xs
xsm
sm
md
lg

จำนงค์ ทองประเสริฐ วีรบุรุษในดวงใจ ชาว มจร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มิใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครสักคนจะได้รับการยกย่องให้เป็น ‘วีรบุรุษ’ แต่สำหรับ ‘ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ’ ผู้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) หนึ่งในมหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทย พัฒนาก้าวไกลและหยั่งรากมั่นคงลงบนแผ่นดินแห่งพุทธศาสนา และด้วยคุณูปการที่ท่านทำไว้มากมายให้กับ มจร. ชาวมหาจุฬาฯจึงยกย่องให้ท่านเป็น ‘วีรบุรุษในดวงใจ’

อ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเพศบรรพชิตได้เข้าศึกษาที่มหาจุฬาฯ ซึ่งเพิ่งเปิด และสำเร็จเป็น บัณฑิตรุ่นแรกของ มจร. เมื่อปี 2497 และเริ่มต้นชีวิตการ งานในมหาจุฬาฯในปี 2498 จนถึงปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก

• คิดว่าเป็นเพราะอะไรคะ ที่ชาว มจร. ยกย่องให้อาจารย์เป็นวีรบุรุษในดวงใจ

อาจเป็นเพราะว่าผมทำคุณประโยชน์หลายอย่างไว้ให้มหาจุฬาฯ คือช่วงที่ผมทำงานในฝ่ายบริหารของมหาจุฬาฯนั้น เรายังไม่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ จึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล มีเพียงเงินสนับสนุนจาก กรมการศาสนาปีละ 60,000-80,000 บาท ขณะที่มีนิสิตถึง 1,000 คน มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่อยู่ 50 กว่าคน ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเณรซึ่งไม่มีรายได้ทั้งสิ้น เงินแค่ 80,000 บาทเนี่ย 2 เดือนก็หมดแล้ว เราก็ต้องหารายได้เข้ามา ตอนนั้นผมก็ต้องไปขอยืมเงินจากวัดโพธิ์บ้าง วัดสังเวชบ้าง คือตอนนั้นเจ้าอาวาสจากวัดดังกล่าวท่านเป็นกรรมการฝ่ายการเงินของมหาจุฬาฯ

ปัญหาการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้ามหาจุฬาฯไม่ได้รับการรับรองวิทยฐานะก็ไม่ได้รับงบประมาณ และการที่ไม่มีการรับรองวิทยฐานะก็ทำให้จำนวนภิกษุที่เข้าศึกษาในมหาจุฬาฯลดลงอย่างเห็นได้ชัด รุ่นผมซึ่งเป็นนิสิตรุ่นแรกของมหาจุฬาฯ จบมา 6 รูป รุ่นที่ 2 จบ 4 รูป รุ่นที่ 3 จบแค่ 3 รูป เพราะบางคนรู้สึกว่าจบมาก็ไม่เป็นที่ยอมรับเลยไม่รู้จะเรียนไปทำไม ผมก็บอกเขาว่าการจะเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองวิทยฐานะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะไปบังคับขู่เข็ญให้เขารับรอง วิธีที่ดีที่สุดก็คือการสร้างผลงานให้เขาเห็น

• แล้วอาจารย์สร้างผลงานอย่างไรคะ

คือตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน เป็นยุคข้าวยากหมากแพง โจรขโมยชุกชุมมาก ศีลธรรมของผู้คนในสังคมเสื่อมถอยลง เราจึงนำหลักอริยสัจ 4 ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้ คือเมื่อเราเห็นว่าปัญหาการไร้ศีลธรรมของผู้คนคือตัวทุกข์ เราก็หาทางดับทุกข์ เราต้องรู้ว่าสมมติฐานที่ทำให้คนห่างเหินศาสนาเป็นเพราะอะไร ผมก็เริ่มติดต่อไปยังโรงเรียนต่างๆในกรุงเทพฯ ประมาณ 20 โรงเรียน แล้วก็ชักชวนพระภิกษุรุ่นแรกที่จบจากมหาจุฬาฯ ทั้ง 6 รูป และนิสิตปี 3 ปี 4 อีกจำนวนหนึ่ง อาสาเข้าไปสอนเรื่องพุทธศาสนาและศีลธรรม ในโรงเรียนดังกล่าว แล้วก็มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

