xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 10 ปี สิ้นยุคเผด็จการ “ซูฮาร์โต” เงินนับพันล้านที่โกงรัฐยังล่องหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย
เอเอฟพี - แม้จะสิ้นยุคเผด็จการซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย ไปแล้วเป็นเวลา 10 ปี พอดีเมื่อวานนี้ (21) ทว่า เงินนับพันล้านดอลลาร์ที่เขาถูกกล่าวหาว่าโกงประเทศไปในระหว่างครองอำนาจยาวนาน 32 ปีนั้น ยังคงล่องหนเป็นปริศนา เหลือไว้แต่วัฒนธรรมคอร์รัปชันที่หยั่งรากลึกในแดนอิเหนา

อสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต แห่งอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันว่าเงินจำนวนนับพันล้านที่ว่ากันว่าซูฮาร์โตยักยอกเข้ากระเป๋าของตนเองและญาติมิตรในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศนั้น ไปอยู่เสียที่ไหน

“การติดตามซูฮาร์โต (เรื่องทรัพย์สินที่เขาโกงไป) นั้น รัฐบาลจะต้องมีเจตนาแน่วแน่ แต่รัฐบาลอยากจะติดตามเรื่องนี้จริงหรือเปล่าล่ะ” อัสวี วอร์มัน อดัม จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินโดนีเซียตั้งคำถาม

จากรายงานเมื่อปี 2004 องค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ กล่าวหาซูฮาร์โตกับครอบครัวว่า ครอบครองทรัพย์สมบัติไว้ถึงราว 15,000-35,000 ล้านดอลลาร์ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของตั้งแต่ปี 1966 จนถึง 21 พฤษภาคม 1998

แต่ทนายความของเขาได้แก้ต่างว่านี่เป็นการหมิ่นประมาท และเมื่อปีที่แล้ว ศาลอินโดนีเซียได้พิพากษาให้นิตยสารไทม์ชำระค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ จากการตีพิมพ์บทความหนึ่งในปี 1999 ระบุว่าครอบครัวของซูฮาร์โตมีทรัพย์สิน 15,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ต่อมานิตยสารไทม์ได้ยื่นอุทธรณ์

ต้นปีที่ผ่านมา ศาลอินโดนีเซียยังได้พิพากษาให้ซูฮาร์โตพ้นความผิดทางแพ่งในคดีคอร์รัปชัน ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามหาเงินจำนวน 1,400 ล้านดอลลาร์ ที่ซูฮาร์โตถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โกงเงินจำนวนนี้ไป

อดัม กล่าวว่า แม้ว่าการฟ้องคดีซูฮาร์โต และ ทอมมี บุตรชายคนเล็กของเขาจะไม่มีทางชนะได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามทำอะไรบางอย่างกับทรัพย์สมบัติมหาศาลของประธานาธิบดีผู้ล่วงลับไป แต่เขาก็สงสัยว่า “การเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นความตั้งใจจริงที่จะติดตามเอาทรัพย์สมบัติคืนมา หรือว่าเป็นแค่การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น”

“ปัญหาของเราก็คือ ในการรื้อฟื้นการกระทำผิดในอดีตของผู้นำหรืออดีตผู้นำก็ตาม เรามักงุบงิบทำกันเงียบๆ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของเรา เรานับถือผู้อาวุโสเมื่อพวกเขามีชีวิตอยู่ และยิ่งเคารพนับถือมากขึ้นเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวซูฮาร์โตนั้น ยังมีวัฒนธรรมการคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดอยู่ในวงกว้างในแดนอิเหนา และเขาเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองเมื่อยืนอยู่บนยอดพีระมิดแห่งระบบอุปถัมภ์นั่นเอง

“ที่จริงก็มีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังมีแรงต้านจากผู้นำทางการเมืองที่ไม่ยอมให้การสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเต็มที่” เตเตน มาสดูกิ ผู้ประสานงานของ อินโดนีเซีย คอร์รัปชัน วอตช์ กล่าวและอ้างถึงหน่วยงานที่เป็นโครงสร้างในการต่อต้านการคอร์รัปชันซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันการคอร์รัปชัน คณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน หรือศาลคดีคอร์รัปชัน

“แต่ที่ผ่านมามีคดีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับกลางลงไป คดีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เป็น “ปลาตัวใหญ่” นั้นมีน้อยมากๆ” เขาบอกว่าการต่อสู้กับคอร์รัปชันยังคงเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติ และต้องใช้ทั้งเงินและเวลา

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งให้อัยการสูงสุด ดำเนินการรื้อฟืนการสอบสวนคดีของไซอัมซัล นุร์ซาลิม มหาเศรษฐีของอินโดนีเซีย เจ้าของกิจการธนาคารแห่งที่ล้มไปและมีหนี้สินนับพันล้านดอลลาร์ที่ยังไม่ชดใช้ให้กับรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตัดสินให้ยุติการสอบสวนคดีดังกล่าวที่ยืดเยื้อมานับสิบปี และตีหนี้สินดังกล่าวเป็นหนี้สูญไปแล้ว แต่หลังจากนั้นหัวหน้าอัยการในคดีนี้กลับถูกจับกุมพร้อมกับเงินสด 660,000 ดอลลาร์ในขณะที่เขาออกจากบ้านของนุร์ซาลิมที่จาการ์ตา

ยูโวโน ซูดาร์โซโน รัฐมนตรีกลาโหม บอกว่า จะต้องใช้เวลาอีกนับสิบปีในการแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ และจนกว่าอินโดนีเซียจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ได้ถึง 4 เท่าเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน




กำลังโหลดความคิดเห็น