xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากเมกกะ ‘อามีรุ้ลฮัจญ์’ คณะทำงานที่ต้องถูกยกเครื่องใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 สายการบินไทย นำผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมจากในประเทศ เหินฟ้าเข้าสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในลักษณะเช่าเหมาลำจากสนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา ถึงสนามบินเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ โดยมีผู้แสวงบุญเดินทางในเที่ยวแรก จำนวน 380 คน หลังจากนั้นจะมีเที่ยวบินในลักษณะเดียวกันนำผู้แสวงบุญเดินทางทุกวันจนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ที่เป็นเที่ยวบินสุดท้าย

ในขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการบางบริษัทได้นำผู้แสวงบุญส่วนหนึ่งเดินทางโดยสายการบินอื่นที่บินระหว่างสุวรรณภูมิกับเจดดา อีกทางหนึ่งด้วย

การเดินทางในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ดังกล่าว ได้มีพิธีเปิดการเดินทางอย่างเป็นทางการ ณ สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ท่ามกลางการร่วมพิธีของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เช่น จาก ศอ.บต. กรมการศาสนา และกระทรวงมหาดไทย เป็นจำนวนมาก สร้างความปีติยินดีของบรรดาผู้แสวงบุญ และญาติพี่น้องของผู้แสวงบุญอย่างล้นพ้น

โดยต่างได้คิดและมองเห็นถึงความเข้าใจ และให้ความสำคัญ การประกอบพิธีกรรมความศรัทธาต่อศาสนา ของรัฐบาลไทยที่มีต่อชาวไทยมุสลิม ในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามในข้อที่ 5 ที่ บัญญัตไว้ว่า “มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถและความพร้อมทางด้านการเงินและสุขภาพของร่างกาย ต้องไปปฏิบัติศาสนกิจประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย”

ในปีนี้ มีชาวไทยมุสลิม จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ จำนวน 15,000 คน โดยการเดินทางไปแสวงบุญของชาวไทยมุสลิม นั้น จะเดินทางไปในรูปแบบ ของการเป็นฮุจยาตของบริษัทผู้ประกอบการนำผู้แสวงบุญไปประกอบพิธี ซึ่งมีอยู่กว่า 50 บริษัท ที่ได้จดทะเบียนกับกรมการศาสนาและอยู่ในการกำกับดูแลของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทย ได้จัดส่งผู้แทนรัฐบาล ในนามคณะทำงานอามีรุ้ลฮัจญ์ โดยมี ดร.อิสมาแอล ลุตฟี จะปะกียา เป็นอามีรุ้ลฮัจย์ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ เพื่อไปอำนวยความสะดวกกับผู้แสวงบุญ ในโอกาสเดียวกันนี้ศอ.บต. และกรมการศาสนา ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งคณะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุข ไปดูแลในเรื่องของสุขภาพอนามัยของผู้แสวงบุญ โดยเปิดให้บริการเป็นสถานพยาบาลไทย ทั้งนครเมกกะ และเมืองมาดีนะห์ อีกด้วย

สำหรับ คณะทำงานอามีรุ้ลฮัจญ์ จะประกอบด้วย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของมหาดไทย ผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้และกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากกรมการศาสนา ซึ่งการทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย นั้น มีอยู่ 3 ส่วน ประกอบด้วย คณะอามีรุ้ลฮัจญ์ มี ดร.อิสมาแอล ลุตฟี จะปะกียา เป็นหัวหน้า ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย คณะจากกรมการศาสนา ซึ่งมี นายฮาลิม มินซาร์ เป็นหัวหน้าคณะ และผู้แทนจาก ศอ.บต. มีนายเจ๊ะฮูเซ็ง เจ๊ะอุบง เป็นหัวหน้าคณะ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการสาธารณสุขไปประจำ ณ นครมาดีนะห์และนครเมกกะ อีกด้วย ซึ่งปีนี้มีแพทย์และเจ้าหน้าที่รวม 26 นาย

การเดินทางไปแสวงบุญของชาวไทยมุสลิม จากประเทศไทย การปฏิบัติตนภายใต้กรอบ ข้อกฎหมาย ตามที่ทางการประเทศซาอุดีอาระเบีย กำหนดไม่ต่างไปจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะมีความต่างบ้างในเรื่องของการจัดการดูแลของ เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปอำนวยความสะดวกผู้แสวงบุญ ตามสภาพและความพร้อมของบุคลากรที่ถูกส่งไป โดยเฉพาะการเอาใจใส่ หรือความจริงใจของเจ้าหน้าที่ต่อผู้แสวงบุญมากน้อยแค่ไหน

