xs
xsm
sm
md
lg

สมาธิบำบัดโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาธิบำบัดโรค

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การทำจิตให้เป็นสมาธิ ช่วยสร้างความผ่อนคลายแก้ไขโรคของความ เครียดอย่างได้ผล จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา (Gallup survey) พบว่า คนอเมริกันร้อยละ 26 มีการ ปฏิบัติสมาธิหรือเทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ สังคมของตะวันตกมีวิถีชีวิตที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย เพราะเป็นสังคมวัตถุนิยมมีการแข่งขันสูง มีการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ดังนั้นคนอเมริกันจึงหันมาหาทางออกด้วยการฝึกหัดทางจิตใจกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รูปแบบการฝึกสมาธิที่นิยมกันก็ได้แก่ การทำสมาธิแบบ ที.เอ็ม. การทำสมาธิแบบเซ็น การทำสมาธิ แบบทิเบต การทำสมาธิแบบพุทธเถรวาท เป็นต้น

คนอเมริกันฝึกหัดสมาธิเพื่อแก้ไขปัญหาความ เครียดและปัญหาความทุกข์ใจ พวกเขาไม่ได้หวังไปถึงขนาดมรรคผลนิพพาน ดังเช่นชาวพุทธในทางตะวันออกพยายามปฏิบัติไปให้ถึง นอกจากนั้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นถึงผลดีของสมาธิต่อการรักษาโรคทางกายอย่างชัดเจน จึงทำให้การใช้สมาธิรักษาโรค เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ ดังที่คุณวรรณวดี ได้แปลบทความในนิตยสารไทม์ (Time Magazine) และตีพิมพ์บทความเรื่อง “การสวดมนต์ ไปวัด ปฏิบัติสมาธิ ช่วยรักษาโรคได้” ในวารสารธรรมจักษุ ปีที่ 83 ฉบับที่ 4 มกราคม 2542 ดังนี้

“พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า สมาธิทำให้เกิดปัญญา ปัญญาทำให้พ้นทุกข์และต้องปฏิบัติเอง ให้รู้เองแล้วจึงเชื่อ (คือให้ตนเองนั่นแหละเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทดลองเอง รู้เอง แล้วจึงเชื่อ) แต่หาชาวพุทธที่จะปฏิบัติในศตวรรษนี้ได้ยากนั้น กลับเป็นสิ่งที่การแพทย์แผนใหม่ ของสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ ทำการวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์และผลที่ได้จนถึงบัดนี้ ก็มีแต่ยืนยันว่า ความศรัทธาในศาสนา การสวดมนต์ การไปวัด การปฏิบัติสมาธิอย่างที่ชาวตะวันออกรู้จักกันมานานแล้วนั้น มีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ ทำให้มีสุขภาพดี มีภูมิต้านทาน โรคสูง และช่วยให้หายจากโรคได้ง่าย

นพ.เดวิท ลาสัน จิตแพทย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเอกชนและอดีตนักวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษางาน วิจัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพบว่ามีมากกว่า 200 รายงาน ที่แสดงให้เห็น ว่า การสวดมนต์ การไปวัด การปฏิบัติสมาธิ หรือความ ศรัทธาในศาสนาที่ตนนับถือ ทำให้บุคคลผู้นั้นมีสุขภาพดี หายจากโรคที่เป็นอยู่ได้ง่าย และมีภูมิต้านทานมากกว่า ผู้ที่ไม่ปฏิบัติ ไม่มีศรัทธาในสิ่งใด เช่น

ศูนย์การแพทย์ดาร์ทเม้าท์ฮิทค๊อค ได้บันทึกไว้ในปี 1995 ว่า ในบรรดาผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจจำนวน 232 รายนั้น คนไข้ที่คิดว่าได้รับพลังและกำลังใจจากศรัทธาในศาสนาของตน จะมีโอกาสรอดมากกว่าผู้ที่ไม่มีความเชื่อในศาสนาถึง 3 เท่า

การวิจัยโรคความดันโลหิตสูงที่ทำมายาวนานถึง 30 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ไปศาสนสถานเป็นประจำ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีปัจจัยการเสี่ยงอื่นๆ ต่อการ เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ตาม จะมีความดันต่ำกว่า ผู้ที่ไม่ไปศาสนสถานอยู่ 5 มิลลิเมตรปรอท

การศึกษาอื่นๆ แสดงว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่ไปศาสนสถานสม่ำเสมอ แม้ว่าจะสูบบุหรี่หรือมีความเสี่ยง อื่นๆอยู่ จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ไปศาสนสถานสม่ำเสมออยู่ถึงครึ่งหนึ่ง