หลังจากสอนไปได้ 3 ปีก็เห็นได้ชัดเลยว่าเด็กๆหันมาสนใจพระพุทธศาสนากันมาก คะแนนสอบในวิชาศีลธรรมของเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นก็สูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่สำคัญที่สุดคือความประพฤติของนักเรียนดีมาก บางโรงเรียนในสมัยนั้น อย่างอำนวยศิลป์เนี่ย พอบอกว่าเป็น นักเรียนโรงเรียนนี้ คนส่ายหัวเลย เป็นนักเลง ตอนหลังเรา เข้าไปสอนเด็กๆก็เรียบร้อยขึ้น มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

อย่างตอนที่ผมไปสอนที่โรงเรียนการเรือนพระนคร ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิยาลัยราชภัฏสวนดุสิตแล้ว สอนตั้งแต่เช้าถึง 11 โมง แล้วก็ฉันเพลที่นั่น วันหนึ่งก็มีเด็กผู้หญิงจากโรงเรียนการเรือนมาถวายอาหารแล้วก็บอกว่าหนูอยากเปลี่ยนศาสนาเหลือเกิน คือเขานับถือศาสนาคริสต์ เราก็บอกว่าไม่ต้องหรอก ที่มาสอนนี่ไม่ได้มาเพราะต้องการให้ใครเปลี่ยนศาสนา แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าเธอก็สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา เพราะถึงจะนับถือพุทธแต่ไม่ได้นำหลักคำสอนไปใช้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ‘ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม’ ไม่ใช่รักษาผู้รู้ธรรม ถึงคุณจะจบเปรียญ 9 ประโยค แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

• เรียกว่าใช้วิธีเน้นการฟื้นฟูศีลธรรมโดยมุ่งไปที่เด็กๆเป็นหลัก

ใช่ครับ ช่วงแรกเราเน้นไปที่เด็กๆ แต่ต่อมาก็มาจับกลุ่มผู้ใหญ่ด้วย ทางมหาจุฬาฯได้เปิดการเรียนการสอนสำหรับประชาชนที่สนใจเรื่องพุทธศาสนาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีการสอนพุทธปรัชญาทุกวันอาทิตย์ ซึ่งก็ไปขอใช้สถานที่ของวัดมหาธาตุเป็นที่บรรยายธรรม ช่วงแรกคนที่มาเรียนจะเป็นบรรดาครู อาจารย์ และนักเรียนจากโรงเรียนที่เราเคยไปสอนวิชาพุทธศาสนา จากวันแรกที่มาเรียนกัน 72 คน ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหอประชุมซึ่งจุคนได้ 400 คนไม่เพียงพอ

คนมาเรียนกันเยอะมาก บางคนที่มีลูกเขาก็เอาลูกมาด้วย พ่อแม่เรียนธรรมะ ส่วนลูกๆก็วิ่งเล่นกันไป เสียงเจี๊ยวจ๊าวไปหมด คนที่มาเรียนก็ไม่มีสมาธิ เราก็มานั่งคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง เลยปรึกษากันว่าถ้างั้นก็จับเด็กพวกนี้มาเรียนธรรมะซะเลย(หัวเราะ) ก็เลยเกิดเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยขึ้นมา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์กว่า 100 แห่งทั่วประเทศในปัจจุบัน โดยเขานำหลักสูตรของโรงเรียนพุทธศาสนาของมหาจุฬาฯไปเป็นต้นแบบ

• การจัดการเรียนการสอนธรรมะก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ปกติงบประมาณที่มหาจุฬาฯได้รับแต่ละปีก็ไม่พอใช้อยู่แล้ว ตรงนี้แก้ปัญหาอย่างไรคะ

