xs
xsm
sm
md
lg

เกด ต้นไม้สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้นเกดหรือราชายตนะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Manilkarahexandra (Roxb.) Dubard อยู่วงศ์Sapotaceae มีถิ่นกำเนิดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูงราว 12-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่ม ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา เมื่อแก่จะแตกเป็นสะเก็ดสีดำ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง กิ่งมีลักษณะคดงอเหมือนข้อศอก เมื่อต้นยังเล็กจะมีกิ่งลักษณะคล้ายหนามยาว ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่กลับ กว้าง 3-7 ซม. ยาว 5-10 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่าง สีขาวนวล ออกเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีกลิ่นหอม อ่อนๆ มักออกดอกราวเดือนมกราคม - กรกฎาคม ส่วนผลเป็น รูปกลมรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.ผลดิบมีสีเขียว และเมื่อสุกจะมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เนื้อนุ่มหอมหวาน รับประทานได้ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ ภายในผลมีเมล็ดแข็งรูปรี สีน้ำตาล เป็นมัน 1-2 เมล็ด

ด้วยเหตุที่ต้นเกดมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง ทนทาน และพบมากตาม เกาะแก่งต่างๆ ชาวประมงจึงนิยมนำมาใช้ในการทำเรือ

ปัจจุบัน ต้นเกดเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ต้นเกดเป็นไม้สำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับพุทธประวัติ ภายหลังการตรัสรู้ ดังนี้

ในสัปดาห์ที่ 7 หลังจากพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข(สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจาก กิเลสทั้งปวง) เป็นสัปดาห์สุดท้าย อยู่ ณ ใต้ต้นราชายตนะ (สัปดาห์ที่ 5 ประทับที่ต้นไทร และสัปดาห์ที่ 6 ประทับที่ต้นจิก) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลา 7 วัน ในระหว่างที่ประทับอยู่นั้น ได้มีพ่อค้า 2 คน ชื่อว่าตปุสสะ และภัลลิกะ นำเกวียน 500 เล่ม เดินทางจากอุกกลชนบทผ่านมา และได้พบกับพระศาสดา จึงบังเกิดความเลื่อมใส ทั้งสองจึงพร้อมใจกันนำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ถวายแด่พระพุทธองค์ พระศาสดาได้ทรงแสดงธรรมแก่ทั้งสอง และเมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ทั้งตปุสสะและภัลลิกะ ก็เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรม เป็นสรณะตลอดชีวิต ทั้งสองจึงเป็น ‘เทฺววาจิกอุบาสก’ คืออุบาสกที่ถึงรัตนะทั้งสอง (ขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์) เป็นคู่แรกในพระพุทธศาสนา

และก่อนที่จะเดินทางต่อไป ทั้งตปุสสะและภัลลิกะ ได้ทูลขอ สิ่งของเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงทรงเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียรแล้วประทานเส้นพระเกศา 8 เส้นให้ พ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศธาตุนั้นไปบูชายังนครของตน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดย เรณุกา)







กำลังโหลดความคิดเห็น