xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ค่อยๆ สังเกตให้ดี คุณก็จะเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา
แต่เป็นเพียงรูปที่เคลื่อนไหวไปมาเพราะจิตสั่งเท่านั้นเอง
จากนั้นรูปไหวก็รู้ว่ารูปไหว จิตไหวก็รู้ว่าจิตไหว


ครั้งที่ 99 บทที่ 8. ของฝาก
ตอน ร่างกายกับรูป
มีความแตกต่างกันอย่างไร

ถาม ดิฉันเจริญสติด้วยวิธีกำหนดรู้ท้องที่พองยุบ กำหนดรู้จังหวะในการเดินจงกรม และกำหนดรู้นามธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ทำมาหลายปีแล้ว จนมีความรู้สึกตัวเด่นชัดจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็กำหนดทันเป็นส่วนมาก จิตได้รับความสงบสุขมาก นิ่งและไม่กระเพื่อมหวั่นไหวเมื่อกระทบอารมณ์ ต่างๆ บางครั้งก็วูบหมดความรู้สึกนึกคิดลง นับว่าเป็นความสงบสุขอย่างยิ่ง แต่การปฏิบัติก็ติดตันอยู่เพียงเท่านี้หลายปีแล้ว บางคราวกิเลสก็ฟูขึ้นมาได้อีก ขอเรียนถามว่า ดิฉันควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป จิตจึงจะก้าวหน้าต่อไปได้อีก

ตอบจุดเด่นของการปฏิบัติในแนวทางที่คุณทำอยู่ก็คือการพยายามรู้รูปนามให้ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจัดว่าเป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนาทีเดียว เบื้องต้นแม้จะเน้นการรู้รูป แต่ในที่สุดจะสามารถรู้เวทนาและจิตได้ด้วย การปฏิบัติแนวนี้จึงช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้ได้ทั้งรูปและนาม นับว่าเป็นแนวทาง ปฏิบัติที่น่าสนใจศึกษาอีกแนวทางหนึ่ง

มีจุดสังเกตที่ขอฝากให้คุณลอง พิจารณาถึงความสอดคล้องกับพระปริยัติธรรม บางประการคือ (1) ในเวลาที่คุณดูท้องพองยุบ และดูเท้าที่ยกย่างเหยียบนั้น คุณรู้รูปจริงๆ หรือเพ่งอวัยวะคือท้องและเท้า ถ้าคุณมองทะลุบัญญัติของร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ เข้าไปรู้ลักษณะของรูปได้จริงๆ จึงจะเป็น การเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าเพ่งร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ ก็เป็นการทำสมถะ (2) การรู้นั้นคุณระลึกรู้ด้วยสติที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้จงใจ แต่เกิดเพราะมีเหตุให้เกิด หรือรู้ด้วยความจงใจกำหนด ถ้าสติเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ คือจิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ สติอย่างนี้จึงจะเป็นสัมมาสติและใช้เป็นเครื่องมือ ในการเจริญวิปัสสนาได้ แต่หากจงใจกำหนด จิตจะถูกตัณหาครอบงำและสัมมาสติ จริงๆ จะไม่เกิดขึ้น จิตจะขาดเครื่องมือที่จะเจริญวิปัสสนา และ (3) เมื่อคุณรู้รูปนามแล้ว คุณทำอะไรต่อจากการรู้หรือเปล่า หรือไม่ได้ปรุงแต่งสิ่งใดต่อไปอีก ทั้งนี้ถ้าคุณรู้แล้วเติมบัญญัติลงไปก็จะกลายเป็นการคิดเรื่องอารมณ์ หรือถ้าคุณอยากรู้อารมณ์ให้ชัดๆ แล้วเกิดการกำหนดจดจ้อง ก็จะกลายเป็นการเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌาน อันเป็นการทำสมถะไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าคุณรู้รูปนามเพื่อจะรู้ลักษณะความเป็น ไตรลักษณ์ของรูปนามโดยไม่ปรุงแต่งสิ่งใดต่อไป ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องแล้ว

ถาม ขอความกรุณาช่วยขยายความว่า 'ร่างกาย' กับ 'รูป' มีความแตกต่างกันอย่างไรค

ตอบร่างกายอันประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสมมติบัญญัติ ส่วนรูปอันประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นปรมัตถ์ การรู้ร่างกายจึงเป็นการทำสมถกรรมฐาน ส่วนการรู้รูปเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าคุณเคยศึกษาพระอภิธรรมคุณจะทราบว่า อารมณ์ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีทั้งส่วนที่เป็นบัญญัติและปรมัตถ์ คือมีทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและเป็นรูป ส่วนที่เป็นร่างกายก็เช่นลมหายใจ และร่างกายอันเป็นอสุภะ ส่วนที่เป็นรูปก็เช่นรูปยืนเดินนั่งนอน รูปคู้รูปเหยียด และธาตุ 4 อันประชุมอยู่ในกายนี้

ทำไมอาตมาจึงกล่าวว่าลมหายใจและร่างกายอันเป็นปฏิกูลและอสุภะเป็นบัญญัติ ก็เพราะรูปที่แท้จริงของลมหายใจและร่างกายได้แก่มหาภูตรูป 4 หรือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตัวธาตุนั่นแหละคือรูป แต่เมื่อธาตุมารวมตัวกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ๆ จึงเกิดมีสมมติบัญญัติเรียกว่าลมหายใจ และผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