คือพระที่มาช่วยสอนในแต่ละโครงการนั้นถ้าเป็นพระจากวัดที่อยู่ใกล้ๆ ท่านก็จะกลับไปฉันเพลที่วัด แต่ถ้ามาจากวัดไกลๆ เราก็จัดซื้ออาหารมาถวายท่าน ทีนี้บรรดาญาติโยมก็เริ่มเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เขาก็เกิดศรัทธาพากันจัดหาอาหารมาถวาย ผมยังจำได้มีอุบาสิกาคนหนึ่งอยู่แถววชิราวุธวิทยาลัย ชื่อคุณนายลาภ ท่านมาฟังธรรมะที่วัดมหาธาตุ เห็นพระภิกษุมีความตั้งใจในการเผยแพร่ธรรมะท่านก็เลื่อมใส เลยเอาปิ่นโตมาถวายทุกวัน ส่วนพ่อแม่ของเด็กที่มาเรียนก็เห็นว่าลูกๆของเขามีความประพฤติที่ดีขึ้น พ่อแม่เลยรวมตัวกันตั้งเป็นสมาคมผู้ปกครอง ลงเงินลงแรงทำอาหารมาถวายพระที่เป็นอาจารย์สอน เราจึงสามารถทำโครงการได้โดยไม่ต้องใช้เงิน (หัวเราะ)

• เรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของ มจร. ทราบว่าอาจารย์ก็เป็นผู้ผลักดันด้วย

ครับ คือในปี 2498-2499 เราได้พัฒนาหลักสูตรจากเดิมที่คิดคะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์ มาเป็นระบบเกรดตามแบบสหรัฐอเมริกา โดยมีที่ปรึกษาด้านการศึกษาชาวสหรัฐฯมาช่วยจัดทำหลักสูตร เราเอาหลักสูตรของไทยและสหรัฐฯมาเปรียบเทียบว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้เข้ากับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งใส่วิชาด้านพุทธศาสนาเข้าไป ซึ่งต้องบอกว่ามหาจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ใช้ระบบการคิดคะแนนแบบเกรด

จากนั้นเวลาเราส่งพระภิกษุไปเรียนต่อในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล เราก็ส่งหลักสูตรของมหาจุฬาฯ ไปให้เขาดู ทุกมหาวิทยาลัยต่างก็ให้การรับรอง ซึ่งมันต่างจากมุมมองของคนในประเทศมาก เนื่องจากสมัยนั้นมหาจุฬาฯยังไม่มีพระราชบัญญัติรับรองวิทยฐานะ บางคนเลยมองว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน ปริญญาบัตรเถื่อน แต่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขาให้ความเชื่อถือนะ (หัวเราะ)

ผมเองก็ได้ทุนจากมูลนิธิอาเซียไปเรียนปริญญาโท สาขาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งขึ้นชื่อว่าเข้ายากที่สุดในสหรัฐอเมริกา แล้วอยู่ในอันดับท็อปทรีของสหรัฐฯด้วย หลายคนก็สงสัยว่าจบจากมหาจุฬาฯ ทำไมเขาถึงให้การยอมรับ ทั้งที่ตอนนั้นรัฐบาลไทยยังไม่ให้การรับรองเลย ผมก็มองว่าถือเป็นนิมิตหมายที่ดีนะ เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยต่างชาติเขายอมรับเรา การจะทำให้รัฐบาลไทยรับรองวิทย-ฐานะมันก็น่าจะง่ายขึ้น

ผมก็พยายามพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าบัณฑิตที่จบมหาจุฬาฯนี่มีคุณภาพ เข้าไปเทอมแรกปรากฏว่าได้เอบวก ผลการเรียนดีทุกเทอม หลักสูตร 2 ปี ผมใช้เวลาแค่ปีครึ่ง ส่วนเวลาที่เหลืออีกครึ่งปีผมก็ไปลงเรียนในวิชาที่ไม่เอาคะแนน เพราะเราอยากได้ความรู้กลับมาเยอะๆ จะได้นำมาพัฒนามหาวิทยาลัยของเรา