ในปี 1996 สถาบันเกี่ยวกับผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ศึกษา ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในรัฐนอร์ทแคโรไลน่า จำนวน 4,000 คน พบว่าผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำจะมี สุขภาพแข็งแรงกว่าผู้ที่สวดมนต์อยู่ที่บ้าน

จากการศึกษาคนไข้หญิงจำนวน 30 คน พบว่า คนไข้ที่ไปโบสถ์เป็นประจำและศรัทธาในศาสนามาก จะหายจากโรคกระดูกสะโพกร้าวได้เร็วกว่าผู้ที่มีศรัทธาน้อย

ผู้ที่ไม่ไปศาสนสถานอย่างสม่ำเสมอจะมีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ที่ไปสม่ำเสมอ”


นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทความในนิตยสารไทม์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเรื่องของสมาธิที่มีผลต่อการหายจากโรค ของคนไข้ ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันสนใจกันมาก

ผู้เขียนพบว่าปัจจุบันมีผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสมาธิและสุขภาพไว้มากกว่า 250 รายงาน นอกเหนือจาก งานวิจัยของดร.เฮอร์เบอร์ต เบนสัน ที่ได้กล่าวไว้ในบทที่แล้ว เช่น

งานวิจัยของออร์เม จอห์นสัน พบว่า การฝึกสมาธิช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคลงได้ครึ่งหนึ่ง โดยศึกษาในอาสาสมัครที่ฝึกสมาธิแบบ ที.เอ็ม.จำนวน 2,000 ราย

งานวิจัยในแคนาดา พบว่าผู้ที่มีประกันสุขภาพในนครควิเบคจำนวน 1,418 ราย ที่ฝึกสมาธิแบบที.เอ็ม. กับผู้ที่ไม่ได้ฝึก 1,418 ราย พบว่า กลุ่มที่ฝึกสามารถลด ค่าใช้จ่ายของแพทย์ในการดูแลสุขภาพลงได้ร้อยละ 14

งานวิจัยรายงานหนึ่งศึกษาในอาสาสมัครที่ฝึกสมาธิ แบบ ที.เอ็ม. จำนวน 23 ราย ที่มีค่าเฉลี่ยไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด 254 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สามารถลดลง ได้ 30 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังจากฝึกไป 11 เดือน โดยไม่ได้รับการควบคุมเรื่องอาหาร

งานวิจัยในผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการเจ็บหน้าอกเวลา ออกกำลังกายจำนวน 16 ราย พบว่า การฝึกสมาธิแบบ ที.เอ็ม. ช่วยให้ผู้ป่วยมีความทนทานต่อการออกกำลังกายดีขึ้น กราฟการเต้นของหัวใจดีขึ้น

งานวิจัยพบว่า ความหนาของผนังเส้นเลือดหัวใจ (Carotid intima media Thickness) ในผู้ป่วยความ ดันโลหิตสูง 60 ราย ความหนาของหลอดเลือดลดลงในผู้ป่วยที่ฝึกสมาธิแบบที.เอ็ม. เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ฝึกสมาธิ หลังจากใช้เวลาฝึกสมาธิอยู่ 6-9 เดือน

มหาวิทยาลัยนานาชาติมหาริชชิ (Maharishi International University) ได้รวบรวมรายงาน 19 รายงานจาก 5 ประเทศ พบว่า การฝึกสมาธิแบบที.เอ็ม. ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาเสพติด การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ อย่างได้ผล

งานวิจัยหนึ่งพบว่า การฝึกสมาธิแบบที.เอ็ม. ในผู้ป่วยโรคเครียดเรื้อรัง 31 ราย ร่วมกับการฝึกความผ่อนคลายและไบโอฟีดแบคร้อยละ 40 พบว่า ได้ผลดีหลังฝึกไปเป็นเวลา 3-18 เดือน

งานวิจัยส่วนใหญ่ จะพบว่าการทำสมาธิให้ผลดีต่อสุขภาพไม่มากก็น้อย แต่ก็มีงานวิจัยบางรายที่แสดงให้เห็นถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ เช่น งานวิจัยของดร.ดีน เชฟปิโร (Dean Shapiro Ph.D.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางจิตเวช แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า ผู้เข้าฝึกกรรมฐานติดต่อกันสองสัปดาห์ จำนวน 27 ราย มี 17 ราย (ร้อยละ 62) เกิดอาการหวาดกลัว เครียด สับสน ซึมเศร้า สงสัยในตนเอง อย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างปฏิบัติ และในจำนวนนี้มักจะเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญแล้วด้วย

ผู้เขียนขอพูดถึงเรื่องสมาธิ เพื่อให้เข้าใจและไม่สับสน สมาธิที่จะพูดถึงในที่นี้เป็นสมาธิแบบสมถะ สมาธิก็หมายถึง ความตั้งมั่นของจิต สภาวะที่จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ สมาธิเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทต่อๆ ไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น