การรู้ร่างกายเป็นของง่าย เพราะจิตของ เราคุ้นเคยกับการรู้อารมณ์บัญญัติอยู่แล้ว แต่การรู้รูปเป็นของยากเพราะเราไม่คุ้นเคยกับการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ผู้ที่จะรู้รูปได้ดีคือสามารถเห็นรูปซึ่งซ่อนอยู่ในร่างกายได้ จะต้องมีจิตที่ตั้งมั่นพอ พระอภิธรรมจึงกล่าวไว้ ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเหมาะสมกับสมถยานิก ถ้าทำความสงบจนจิตตั้งมั่นเสียก่อนก็จะเห็นรูปได้โดยง่าย แต่คุณไม่สนใจเรื่องสมถกรรมฐานเลย พอเริ่มลงมือปฏิบัติก็มักจะตั้งสติกำหนดรู้ท้องที่พองยุบ หรือทำจังหวะในการเดินจงกรม 6-7 จังหวะเลยทีเดียว เมื่อทำอย่างนี้จิตมักจะไม่มีกำลังพอที่จะถอดถอนตนเองออกมาเป็น ผู้รู้รูป แต่มักจะเคลื่อนเข้าไปเพ่งร่างกาย มีการเพ่งท้อง เพ่งเท้า เพ่งมือ หรือเพ่งกายทั้งกาย เป็นต้น

การรู้รูปนั้นหากทำด้วยจิตที่มีกำลังความตั้งมั่นอันเนื่องมาจากการทำสมถกรรมฐานจนจิตเป็นหนึ่ง จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติมองทะลุร่างกายคืออวัยวะน้อยใหญ่อันเป็นอารมณ์บัญญัติ เข้าไปเห็นรูปอันเป็นอารมณ์ ปรมัตถ์ได้ง่ายขึ้น เพราะจิตจะถอดถอนตนเองออกมาเป็นผู้รู้รูป โดยไม่หลงเข้าไปคลุกอยู่กับอวัยวะต่างๆ กระทั่งการเข้าไปคลุกอยู่กับกายทั้งกาย

ผู้ปฏิบัติจะเห็นวิญญัติรูปหรือรูปที่มีอาการเคลื่อนไหวและหยุดนิ่ง เห็นว่าสิ่งที่ไหวและนิ่งอยู่นี้เป็นเพียงรูป ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่การคิดว่านี่คือรูปไหว รูปนิ่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน แต่เป็นความรู้สึกถึงรูปที่ไหว และนิ่งในอาการหรืออิริยาบถต่างๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ บางท่านอาจรู้สึกได้ถึงมหาภูตรูปคือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม โดยเฉพาะธาตุดินคือความเป็นก้อนแข็งของรูปกายนี้ หรือรู้สึกได้ถึงธาตุไฟอันเป็นความเย็นร้อนของก้อนธาตุนี้ รู้ว่าก้อนธาตุนี้ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์แต่เป็นธาตุ เป็นต้น

ถาม หมายความว่าดิฉันจะต้องไปฝึกทำสมถกรรมฐานเพิ่มเติมก่อนใช่ไหมคะ

ตอบไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้แต่ต้องปรับมุมมองให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะความจริงการที่คุณเพียรเพ่งท้อง เพ่งเท้า หรือเพ่งกาย ทั้งกายนั่นแหละเป็นการทำสมถกรรมฐานอยู่ในตัวแล้ว แต่คุณไปคิดว่าเป็นการทำวิปัสสนาจึงเดินต่อไปไม่ได้ เพราะจิตไม่ตั้งมั่น พอที่จะถอดถอนตนเองออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูรูปนาม มีแต่จะหลงเข้าไปแช่นิ่งอยู่กับกายอย่างเดียว ต่อไปนี้ลองดูใหม่ คุณก็ปฏิบัติไปอย่างเดิมนั่นแหละ แล้วค่อยๆ สังเกตให้ดีว่า ท้องก็ดี เท้าก็ดี กายทั้งกายก็ดีเป็นวัตถุที่ถูกรู้ถูกดู มีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเป็นผู้รู้ผู้ดู ธรรมชาตินี้เองคือจิต ถ้าคุณรู้สึกได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวเรามีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือกายนี้ที่ถูกรู้ กับจิตที่เป็นผู้รู้กาย คุณก็จะเห็นต่อไปได้ว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นเพียงรูปที่เคลื่อนไหวไปมาเพราะจิตสั่งเท่านั้นเอง จากนั้นรูปไหวก็รู้ว่ารูปไหว จิตไหวก็รู้ว่าจิตไหว ทำอย่างนี้ก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าเอาแต่กำหนดท้องและกำหนดเท้าเรื่อยๆไป จะเป็นการทำสมถกรรมฐาน แล้วอาจจะเกิดอาการเช่นตัวเบา ตัวหนัก ตัวเล็ก ตัวใหญ่ ตัวโคลง หรือเกิดปีติวูบวาบต่างๆ เป็นต้น

การที่คุณเอาแต่ทำสมถกรรมฐานโดยคิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่นี้เอง ทำให้ไม่เกิดปัญญาที่แท้จริง เกิดได้แต่ความสงบสุขกระทั่งการดับความรับรู้อารมณ์ ได้เป็นครั้งคราว คุณจึงรู้สึกว่าการปฏิบัติของคุณวนเวียนอยู่ที่เดิม เหมือนพบทางตันมาหลายปีและหาทางเดินไปต่อไม่ได้

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/วิภัชชวิธี)
กำลังโหลดความคิดเห็น