หลายครั้งที่พลิกหน้านิตยสารหาภาพถ่ายเพื่อนำมาใช้เป็น แบบในการเขียนภาพสีน้ำมัน “อนุวัฒน์ หลาบหนองแสง” อดเสียไม่ได้ที่จะเลือกภาพซึ่งมีความใกล้เคียงกับชีวิตในวัยเยาว์ของเขา และทำให้เขาหวนระลึกถึงความผูกพันที่เคยมีต่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่ตลอดมาได้ปลูกฝังแง่คิดในการใช้ชีวิตให้แก่เขา จนหล่อหลอมเป็นเขาในวันนี้ ที่มีความรักและความปรารถนาดีของบุคคลเหล่านั้นเป็นเข็มทิศนำพาชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้า
โดยเฉพาะยายของเขา ที่แม้ปัจจุบันท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว เขาก็ไม่เคยลืมนำหลายสิ่งที่ท่านเคยพร่ำสอนมาปรับใช้กับชีวิต
ศิลปินวัย 29 ปี แห่งศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บอกเล่าว่า ชีวิตในวัยเด็กที่ บ้านเกิด อ.โนนสังข์ จ.หนองบัวลำพู เติบใหญ่มาได้โดยมียายเป็น ผู้เลี้ยงดู เพราะพ่อและแม่ต้องออกไปทำนาหาเลี้ยงชีพ เหมือนเช่นเกษตรกรในชนบททั่วๆไป
ภาพยายเก็บบัว โดยมีหลานชายตามติดใกล้ชิด แม้ไม่ได้ตั้งใจจะฉายภาพชีวิตในวัยเด็กของตัวเอง แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าขณะ เขียนภาพนี้ใบหน้าของยายลอยเด่นอยู่ในห้วงความคิด ยายผู้เป็นคนสอนให้เห็นถึงคุณค่าของการใช้ชีวิตแบบพอเพียงผ่านการงาน ผ่านวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
ภาพคุณป้านั่งแกะข้าวโพด เขียนขึ้นด้วยความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากกลับคืนสู่ชนบท ไม่ดิ้นรนไขว่คว้าหาสิ่งไกลตัว
ภาพพ่อลูกกำลังทอดแหหาปลา ทำให้เขานึกถึงภาระอันเหนื่อย หนักในแต่ละวันของพ่อผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว และความทรงจำครั้งที่เขาเคยลงเรือติดตามพ่อ ไปหาปลาที่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนอุบลรัตน์
ภาพแม่เฒ่านั่งฟังพ่อเฒ่าเป่าแคน ท่ามกลางแสงวอมแวมของ ตะเกียงน้ำมันที่ถูกจุดขึ้น บรรยากาศในภาพนี้ อนุวัฒน์บอกว่ามีความใกล้เคียงกับบรรยากาศยามค่ำคืนอันแสนจะครึกครื้นที่บ้านของตา ซึ่งตกเย็นน้าสาวผู้มีอาชีพเป็นหมอลำ มักจะพาสมาชิก ภายในวงมาซ้อมร้อง ซ้อมเป่าแคน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันแสดงจริง
และภาพผู้เฒ่าผู้แก่แต่งตัวงดงามในแบบชาวภูไท ยืนเรียงราย และเตรียมล้วงข้าวเหนียวจากกระติ๊บข้าวที่เตรียมมาเป็นอย่างดีเพื่อใส่บาตรพระ นอกจากเป็นภาพของความศรัทธาของชาวไทยพุทธแล้ว ยังเป็นภาพที่ทำให้เขานึกถึงความเป็นคนบ้านใกล้วัดของตัวเอง ที่บ่อยครั้งยายมักจะพาไปทำบุญที่วัด
ภาพทุกภาพทำให้ความทรงจำดีๆในอดีตของอนุวัฒน์ฉายชัดขึ้น และหลายครั้งที่ถวิลหา ไม่อยากให้มันเหลืออยู่แค่เพียงในภาพ
“ทุกวันนี้กลับไปเยี่ยมบ้าน มองไปทางไหนเห็นแต่คนแก่กับเด็ก เห็นแต่คนแก่เลี้ยงหลาน คนหนุ่มสาวไม่รู้หายไปไหน ผมเขียนภาพเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็หวังว่าคนที่ซื้อภาพไปหรือคนที่ได้ชมภาพ โดยเฉพาะที่เป็นคนบ้านนอกอย่างผมและคนที่จากบ้านมาไกล ฉุกใจคิดได้ว่า ลืมคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านของตัวเองหรือเปล่า ที่ผ่านมาเคยกลับไปเยี่ยมไปดูแลพวกเขาบ้างไหม
ส่วนคนเมือง ตามสื่อต่างๆ เราคงได้เห็นข่าวคนชราเร่ร่อนอยู่บ่อยๆ และนับวันคนชราในบ้านพักคนชราจะมีเพิ่มขึ้น ภาพของผมแม้จะไม่ได้สะท้อนในด้านนั้นโดยตรง แต่อย่างน้อยๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมันน่าจะทำให้หลายคนได้ตระหนักว่า คนชราที่อยู่รายรอบตัวพวกเขา ผู้ที่เคยอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูพวกเขามา ได้รับการดูแลที่ดีหรือยัง”
อนุวัฒน์หวังว่า เมื่อวันหนึ่งที่ตัวเองต้องแก่ตัวลง เขาก็อยากเป็นคนแก่ในแบบที่มีลูกหลานล้อมหน้าล้อมหลัง ให้ความรักความอบอุ่น ไม่ทอดทิ้งให้ต้องอยู่เดียวดาย และเป็นคนแก่ที่ยังสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่ลูกหลานได้
“คนเฒ่าคนแก่ ถ้าเรามีเวลาได้ใกล้ชิดพวกท่านบ้าง นอกจากจะช่วยให้พวกท่านไม่เหงา ตัวเราเองก็พลอยได้รับความรู้ ได้ข้อคิดดีๆจากท่านมาใช้ในการดำเนินชีวิต”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย ฮักก้า)