xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

เติมใจให้กัน:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 60
พระอรหันต์เป็นผู้ละ
ทั้งบุญและบาปได้แล้ว

พระบรมศาสดามีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จมาสู่นิเวศน์ของวิสาขา นางอังคาสพระพุทธองค์ด้วยความเคารพ เลื่อมใส เมื่อพระองค์เสด็จภัตตกิจแล้วได้ถวายบังคมและทูลว่า

"พระเจ้าข้าภิกษุ 2 พวกที่ตามเสด็จพระองค์ไปสู่สำนักของพระเรวัต พวกหนึ่งบอกว่าที่อยู่รกรุงรังด้วยหนามสะแก ไม่น่ารื่นรมย์เลย อีกพวกหนึ่งว่ารื่นรมย์เหลือเกิน ที่อยู่ของพระเรวัตเป็นอย่างไรหนอ?"

พระศาสดามิได้ตรัสตอบโดยตรง แต่ตรัสเป็นทำนอง เทศนาอันกอปรด้วยประโยชน์ว่า

"อุบาสิกา! จะเป็นบ้านหรือป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม พระอรหันต์อยู่ที่ใดที่นั่นก็น่ารื่นรมย์ทั้งนั้น" ในการอยู่กับคนมาก พระอรหันต์ทั้งหลาย แม้จะไม่ได้กายวิเวกคือความสงัดทางกาย แต่ท่านย่อมได้จิตตวิเวกเป็นแน่นอน และอุปธิวิเวก คือความสงัดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายนั้น ท่านได้เป็นประจำอยู่แล้ว ได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีแปรปรวนกำเริบ มีความสงบเยือกเย็นอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ที่ใดที่นั่นก็รื่นรมย์ เพราะจิตของท่านรื่นรมย์อยู่ด้วยธรรม อันไม่ทำให้กิเลสฟูขึ้น

การฟูขึ้นของกิเลสแต่ละคราวเป็นความเร่าร้อนอารมณ์ต่างๆ แม้ดุจทิพย์ หรือเป็นทิพย์ก็ไม่อาจทำจิตของพระอรหันต์ให้หวั่นไหวได้ ความที่จิตไม่หวั่นไหวนั่นแหละเป็นความประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสในมงคลสูตรว่า "จิตของบุคคลใดอันโลกธรรมถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหว จิตนั้นของบุคคลนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด" ดังนี้

วันต่อมา ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันว่า "สามเณรเรวัตผู้เดียวแท้ๆ สามารถทำเรือนยอดสำหรับเป็นที่พักของพระศาสดาและภิกษุสงฆ์จำนวนมาก น่าอัศจรรย์ สามเณรเป็นผู้มีลาภมีบุญ น่าชมจริงๆ"

พระบรมศาสดาเสด็จมา ทราบความที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้ว จึงตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! บุตรของเราไม่มีบุญ ไม่มีบาป เพราะเธอละบุญและบาปทั้งสองอย่างได้แล้ว" ทรงย้ำอีกว่า

"ผู้ใดล่วงพ้นเครื่องข้องทั้ง 2 อย่าง คือ บุญและบาปได้แล้ว เรา (ตถาคต) เรียกผู้นั้นซึ่งไม่โศก ปราศจากธุลีคือกิเลสแล้ว บริสุทธิ์แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์"

ทั้งบุญและบาปทำให้บุคคลวนเวียนอยู่ในวัฏฏะท่องเที่ยวอยู่ในภพ 3 คือ กามภพบ้าง รูปภพบ้าง อรูปภพบ้าง ไม่อาจขึ้นสู่โลกุตตรภูมิได้

ในระดับหนึ่ง บุคคลต้องอาศัยบุญบารมีเพื่อข้ามทางกันดารคือสังสารวัฏ ปราศจากบุญบารมีเสียแล้วไม่อาจข้ามได้ แต่ทรงแสดงธรรมทั้งหลายในฐานะเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่จุดมุ่งหมาย ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า "เราแสดงธรรมไว้ในฐานะคล้ายเรือหรือแพสำหรับข้ามฝั่ง เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่อธรรม (บาป) เลย แม้แต่ธรรม (บุญ) เราก็สอนให้ละเสีย?"

ดังนั้น การกระทำของพระอรหันต์ทั้งปวงอยู่ในภาวะที่ "เหนือบุญเหนือบาป" บางทีทรงเรียกบาปว่ากรรมดำ ทรงเรียกบุญว่า กรรมขาว ส่วนกรรมคือการกระทำของพระอรหันต์นั้น เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีผลไม่ดำ ไม่ขาว

ในชีวิตของคนสามัญทั่วไป การกระทำต่างๆ มักมีลักษณะ 2 ประการ คือ ได้กับเสีย การได้หรือเสียก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของใจ ถ้าพอใจ ยินดีก็เรียกว่าได้ ถ้าไม่พอใจไม่ยินดีก็เรียกว่าเสีย มีขึ้น มีลง แต่พระอรหันต์ไม่ได้ไม่เสีย ไม่ดีใจและไม่เสียใจ อยู่เหนือการได้การเสีย อย่างนี้แหละ พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว

บุคคลที่ใช้เรือหรือแพสำหรับข้ามฝั่ง เมื่อถึงฝั่งแล้วย่อมทิ้งเรือหรือแพไว้ที่ฝั่งนั่นเอง ไม่แบกขึ้นไปด้วยฉันใด สาวกของพระอริยะก็ฉันนั้น อาศัยธรรมเป็นเครื่องข้ามฝั่งคือสังสารวัฏ เมื่อข้ามฝั่งได้แล้ว ก็ไม่ยึดมั่นในธรรมทั้งปวง เป็นผู้มีสติวางเฉยได้ตลอดไป

พระเรวัต ผู้มีปกติอยู่ ณ ดงไม้สะแกนี้ ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า คือเป็นเอตทัคคะในทางอยู่ป่า เพราะธรรมดาภิกษุทั้งหลายอื่นผู้อยู่ป่าย่อมพิจารณาถึงความสะดวกอื่นๆ เช่น เป็นป่าที่สะอาดเรียบร้อย สะดวกด้วยน้ำ สะดวกด้วยโคจรคามเป็นที่ภิกขาจาร แต่พระเรวัตไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านั้นเลย ชอบอยู่ป่ารกขรุขระ ไม่สนใจต่อความสะดวกสบายในป่า ดังนั้น ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น