ในแต่ละปีรัฐบาลได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ในนามคณะอามีรุ้ลฮัจญ์ ที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนา กระทรวงมหาดไทย และผู้นำศาสนาทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และกรุงเทพมหานคร เพื่อเป้าหมายในการจัดการดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ แต่ไม่แน่ใจว่าทางรัฐบาลไทย ได้ติดตามการทำงานของคณะดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน หรือเพียงแต่คอยรับรายงานผลการปฏิบัติจาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายอย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่กล่าวถึง ก็น่าเสียดายกับเม็ดเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ที่ต้องนำไปใช้จ่ายกับเจ้าหน้าที่และคณะทำงานดังกล่าวในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย

ผู้สังเกตการณ์ซึ่งได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้ด้วยเงินทุนส่วนตัว และได้เฝ้าติดตามการทำงานของคณะทำงาน ในฐานะที่เป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลจากคณะทำงานที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย พบว่าแม้จะมีความพยายามอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวไทยมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ แต่ก็ยังมีหลายๆ อย่าง ที่รัฐบาลไทยต้องนำมาทบทวนกันใหม่ ทั้งการคัดเลือกเจ้าหน้าที่และการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่

สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกินคุ้มกับงบประมาณ ในการเดินทางในครั้งที่ผ่านมาต้องยกให้เจ้าหน้าที่และทีมแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงสาธารณสุขจัดส่งบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเวชภัณฑ์ต่างๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของผู้แสวงบุญ ทำให้แพทย์ พยาบาล ต้องทำงานอย่างหนักแทบจะไม่มีเวลาได้หยุดพักผ่อน และจากการเปิดเผยทราบว่าครั้งที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรเวชภัณฑ์ยาน้อยกว่าทุกปีอีกด้วย

ส่วนคณะทำงานอามีรุ้ลฮัจญ์ ที่ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมการศาสนา และผู้นำศาสนาอิสลามที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศไทย เดินทางไปประจำนครเมกกะและนครมาดีนะห์ กว่า 30 นาย โดยยังไม่ทราบว่ามีภารกิจ หน้าที่ อะไรบ้าง เนื่องจากไม่เคยพบว่ามาเยี่ยมเยืยนดูแลถามสารทุกข์สุกดิบของผู้แสวงบุญแต่อย่างใด

ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่ถูกส่งไปล้วนเป็นผู้มีตำแหน่งในระดับบริหารแทบทั้งสิ้น จึงไม่มีใครกล้าสั่งการใคร กลายเป็นว่าคณะทำงานอามีรุ้ลฮัจญ์ ทุกคน “ใหญ่” ใหญ่จน ผู้แสวงบุญรู้สึกกลายเป็นคนที่ไร้ค่า ทั้งๆ ที่ปัจจัยเหตุที่ต้องมีคณะทำงานอามีรุ้ลฮัจย์ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมหาศาล นั้น ก็เพราะต้นเหตุมาจากมีผู้แสวงบุญ ที่ต้องมีคณะทำงานอามีรุ้ลฮัจย์

ผู้สังเกตการณ์ได้มีโอกาสพบกับ ผู้แทนจากกรมการศาสนารายหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งในระดับหัวหน้า ได้สอบถามถึงภาระหน้าที่ของคนจากกรมการศาสนาว่ามีหน้าที่ใดบ้าง ได้รับคำตอบว่ามีหน้าที่มากมาย ย้อนถามว่า เมื่อมีหน้าที่มากมาย ไม่เห็นมาสอบถามถึงความเป็นอยู่ของผู้แสวงบุญเลย ผิดแผกแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมักจะเข้าประกบผู้แสวงบุญของประเทศตนทันที เมื่อเห็นว่ากลุ่มผู้แสวงบุญรวมตัวกันหลายๆ คน แม้กระทั่งกลุ่มผู้แสวงบุญเข้าร้านทอง เพื่อจับจ่ายซื้อทอง เจ้าหน้าที่จะเข้าประกบให้การช่วยเหลือทันที

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทย แม้ผู้เขียนพร้อมคณะพบปัญหาการผิดสัญญาบ้านเช่าจากเจ้าของบ้านเช่า ในนครมาดีนะห์ จากที่ทำสัญญาบ้านเช่าใกล้มัสยิด กลับต้องไปอยู่บ้านเช่าที่ห่างไกลมัสยิดกว่า 2 กิโลเมตร ก็ไม่เห็นจะมีเจ้าหน้าที่อามีรุ้ลฮัจญ์ เข้ามาแก้ไขปัญหาให้แต่อย่างใด เช่นเดียวกับการเดินทางกลับจากทุ่งอารอฟัก มายังเมืองมีนา ก็ถูกทิ้งให้ตากแดดอยู่กว่าครึ่งวันเพื่อรอรถยนต์บริการนำส่ง สุดท้ายต้องโบกรถรับส่งเอง

ก็ไม่เห็นมีคณะทำงานอามีรุ้ลฮัจญ์ มาแก้ไขปัญหาให้แต่อย่างใด ไม่!

