิ่นนั้นต่อไป อันนี้เป็นกิจวัตรของพระในเรื่องทางวินัย พระทุกรูปต้องอยู่จำพรรษาเมื่อถึงวันเข้าพรรษา

การเข้าพรรษาในวันแรมค่ำหนึ่งเดือนแปด เรียกว่าเข้าพรรษาต้น แต่ถ้าไม่สามารถจะเข้าได้ในวันนี้เพราะอยู่ในขณะเดินทางให้ไปเข้าพรรษาหลังได้ คือวันตรงหนึ่งค่ำเดือนเก้า เข้าพรรษาต้นไปออกกลางเดือนสิบเอ็ด เข้าแรมหนึ่งค่ำเดือนเก้าไปออกกลางเดือนสิบสอง สามเดือนเหมือนกัน ทุกรูปต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็เรียกว่าต้องอาบัติเพราะละเลยขนบธรรมเนียม ละเลยพระวินัย

ในฤดูการเข้าพรรษาเราควรจะถือ ว่าเป็นสัจจฤดูคือเป็นฤดูแห่งการทำจริง เป็นฤดูกาลแห่งการก้าวหน้า เป็นฤดูแห่ง การขูดเกลาตัวเราให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นจึงขอเชิญชวนญาติโยมทั้งหลายว่า

ในฤดูกาลเข้าพรรษา ให้เราตั้งจิตอธิษฐาน ว่าเราจะทำอะไร ในเรื่องที่จะเป็นไปเพื่อความขูดเกลา เพื่อสร้างเสริมชีวิตจิตใจให้ดีให้งามขึ้น ให้อธิษฐานใจว่าจะอยู่ทำอะไร พระท่านอธิษฐานใจว่า อยู่จำพรรษาสามเดือน แล้วก็มีการอธิษฐานใจเพิ่มเติมเช่นว่า ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ครบสามเดือนในพรรษา เราชาวบ้านก็เช่นเดียวกัน อย่าอยู่โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำอะไร พรรษามันจะผ่านพ้นไปโดยไม่ได้ประโยชน์ แต่ควรจะได้ตั้งใจว่าควรจะทำอะไรในฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตลอดสามเดือน เช่นตั้งใจว่าจะตักบาตร ถวายอาหารแก่พระทุกเช้า ไม่มากมายอะไร ถวายสักองค์สักถ้วยหนึ่งกับข้าวนิดหน่อย ทำกันทุกบ้านมันก็มากเอง ถ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เราก็อธิษฐานเรื่องอื่นอีกต่อไป เช่น อธิษฐานว่าจะไหว้ พระสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน จะนั่งสงบใจทุกคืนก่อนนอน ตื่นเช้าจะไหว้พระ จะนั่งสงบใจอย่างนี้ก็ได้ หรือตั้งใจว่าวันอาทิตย์ทุกวันจะมาฟังเทศน์ ไม่ขาดตลอดสามเดือนพรรษา หรือว่าเกินไปก็ไม่เป็นไร ว่าไปเรื่อยๆ อธิษฐานว่าอย่างนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจ

การอธิษฐานนี่สร้างความมั่นใจให้แก่เรา ทำอะไรโดยไม่มีอธิษฐานนั้นไม่มั่นใจไม่แข็งแรง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านก็ทรงอธิษฐาน เช่น อธิษฐานในวันจะตรัสรู้ พอปูหญ้าคาลงใต้ต้นโพธิ์แล้วก็ยืนอธิษฐานใจว่า เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ช่างมันเถอะ สิ่งใดที่จะสำเร็จได้ด้วยความเพียรความ บากบั่นของตน ถ้าไม่บรรลุนั้นเราจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด นี่อธิษฐานแรงกล้า ยอมให้กระดูกเปื่อยอยู่ใต้ต้นโพธิ์ในวันนี้ ถ้าไม่สำเร็จแล้วจะไม่ลุกขึ้นเป็นอันขาด แล้วก็สำเร็จ

ครั้นเมื่อสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงอธิษฐานว่าเราจะมีชีวิต จนกว่าธรรมะจะมั่นคง ถ้าว่าธรรมะยังไม่มั่นคงในโลก นี้ยังไม่ปรินิพพาน ก็เป็นการอธิษฐานเหมือนกัน แล้วก็ทำตามที่อธิษฐานไว้ จนธรรมมั่นคง เหลือมาจนถึงพวกเราในปัจจุบันนี้

เราทุกคนก็ควรจะมีการอธิษฐานใจ เช่น คอทองแดงทั้งหลายก็อธิษฐานใจ เสียว่า จะเลิกคบกันสักสามเดือน หรือสี่เดือน แต่บางคนสี่เดือนนี่ก็เลิกได้ แต่วันออกพรรษาแล้วเตรียมกันเป็นการใหญ่ ฉลองออกพรรษา ถอยกลับไปอยู่ที่เดิม ไม่ก้าวหน้า ไม่ไปรอด

พระผู้มีพระภาคท่านบอกว่า เมื่อชนะแล้วจงรักษาความชนะนั้นไว้ อย่าให้กลับแพ้เสียอีกเป็นอันขาด เราได้ชนะแล้วก็เลิกมันเสียเลย

สามเดือนนี่ถือศีลถือธรรมกันเสียบ้าง หยุดจากเรื่องอย่างนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่า อธิษฐานใจ สุดแล้วแต่เลือกว่าจะอธิษฐานอะไร ให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์จิตใจ ให้เป็นไปในทางที่เจริญงอกงามด้วยศีลด้วยธรรมในทางพระพุทธศาสนา ให้จิตใจเรา สะอาด สว่าง สงบ ขึ้นนั่นแหละ จึงจะเป็นการดี

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรมวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
กำลังโหลดความคิดเห็น