• ได้นำความรู้มาพัฒนามหาจุฬาฯอย่างไรบ้างคะ

คือก่อนกลับผมก็ขอไปดูงานด้านการบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆในอเมริกาและยุโรป ซึ่งแต่ละที่ก็มีระบบการบริหารที่แตกต่างกันไป เช่น มหาวิทยาลัยเยล เป็นของเอกชน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นของเทศบาล พอผมกลับมาเมืองไทยก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เราก็นำสิ่งที่ดีๆของเขามาปรับใช้หลายอย่าง ผมได้เสนอให้มหาจุฬาฯจัดตั้งคณะเอเชียอาคเนย์ศึกษาขึ้นมา โดยทางมูลนิธิอาเซียเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณทั้งหมด ซึ่งผู้ที่เข้าศึกษาในคณะนี้จะมีความรู้เรื่องภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว และภาษายาวี ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะภาษาช่วยในการสื่อสารและช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

• การรับรองวิทยฐานะของมหาจุฬาฯเกิดขึ้นเมื่อไหร่คะ

การรับรองวิทยฐานะเกิดขึ้นหลังจากที่ผมลาสิกขาแล้วถึง 30 ปี คือหลังจากผมในฐานะรองเลขาธิการของมหาจุฬาฯและทีมผู้บริหารร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษาและการบริหารของมหาจุฬาฯจนเข้ารูปเข้ารอย มีฐานะมั่นคงแล้ว ผมก็ตัดสินใจลาสิกขาในปี 2507 แล้วก็เข้ารับราชการที่ราชบัณฑิตยสถาน จนกระทั่งเกษียณในปี 2532 ซึ่งในช่วงหลายสิบปีนั้นผมพยายามหาทางว่าจะทำอย่างไรให้มหาจุฬาฯซึ่งเป็นเหมือนบ้านของเราได้รับการรับรองจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างผลงาน พัฒนาคุณภาพ เราทำกันมาหมดแล้ว ซึ่งทางภาครัฐเองก็เห็น แต่ก็ยังไม่สามารถให้การรับรองได้ เพราะเรื่องนี้ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ

พอดีในปี 2539 ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็เลยเสนอพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระราชบัญญัติมหามกุฎราชวิทยาลัยเข้าสภา เมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาถึงวุฒิสภา ทางวุฒิสภาก็ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรม ผมซึ่งเป็นเลขานุการเป็นผู้พิจารณา แก้ไขปรับปรุงถ้อยคำ จากนั้นพอนำร่างเข้าที่ประชุมวุฒิสภา วุฒิสมาชิกคนใดสงสัยในประเด็นไหน ผมก็ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมาธิการศึกษาฯให้เป็นผู้ชี้แจง สุดท้ายที่ประชุมก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้การรับรองร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งอยู่ในความดูแลของมหาเถรสมาคมและกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐตั้งแต่นั้นมา และผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งก็ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น

• ทุ่มเททำงานมาตลอดชีวิตอย่างนี้ อะไรคือความภาคภูมิใจที่สุดของอาจารย์

ที่ผมภูมิใจที่สุดก็คือผมสามารถทำงานเพื่อประเทศชาติและพระศาสนาได้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง ผมโชคดีที่คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือบรรดาลูกศิษย์ ต่างก็ให้การสนับสนุน จึงสามารถผลักดันงานของพุทธศาสนาในหลายๆด้านให้ก้าวหน้าไปได้

• แล้วรางวัลของชีวิตล่ะคะ คืออะไร

ก็คือความภาคภูมิใจนี่แหละ ถึงจะตีค่าตีราคาไม่ได้เหมือนกับเงินทองแต่มันก็มีความสุขนะ อย่างเวลาเราเห็นลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนดี เราก็ภูมิใจว่าได้มีส่วนช่วยสร้างคนดีให้สังคม(ยิ้มตาเป็นประกาย)

• ทราบว่ามหาจุฬาฯจัดงาน‘วันจำนงค์ ทองประเสริฐ’ เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของอาจารย์ด้วย

ครับ ลูกศิษย์ลูกหาเขาก็จัดให้ทุกปี ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่ผมอายุครบ 74 ปี เขาจัดตรงกับวันเกิดผม คือวันที่ 2 พฤษภาคม ก็ดีใจนะที่เขายังระลึกถึงคนแก่(หัวเราะด้วยความสุข)