นอกจากนี้ยังทราบข่าวว่า มีผู้แสวงบุญของบริษัทผู้ประกอบการฮัจญ์รายหนึ่ง นำผู้แสวงบุญไปเช่าบ้านห่างจากมัสยิดอัลฮาราม (มัสยิดเมกกะ) กว่า 7 กิโลเมตร จนไม่มีโอกาสได้มาร่วมละหมาด เพราะการเดินทางแต่ละครั้งต้องจ้างรถยนต์เป็นพาหนะ ซึ่งมีราคาแพงมาก ทำให้หมดโอกาสมาร่วมละหมาดที่มัสยิด

ในข้อเท็จจริง นั้น ก่อนที่บริษัทผู้ประกอบการฮัจญ์จะขอวีซ่าการเข้าประเทศจากสถานทูตซาอุดีอาระเบีย จะต้องมีหลักฐานการเช่าบ้านพักที่รับรองด้วยประธานการตรวจสอบที่พักก่อน ซึ่งบ้านที่เช่าก็ต้องตามกติกาที่กรมการศาสนากำหนด คือมีระยะทางระหว่างบ้านเช่ากับมัสยิดไม่เกิน 1 กิโลเมตร และต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมกับการป้องกันภัยเป็นอย่างดี ซึ่งก็ไม่ทราบด้วยเหตุใด ที่ผู้แสวงบุญกลุ่มดังกล่าวต้องรับผลที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะการมีผลประโยชน์หรือด้วยสาเหตุใด ก็ควรที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องคลายข้อข้องใจด้วย

ผู้จัดการบริษัทผู้ประกอบการฮัจญ์รายใหญ่แห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า การเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว นี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี 2549 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรมการศาสนาเป็นเงินหลายสิบล้านบาท ตนนึกไม่ถึงว่าจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในปีนี้ ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้น ตนเชื่อว่าต้องมีการฮั้วผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ประกอบการฮัจญ์ที่เกิดเหตุ เพราะการเช่าบ้านที่นครมาดีนะห์ หรือที่นครเมกกะต้องได้รับการรับรองจากประธานการตรวจสอบที่พักก่อนที่จะยื่นวีซ่าเข้าประเทศ

เช่นเดียวกับผู้แสวงบุญรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนพอจะทราบว่าในแต่ละปีจะมีคณะทำงานอามีรุ้ลฮัจญ์ ที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยไปกำกับดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ แต่ไม่ทราบว่าเขามีหน้าที่อะไรบ้าง เพราะตั้งแต่เข้าประเทศซาอุดีอาระเบียในวันแรก จะพบกับเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต.ที่ไปอำนวยความสะดวกที่สนามบินเท่านั้น หลังจากนั้นไม่พบใครอีกเลย จะมาพบอีกครั้งที่สนามบินเจดดาห์ ในวันเดินทางกลับที่มาอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

ส่วนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จะเป็นใครบ้างตนไม่ทราบ ฝากให้รัฐบาลไปแก้ไขต่อไป หากต้องการคัดเลือกผู้ที่จะไปอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ ก็ควรจัดแบ่งตำแหน่งหน้าที่ให้ชัดเจน โดยไม่ควรจัดส่งคณะทำงานที่เป็นระดับบริหารไปมากนัก ควรจะมีสัก 1 -2 คน นอกนั้นให้เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ควรจัดส่งไปเป็นอันขาด เพราะจะเป็นผู้ถือยศถืออย่าง มองผู้แสวงบุญเป็นคนต่ำต้อย ทำให้การจัดสรรงบประมาณการเดินทางทั้งค่าเครื่องบิน ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 1,200 บาทของบุคคลดังกล่าว สิ้นเปลื้องโดยไม่คุ้มกับผลที่ได้จากการปฏิบัติ

การจัดส่งคณะทำงานเพื่อไปอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญของรัฐบาล นับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีแล้ว ที่รัฐบาลเป็นห่วงเป็นใยประชาชนที่ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างแดน แต่รัฐบาลลืมคิดว่าบุคคลที่จัดส่งไปนั้น เขาทำงานคุ้มกับเงินงบประมาณแผ่นดินที่ให้ไว้หรือไม่

ถ้าเป็นไปได้ ควรรับทราบการปฏิบัติงานของบุคคลดังกล่าวจากที่อื่นบ้าง นอกเหนือจากรับฟังการรายงานของเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะรายงานว่า ไม่มีปัญหา เรียบร้อยทุกอย่าง หากมีความตั้งใจจริงที่จะปกป้องผลประโยชน์และให้ความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ ควรพิจารณาสักนิดว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปนั้น เขามีไฟในการทำงานมากน้อยแค่ไหน และมองผู้แสวงบุญเป็นที่ตั้งหรือไม่ หรือมองผู้แสวงบุญเป็นที่รองรับผลประโยชน์หรือไม่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องทบทวน โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งกำลังฟอร์มทีมเข้ามาทำงาน

กำลังโหลดความคิดเห็น