• เดือนพฤษภาคมนี้ยังมีวันวิสาขบูชาด้วย สิ่งสำคัญที่เราควรคำนึงถึงในวันดังกล่าวคืออะไรคะ

วันวิสาขบูชาคือวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน ซึ่งคนทั่วไปก็แปลกใจว่าทำไมทั้ง 3 วันถึง มาตรงกันได้ แต่ถ้าจะอธิบายตามแนวทางของท่านพุทธทาสก็ต้องบอกว่าทั้ง 3 สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในขณะเดียวกันน่ะแหละ คือคำว่าประสูตินั้นไม่ได้หมายถึงตอนเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่หมายถึงตอนเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับที่พระองค์ตรัสรู้ และคำว่าปรินิพพาน ก็คือนิพพานจากกิเลส

สิ่งที่ทุกคนควรนึกถึงก็คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสรู้ แล้วก็นำหลักธรรมนั้นมาปฏิบัติ
ถ้าเราศึกษาเรื่องราวของพระองค์ดูจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงแตกต่างจากศาสดาของศาสนาอื่น ศาสนาอื่นจะบอกว่าพระเจ้าหรือศาสดาของเขามีเพียงหนึ่งเท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ ผูกขาดว่าพระองค์เท่านั้นที่เป็นศาสดาหรือสามารถบรรลุธรรมได้เพียงคนเดียว แต่ทรงบอกว่าใครก็ตามที่ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านก็สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนท่านเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่ว่าตถาคตจะอุบัติขึ้นบนโลกนี้หรือไม่ ความจริงมันมีอยู่แล้ว ตถาคตมาตรัสรู้ความจริงในภายหลัง” เช่น สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ความจริงอันนี้ ซึ่งในอดีตก็มีพระพุทธเจ้ามาแล้วหลายองค์ และในอนาคตก็จะเกิดมีพุทธเจ้าขึ้นอีก ดังนั้นอย่ายึดถือตัวท่าน แต่ให้ยึดถือหลักธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน

• อาจารย์มองว่าการเผยแผ่พุทธศาสนาในปัจจุบันเป็นเรื่องยากไหมคะ

ผมว่าไม่ยากนะ เดี๋ยวนี้มันมีสื่อต่างๆเกิดขึ้นเยอะมาก อย่างตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมก็ขอให้ผมไปจัดรายการธรรมะทางสถานีวิทยุ ปตอ. ออกอากาศทุกวันจันทร์ ผมว่าเรื่องการเผยแผ่นี่ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่จะนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจมากกว่า ปัญหาของพุทธศาสนาในตอน นี้ก็คือเรายังขาดพระนักเทศน์ที่จะสามารถพูดให้ชาวบ้านเข้าใจหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ส่วนมากพระท่านจะเทศน์สอนแบบโบราณ เป็นเรื่องในพระไตรปิฎกบ้าง พุทธประวัติบ้าง คนฟังก็ง่วง เราต้องเข้าใจว่าคนทั่วไปเขาคุ้นกับทางโลก ดังนั้นการจะสื่อสารกับชาวบ้านได้พระก็ต้องรู้ทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม เพื่อที่จะได้นำมาประยุกต์ใช้ได้

........

แม้วัยจะล่วงเลยถึง 79 ปี แต่อาจารย์จำนงค์ ผู้เป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาและราชบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานให้กับพุทธศาสนาอย่างไม่ย่อท้อ ทั้งเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นวิทยากรบรรยายธรรมให้กับหน่วยงานองค์กรหลายแห่ง

‘วีรบุรุษ’ ท่านนี้บอกสั้นๆว่า “ผมมองว่าศีลธรรมเป็นเรื่องสำคัญนะ ถ้ามีโอกาสที่จะเผยแพร่และปลูกฝังศีลธรรมให้ใครก็แล้วแต่ผมจะไม่รอช้าเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครเชิญไปสอนไปบรรยายที่ไหน ถ้าไปได้ผมไปให้หมด”


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดย จินตปาฏิ)


กำลังโหลดความคิดเห็น